ผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา ชี้เเจงกรณีสะพานข้ามคลองหลวงแพ่ง พังถล่มตัดขาดฝั่งฉะเชิงเทรา กับลาดกระบัง กทม. เผยขณะนี้ได้ทำทางเบี่ยงชั่วคราว เรียบร้อยแล้ว

ผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา ชี้เเจงกรณีสะพานข้ามคลองหลวงแพ่ง พังถล่มตัดขาดฝั่งฉะเชิงเทรา กับลาดกระบัง กทม. เผยขณะนี้ได้ทำทางเบี่ยงชั่วคราว เรียบร้อยแล้ว พร้อมเร่งติดตั้งสะพานเบลีย์ฯ (Bailey Bridge) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2567

วันนี้ (6 เม.ย. 67 ) นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยถึง ความก้าวหน้าในการดำเนินการเตรียมความพร้อมสถานที่ก่อสร้างฐานรองรับสะพานเบลีย์ (Bailey Bridge) ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า จากกรณีปัญหาสะพานข้ามคลองหลวงแพ่งพังถล่มเสียหาย ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ต.คลองหลวงแพ่ง อ.เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลคลองหลวงแพ่ง ได้ดำเนินการทำทางเบี่ยงชั่วคราว พร้อมทั้งเร่งติดตั้งสะพานเบลีย์ฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2567

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสถานที่ก่อสร้างฐานรองรับสะพานเบลีย์ (Bailey Bridge) จะมีดำเนินการเพื่อให้เครื่องจักรกล สามารถเข้าไปทำงานปรับปรุงพื้นที่และติดตั้งสะพานเบลีย์ฯ ได้ รวมทั้งให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรชั่วคราวในระหว่างการติดตั้งสะพานเบลีย์ โดยในขณะนี้มีจุดรองรับสะพานเบลีย์ฯ ทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมปรับทางลาด ขึ้น-ลง สะพาน ให้มีความมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรมจราจร
.
“สะพานแห่งนี้เป็นสะพานที่ใช้เชื่อมข้ามไปมาระหว่าง จ.ฉะเชิงเทรา กับเขตลาดกระบัง กทม. ซึ่งจากการตรวจสอบพบการเสียหายของสะพานชำรุด ไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ ซึ่งในขณะนี้ตนได้มอบหมายให้นายสุรชัย โคตรบุตรดี นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เป็นตัวแทนของจังหวัดฉะเชิงเทรา เดินทางไปร่วมหารือกับนิติบุคคลของหมู่บ้านลากูน่า เพื่อเจรจาหาทางออกให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นการชั่วคราว“ นายชลธีฯ กล่าว

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ คณะทำงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสะพานข้ามคลองหลวงแพ่งถล่มเกิดความเสียหาย จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลคลองหลวงแพ่ง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งที่ประชุมฯ ได้รับรายงานผลการดำเนินงาน และได้หารือวางแผนการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยได้บูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งนี้ จากการรายงานในเบื้องต้น ทราบว่า สะพานดังกล่าว เป็นสะพานที่เอกชนสร้าง และมอบให้กับทางกรมชลประทาน ก่อนจะมีการโอนมอบให้กับกรุงเทพมหานคร โดยหลังจากนี้จะปรึกษาหารือและทำการก่อสร้างสะพานใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนในการเดินทางต่อไป