ปลัด มท. นำประชุมส่งเสริมการออกกำลังกายให้เป็นวิถีชีวิต เน้นย้ำ นายอำเภอต้องเป็น “ผู้นำต้นแบบในการออกกำลังกาย”

ปลัด มท. นำประชุมส่งเสริมการออกกำลังกายให้เป็นวิถีชีวิต เน้นย้ำ นายอำเภอต้องเป็น “ผู้นำต้นแบบในการออกกำลังกาย” พร้อมหนุนเสริมให้มีชมรมส่งเสริมออกกำลังกายทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (30 พ.ย. 66) เวลา 09.20 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต โดยมี นางสาววนิดา พันธุ์สอาด รองอธิบดีกรมพลศึกษา ร้อยเอกหญิง ปวีณา ทองสุก ผู้อำนวยการกลุ่มกีฬามวลชน นายปัญญา หาญลำยวง นายชลชัย อานามนารถ ผู้ทรงคุณวุฒิ พลเอก สุรชาติ จิตต์แจ้ง นายกสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย นายทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ผู้อำนวยการ Park Run Thailand ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่นและแน่วแน่ในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยทรงเป็นแบบอย่างในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้มีสุขภาพพลามัยที่ดี มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ดังที่พระองค์ท่านทรงมีโครงการพระราชดำริมากมายในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะแก่การเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย ที่เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย และเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ดังตัวอย่างโครงการพัฒนาพื้นที่บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร ที่ทรงมีพระราชดำริให้เป็นบ่อเก็บน้ำสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด พร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานทางเรียบ จักรยาน BMX และจักรยานขาไถ ตลอดจนถึงการมีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา การพายเรือคายัค และพื้นที่สำหรับการศึกษาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการยกระดับการสร้างเสริมการเรียนรู้และสร้างปัญญาให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงการเป็นพื้นที่แห่งสุขภาพและความสุขของประชาชนด้วย

“การประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิตในวันนี้ จะเป็นเวทีให้พวกเราได้บูรณาการร่วมกันนำสิ่งที่ดีไปส่งเสริมและต่อยอดเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ “เราไม่ได้มุ่งเน้นการออกกำลังกายสู่ความเป็นเลิศ แต่เรามุ่งเน้นการทำให้พื้นที่ทุกตารางนิ้ว เป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นสถานที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” ซึ่งเรามั่นใจว่าการที่พวกเรามาช่วยกันคิด ช่วยกันพูดคุย จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนเร็วขึ้น ดังภารกิจของกระทรวงมหาดไทย เพราะการทำให้ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยที่ดีเป็นหน้าที่สำคัญ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำบูรณาการสำรวจพื้นที่สาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก สำรวจพื้นที่เพื่อส่งเสริมด้านอารยเกษตรดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวทางให้ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่สถานที่ออกกำลังกายในพื้นที่ เพื่อสร้างพื้นที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของมวลชน สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา หรือลานกิจกรรมออกกำลังกายอื่น ๆ ทำให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ และเป็นพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพทุกด้านให้กับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยจะได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแต่งตั้งคณะทำงานในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ โดยระดับอำเภอมีนายอำเภอเป็นประธานคณะทำงาน มีหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเป็นคณะทำงาน อาทิ สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร พัฒนาการอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายที่สามารถเป็นจิตอาสาช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกความปลอดภัยในพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีทรัพยากร รวมถึงสรรพกำลังที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน อันจะทำให้การขับเคลื่อนงานได้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาที รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่ม/ชมรม ออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างน้อยหมู่บ้าน/ชุมชน ละ 1 กลุ่ม/ชมรม เพื่อบูรณาการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬามวลชนให้เป็นวิถีชีวิต ร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพลศึกษา มูลนิธิ Park Run และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีระบบในการรายงานข้อมูลมายังส่วนกลาง และต้องมี “ผู้นำเป็นต้นแบบในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” พร้อมทั้งมีการคัดเลือกกลุ่มผู้นำต้นแบบการออกกำลังกาย และลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนในทุกพื้นที่ ทำให้การออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนเป็นวิถีชีวิตเกิดผลเป็นรูปธรรม

นางสาววิภาดา ทรงไชยธราเวช ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูลในระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านที่ 7 สังคม ศาสนา วัฒนธรรม รายการ “สวนสาธารณะ/สถานที่ออกกำลังกาย” ปัจจุบันมีจำนวน 38,355 แห่ง ได้แก่ ลานกีฬาและออกกำลังกาย 26,222 แห่ง สนามกีฬา 5,594 แห่ง สนามเด็กเล่น/สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา 4,669 แห่ง สวนสาธารณะ/สวนสุขภาพ 1,346 แห่ง ศูนย์ฟิตเนส/ศูนย์กีฬา 176 แห่ง โรงยิม/อาคารกีฬาเอนกประสงค์ 133 แห่ง ลานสาธารณะ 71 แห่ง ลานวัด 83 แห่ง และสระว่ายน้ำ 61 แห่ง ซึ่งหากเปรียบเทียบข้อมูลพบว่า มีสถานที่ออกกำลังกายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มขึ้น จากปี 2565 กว่า 20,000 พื้นที่

ด้านนายทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ผู้อำนวยการ Park Run Thailand กล่าวว่า กิจกรรม Park Run Thailand ถูกจัดขึ้นบน 5 ค่านิยมพื้นฐาน คือ 1) “พอเพียง” พื้นฐานการก่อตั้งกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ต้องดำเนินไปในแนวทางปฏิบัติแบบพอเพียง เพื่อให้โอกาสสมาชิกทุกคนได้สามารถมีส่วนร่วมโดยเสมอภาค 2) “วินัย” พึงสร้างพฤติกรรมการออกกำลังกายแบบมีวินัยสม่ำเสมอ เพื่อกาย ใจ สังคม 3) “สุจริต” ส่งเสริมการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน ด้วยแนวทางการปฏิบัติตนด้วยความสุจริต 4) “จิตอาสา” เชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชนและสังคมรอบข้างด้วยขบวนการกิจกรรมจิตอาสา อันเป็นพื้นฐานของการแบ่งปันความสุขด้วยการเป็น “ผู้ให้” 5) “กตัญญูกตเวที” การรับรู้ ระลึกคุณ ปฏิบัติตนเพื่อตอบแทนคุณ คือ หนึ่งในพื้นฐานการสร้างผู้นำชุมชนสุขภาพด้วยมิติของการเป็นทั้ง “ผู้ให้และผู้รับ” โดยชุมชนสุขภาพมีสมาชิกทั่วประเทศ 38,679 คน สนามลงทะเบียนในระบบ 468 สนาม ครอบคลุมพื้นที่ 72 จังหวัด

นางสาววันดี อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การดำเนินโครงการเสริมสร้างการทำความดี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยการส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต มีเป้าหมาย คือ ทำให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพิ่มขึ้น มีจำนวนอาสาสมัคร (RD) และสมาชิกรวมกลุ่มกันออกกำลังกาย โดยใช้ แอปพลิเคชัน CCC เป็นเครื่องมือในการบูรณาการให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันส่งเสริมให้คนไทยออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอเป็นวิถีชีวิต ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในปี 2570 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนรวมกลุ่ม/ชมรม เสริมสร้างความสามัคคี รวมถึงการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและร่วมกันทำความดีด้วยการทำกิจกรรมทางสังคมอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อมวลชนเป็นวิถีชีวิตไว้สำหรับการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน