ปลัดมหาดไทย เปิดโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 1 เน้นย้ำ มุ่งมั่นสร้างทีมภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ด้วย “Passion” และจิตวิญญาณ ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

ปลัดมหาดไทย เปิดโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 1 เน้นย้ำ มุ่งมั่นสร้างทีมภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ด้วย “Passion” และจิตวิญญาณ ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้เกิดความสุขกับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (25 มี.ค. 67) เวลา 15.30 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ทำไมต้อง CAST” ให้แก่ผู้รับการอบรมตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 1 โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นางสาวชัชดาพร บุญพีรณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวสุภัทรา ชัยเทวรัณย์ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง โดยมี นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายอำเภอ และภาคีเครือข่ายของอำเภอที่เข้ารับการอบรมจาก 100 อำเภอ รวม 1,000 คน ร่วมรับฟังผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 10 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี นครนายก ชลบุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน หรือ “CAST” (Change Agent for Strategic Transformation) ได้ดำเนินการเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยใช้หลักการทำงานตามศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ 3 ระดับ 5 กลไก และ 7 ภาคีเครือข่าย โดยนำเอาสิ่งที่ดีจากภาควิชาการมาประยุกต์ ถ่ายทอด และดำเนินการภายใต้กลไกการทำงานของผู้นำระดับอำเภอ คือ นายอำเภอ บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย (Partnership) หรือทีมอำเภอ สู่การเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ร่วมกันบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่ดีจากผู้ที่เข้ารับการอบรมมีผลเป็นที่ประจักษ์ ผู้ที่ผ่านกระบวนการฝึกอบรมเอาจริงเอาจังโดยให้ความสำคัญกับภาคีเครือข่าย ทำให้การขับเคลื่อนโครงการนี้เกิดผลสำเร็จได้ดีมากยิ่งขึ้น ทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง จึงได้รักษาและขับเคลื่อนหลักสูตร และโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นความสำคัญของนายอำเภอ ดังที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และนายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ได้กล่าวถึงการเป็นผู้นำที่ดีของนายอำเภอไว้ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “นายอำเภอที่ดีจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศได้” ดังนั้น ความสำเร็จและล้มเหลวจึงขึ้นอยู่ที่ผู้นำ นายอำเภอทุกท่านจงภาคภูมิใจได้ว่าท่านเป็นคนที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ทุกท่านที่เข้ารับการอบรมครั้งนี้ เรามีความมั่นใจว่าทุกท่านจะมีความเสียสละ มีจิตอาสา และมี “Passion” ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนจะเกิดความสำเร็จได้นั้น เราต้องทำงานแบบบูรณาการ และมีเป้าหมายของการปฏิบัติหน้าที่หรือขับเคลื่อนงานที่ยั่งยืนด้วย เพราะเรายกย่องว่านายอำเภอ คือ ผู้นำทั้งทางสังคมและทางกฎหมาย นายอำเภอจึงต้องตั้งหลักตั้งมั่นว่าเราจะเป็นผู้นำที่ดี ด้วยการ “ครองตน ครองคน ครองงาน” พร้อมด้วยครองอุดมการณ์ที่หนักแน่น ด้วยการตั้งใจอุทิศตนทำหน้าบำบัดทุกข์บำรุงสุขพี่น้องประชาชนให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การที่ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน 5 วัน 4 คืน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย สร้างความปรองดอง และที่สำคัญจะได้กลับไปร่วมกันทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญว่าทีมจะเกิดความสมัครสมานสามัคคีได้ “ผู้นำจึงมีความสำคัญ” ด้วยการทำให้ทีมมีการพูดคุยหารือและลงมือทำด้วยกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนเราจากการถอดบทเรียนหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตาม 4 กระบวนการ คือ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” และต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งจะนำมาสู่ความยั่งยืน และหากทีมในพื้นที่มีระบบตาม 4 กระบวนการดังกล่าวได้ ก็จะช่วยลดจุดอ่อนและทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในชุมชน แม้ว่านายอำเภอจะเกษียณอายุราชการ ทีมในพื้นที่ก็จะสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของพวกเราที่จะไปสร้างทีมที่เข้มแข็ง เพื่อจะเป็นหลักประกันไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการหล่อหลอม ศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีคณาจารย์ผู้มีความรู้มาแนะนำชี้แนะแนวทางให้กับพวกเรา จึงขอให้นายอำเภอเป็นผู้นำทำให้ทีมเกิดการรวมกลุ่มรวมตัวก่อให้เกิดความเข้มแข็งให้ได้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสที่พวกเราอัญเชิญนำไปติดไว้เพื่อเตือนใจในการทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ทุกศาลากลางจังหวัด และทุกที่ว่าการอำเภอ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ดังนั้น ชีวิตของเราในฐานะข้ารองพระบาทต้องช่วยกันสนองพระราชปณิธานและสนองงานพระราชดำริ ซึ่งเป็นพระราชปณิธานสูงสุด 2 ประการ คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” และสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ทุกคนต้องแก้ไขในสิ่งที่ผิด ทุกท่านผู้เป็นผู้นำจึงต้องช่วยกันในการทำสิ่งที่ดีด้วยความเข้มแข็งและเป็นตัวอย่างให้กับทีม ทำให้ทีมได้ทำหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีด้วยการทำให้ผู้บังคับบัญชาทำสิ่งที่ดีที่อยากให้ทำได้ โดยใช้หลัก “บวร” หรือทีมบูรณาการ มี 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 132 ปี ของการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของกระทรวงมหาดไทย เราทุกคนอยากเห็นว่าที่ทุกคนมาร่วมใช้ชีวิตด้วยกัน และกลับไปทำสิ่งที่ดี จะทำให้ทีมงานของนายอำเภอเป็นทีมงานผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดี ด้วยการทำให้ทุกคนมาร่วมกันทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่เรียกว่าจิตอาสา ตักตวง สะสม นำองค์ความรู้ รูปแบบการทำงาน ซึ่งทั้งหมดสำเร็จเกิดผลได้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่ต้องมุ่งมั่นตั้งใจเก็บเกี่ยวนำเอาสิ่งที่ดีกลับไปทำงานในพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ดังที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกับภาคีเครือข่ายมากมาย ทั้งภาควิชาการ ภาคศาสนา ตลอดจนถึงภาคประชาสังคม ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของพี่น้องประชาชน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต คือ การที่ทุกคนต้องตระหนักในการ “แก้ไขในสิ่งผิด” และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแสงธรรมส่องนำใจ มาปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต ตลอดจนน้อมนำเอาแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาต่อยอดปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนน้อมนำแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่ทุกพื้นที่มีความมั่นคงทางอาหาร มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามสู่ลูกหลานเยาวชน และที่สำคัญต้องกล้าที่จะยืนหยัดต่อสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

““คน” มีความสำคัญที่สุดในการทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาคนคือหนึ่งในกระบวนการเช่นเดียวกับโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน นี้ ซึ่งการสร้างทีม ทั้งทีมทางการ คือ ผู้รับผิดชอบประจำตำบล และทีมที่ไม่เป็นทางการหรือทีมจิตอาสา คือ กลุ่มบ้าน คุ้ม ป๊อก หย่อม ดังนั้น เราจึงมีความหวังและความตั้งใจที่จะทำให้นายอำเภอเป็นที่พึ่งพิง นายอำเภอและทีมอำเภอต้องช่วยกันสร้างกำลังใจ และจิตสำนึก “Passion” ในการช่วยเหลือสังคม ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งการทำงานเป็นทีมต้องมีแผนงานที่ดี คณาจารย์ทุกท่านจึงเป็นผู้แนะแนวทางด้วยหลักการที่ดี ขอให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่านใช้เวลา 5 วัน 4 คืน ที่ศูนย์ฯ ให้เป็นประโยชน์ และใช้เวลาหลังกลับไปทำงานให้เป็นประโยชน์ การทำงานจะสำเร็จได้นอกจากผู้นำแล้วต้องมีทีมงาน และต้องร่วมกับพี่น้องประชาชน ขอให้นำเอาสิ่งที่ดีไปใช้ในการทำงานและมีหัวใจพองโต มุ่งมาดปรารถนาไปขับเคลื่อนงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน สมดังวัตถุประสงค์ของโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ขอให้ปีที่ 133 ของกระทรวงมหาดไทย เป็นปีที่พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน ด้วยสมองและสองมือของพี่น้องผู้ผ่านการอบรม CAST อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองได้จัดทำโครงการอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยขยายผลการดำเนินการจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่นายอำเภอที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ในการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการทรงงานและการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติราชการ และขยายผลเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย นายอำเภอที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ปลัดอำเภอ ตัวแทนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอ ผู้นำภาคศาสนา ผู้นำภาคประชาชน ผู้นำภาควิชาการ ผู้นำภาคเอกชน และหัวหน้าศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต้นแบบ จำนวน 158 อำเภอ อำเภอละ 10 คน รวมทั้งสิ้น 1,580 คน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน 11 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 2 รุ่น ซึ่งสำหรับการอบรมครั้งนี้ เป็นรุ่นแรก มีระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ระหว่างวันที่ 25 – 29 มี.ค. 67 โดยผู้เข้ารับการอบรมมาจาก 42 จังหวัด 100 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 1,000 คน อบรม ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี นครนายก ชลบุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood