ประกาศ ! ผู้ประกอบกิจการยื่นแบบแสดงการส่งเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ผ่านระบบออนไลน์ PRB e-Service ภายใน 31 มีนาคม นี้ ก่อนถูกปรับ

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขอประกาศแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ยื่นแบบแสดงการส่งเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ผ่านระบบออนไลน์ PRB e-Service สิ้นสุดภายใน 31 มี.ค. ของทุกปี

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ในแต่ละปีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังแรงงานไม่ต่ำกว่าปีละ 3.4 ล้านคน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดให้ สถานประกอบกิจการเหล่านี้ ต้องพัฒนาทักษะจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างของตนเอง หรือจัดให้ลูกจ้างได้รับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือให้ลูกจ้างได้รับการรับรองความรู้ความสามารถ รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของลูกจ้างทั้งหมด กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามอัตราที่รัฐกำหนด ซึ่งสถานประกอบกิจการต้องยื่นแบบแสดงรายการส่งเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานและชำระเงินสมทบดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี สำหรับการดำเนินงานในรอบปี 2566 ต้องยื่นแบบภายใน 31 มีนาคม 2567 นี้ จึงขอให้สถานประกอบกิจการที่เข้าข่ายบังคับตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฯ ได้เร่งดำเนินการยื่นแบบแสดงการส่งเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงนเพื่อประโยชน์ของกิจการต่อไป ซึ่งการยื่นแบบสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ PRB e-Service ได้ถึง 31 มีนาคม 2567

นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการที่มายื่นรับรองหลักสูตรการฝึก และปฏิบัติตาม พ.ร.บ ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ในปี 2567 มีทั้งสิ้น 7,807 แห่ง ดำเนินการพัฒนาบุคลากรไปแล้ว 2,577,426 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มี.ค. 67) จำแนกได้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สถานประกอบกิจการที่ยื่นขอรับรองหลักสูตรภายใต้ พ.ร.บ ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบกิจการที่เข้าข่ายบังคับตามกฎหมาย ร้อยละ 98.40 และเป็นสถานประกอบกิจการที่ไม่อยู่บังคับใช้อีกร้อยละ 1.6% โดยใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2566 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับรองค่าใช้จ่ายเพื่อให้สถานประกอบกิจการนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลกับกรมสรรพากร ไปจำนวน ทั้งสิ้น 1,109.54 ล้านบาท

“การยื่นแบบผ่านระบบออนไลน์ PRB e-Service เป็นระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สถานประกิจการ ลดเวลาในการเดินทางและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งช่วยให้การทำงานมีความรวดเร็วมากยิ่งขั้น อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร. 0 2246 1937 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีบุปผา กล่าว