สสส.จัดงาน “สัปดาห์ความสุขสากล 2024” ในแนวคิด Happiness Connects ชวนคนเชื่อมโยงเข้าถึงความสุขได้ง่ายๆ จากภายในใจ

สสส.จัดงาน “สัปดาห์ความสุขสากล 2024” ในแนวคิด Happiness Connects
ชวนคนเชื่อมโยงเข้าถึงความสุขได้ง่ายๆ จากภายในใจ
สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันความสุขสากล” เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ด้วยเหตุนี้ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา จึงใช้โอกาสนี้จัดงาน “สัปดาห์ความสุขสากล 2024” ขึ้น ภายใต้แนวคิด Happiness Connects : ความสุขที่เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2567 มุ่งหวังเป็นพื้นที่ให้คนในสังคมได้เข้าถึงประสบการณ์ตรงในการสร้างความสุขที่ยั่งยืนได้ด้วยตนเอง
งานนี้เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญาที่ร่วมแรงร่วมใจกันออกแบบและจัดกิจกรรมฮีลใจ ภายใต้แนวคิด “8 เส้นทางความสุข” ได้แก่ ความสุขจากการทำงาน, จิตอาสา, การเรียนรู้, ศิลปะ, การสัมผัสธรรมชาติ, การเคลื่อนไหวร่างกาย, ความสัมพันธ์ และการภาวนา กิจกรรมรวมกว่า 50 รายการกระจายพื้นที่ให้เข้าถึงได้ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์
​นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า
“วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันความสุขสากล (International Day of Happiness) เพื่อให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความสุขซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ข้อมูลจากรายงานความสุขโลกประจำปี 2566 (World Happiness Report 2023) พบว่าประเทศฟินแลนด์ยังคงครองแชมป์อันดับที่ 1 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก และเป็นสัญญาณที่ดีที่ประเทศไทย ขยับอันดับขึ้นจากอันดับที่ 61 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 60 ในปีนี้ โดยปีนี้องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดธีมวันความสุขสากลคือ Happier Together ซึ่งสอดคล้องกับ ธีมของงานคือ Happiness Connects เพราะความสุขสามารถเชื่อมโยงกันได้ และเป็นความหมายของการอยู่ร่วมกัน เพื่อเกื้อกูล ช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เราพบความสุขได้ง่ายขึ้น เป็นความสุขที่พ้นจากตัวตน เป็นความสุขที่มุ่งมาดปรารถนาที่อยากเห็นคนรอบข้างและสังคมมีความสุข ซึ่งอาจเรียกสภาวะและสิ่งนี้ว่า สุขภาวะทางปัญญา
โดยการจัดงานสัปดาห์ความสุขสากล 2024 ในครั้งนี้ยังเป็นการเน้นย้ำว่า สสส. และภาคีเครือข่ายจะเชื่อมโยงกันเป็นมวลพลังแห่งความหวังที่จะส่งต่อความสุข และเครื่องมือกระบวนการในมิติของสุขภาวะทางปัญญาสู่สังคมร่วมกัน และถึงเวลาแล้วที่สังคมจะเริ่มหันมาถกแถลงกันมากขึ้นว่า ชีวิตที่มีความหมายคืออะไร หรือสิ่งไหนที่อยากจะฝากไว้ให้กับโลกใบนี้ก่อนที่จะลาจากไป เชื่อว่าการที่สังคมได้คุยกันในประเด็นเหล่านี้ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น แล้วบทสนทนาเหล่านี้ก็จะกระจายวงกว้างออกไป กลายเป็นค่านิยมใหม่ที่ขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่เติบโตอย่างยั่งยืนและโอบรับทุกคน”
ด้าน นายธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการร่วม ธนาคารจิตอาสา ในฐานะตัวแทนภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา ได้กล่าวถึงกิจกรรม 8 เส้นทางแห่งความสุขว่า “ถ้าพูดถึงคำว่าความสุข ทุกคนก็เข้าใจได้เลยทันที
แต่เราต่างคนจะให้ความหมายของความสุขไม่เหมือนกันและแตกต่างกัน สังคมปัจจุบันอาจเหมารวมว่าความนั้นเหมือนกันไปหมดว่ามันคือการประสบความสำเร็จ การมีเงินเยอะ ๆ ถ้าเรามองลึกลงไปจริง ๆ ความเป็นเรื่องสากล มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใด แต่มันอยู่ภายในใจของเราเอง งานนี้ภาคีต่างๆ ที่ทำงานด้านสุขภาวะทางปัญญา ภายใต้ สสส. จึงออกแบบกิจกรรมให้ออกมาในรูปแบบของ 8 เส้นทางแห่งความสุข เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงความสุขด้วยประสบการณ์ตรง คือเราไม่ได้มีความสุขมาเสิร์ฟ แต่เราชวนให้คุณมาค้นหาด้วยตัวเอง ลงมือทำ และรู้สึกได้เอง อยากให้ทุกคนได้มาชิมลอง มาแล้วก็กลับไปพร้อมกับใจที่เต็ม และได้พลังที่นำไปสร้างความสุขได้เองในชีวิตประจำวันต่อๆ ไป”
​ในส่วนของ ดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ซึ่งมาร่วมพูดคุยแบ่งปันความสุขบนเวทีแถลงข่าว กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่ตัวเองเชื่อเสมอคือ ความสุขไม่ได้อยู่ที่เรามีอะไร แต่คือเรารู้สึกยังไงกับสิ่งที่มี บางคนบ่นกับการทำงานแทบตาย แต่ถ้าเราคิดว่ามีคนอยากเหนื่อยเหมือนเรานะ หรือมีคนที่ตื่นเช้ามาแล้วไม่รู้จะไปทำงานที่ไหน ชีวิตเขาคงยากกว่าเราเยอะ ดังนั้น เราจะเห็นเลยว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่เรามีงานหรือไม่มีงาน แต่เรารู้สึกยังไงกับงานที่เรามีต่างหาก สำหรับวันนี้ก็รู้สึกยินดีมาก ๆ ที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของงาน เพราะต่อให้เราไปพูดสร้างแรงบันดาลใจบอกคนฟังว่าให้มีความสุขกับชีวิตมากแค่ไหน ถ้าคนที่ฟังยังไม่รู้เลยว่าความสุขของเขานั้นคืออะไร พูดอย่างไรก็อาจจะไม่มีประโยชน์ แต่งานในครั้งนี้ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญาร่วมกันทำขึ้นมา จะทำให้เรารู้ว่า ความสุขมันเชื่อมโยงกับเราได้ง่ายมาก บอกไม่ได้หรอกค่ะว่าความสุขของพี่อ้อย จะเป็นความสุขเดียวกับทุกคนไหม แต่งานนี้จะช่วยให้เราตามหาความสุขของเราเองได้ว่า ที่สุดแล้วเรามีความสุขกับเรื่องอะไรที่สุด ก็อยากชวนให้มาร่วมกิจกรรมในงานนี้ เราจะได้รู้ว่า อ๋อ ตอนที่ฉันมีความสุข ฉันสนุกอย่างนี้นี่เอง”