ปลัดมหาดไทย เผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว 30,686 ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 19,811 ราย

ปลัดมหาดไทย เผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว 30,686 ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 19,811 ราย มูลหนี้ลดลง 785 ล้านบาท กำชับทุกพื้นที่เร่งรัด ติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง พร้อมบูรณาการความร่วมมือจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับลูกหนี้นอกระบบ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน

วันนี้ (7 มี.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงมหาดไทยได้เปิดรับลงทะเบียนให้ประชาชนที่มีความประสงค์ให้ทางราชการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล โดยมีประชาชนมาลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 153,400 ราย กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งให้ทุกจังหวัด อำเภอ เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่องด้วยการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยเมื่อเวลา 15.00 น. สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วประเทศ มีจำนวนลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 30,686 ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 19,811 ราย มูลหนี้ลดลงรวม 785.275 ล้านบาท และมีกรณีที่เจ้าหนี้-ลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ ดำเนินคดี 340 คดี โดยมีจังหวัดที่สามารถเชิญเจ้าหนี้-ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากที่สุด 5 ลำดับ คือ 1. จังหวัดสงขลา 2,971 ราย 2. จังหวัดนครสวรรค์ 2,669 ราย 3. จังหวัดนครราชสีมา 2,160 ราย 4. จังหวัดนครศรีธรรมราช 1,497 ราย และ 5. จังหวัดนราธิวาส 1,325 ราย ซึ่งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มาพบปะพูดคุยกัน โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นคนกลาง และหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ติดตามผลภายหลังจากการเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประสบความสำเร็จครบทั้งกระบวนการต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้แจ้งให้จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” โดยมอบหมายให้จังหวัดแจ้งอำเภอดำเนินการจัดกิจกรรมภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง และรายงานข้อมูลภาพรวมการจัดกิจกรรมทั้งจังหวัดให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ปิดรับการรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแล้ว เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง ทางกรมการปกครองจึงได้มีหนังสือกำชับและขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือผู้ลงทะเบียนฯ อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครองได้สั่งการให้ทุกจังหวัด อำเภอ รวมทั้ง กรุงเทพมหานครทุกเขต เร่งรัดติดตามข้อมูลจากการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ครบถ้วน โดยใช้กลไกภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เช่น สถานีตำรวจภูธร สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด หรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เป็นต้น พร้อมทั้งให้จัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” ให้เกิดความต่อเนื่อง และสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมถึงเร่งรัดดำเนินการติดตามให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ร้อยละ 100 ของการลงทะเบียนที่มีข้อมูลเจ้าหนี้และลูกหนี้ครบถ้วนและสามารถติดต่อได้ โดยเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามแนวทางปฏิบัติในการรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกรมการปกครอง และดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการส่งข้อมูลต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดอาญา เช่น การข่มขู่ใช้ความรุนแรง หรือเจ้าหนี้ไม่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยตามกำหนด โดยให้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับสถานีตำรวจภูธรหรือสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่เพื่อจะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจังหวัดได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับนายอำเภอ มอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ในฐานะเลขานุการกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) ดำเนินการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน (เมนูแก้จน) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ลูกหนี้ซึ่งประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือให้สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มต่อยอดในการสร้างอาชีพ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

“แม้ว่าการรับลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะปิดรับไปแล้ว อย่างไรก็ตามกระบวนการดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนยังไม่สิ้นสุด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ดำเนินการประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ และต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ สามารถติดต่อผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยได้ ทั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หรือโทรสายด่วน 1567 โดยจะมีเจ้าหน้าที่บริการตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นพันธกิจของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood