เผยแพร่ |
---|
29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นประธานเปิดโครงการ Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ณ เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี นางสาวธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางสุนิชฌาน์ ทองแย้ม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนนทบุรี และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เฝ้ารับเสด็จ
เมื่อเสด็จถึง ทรงพระดำเนินเข้าสู่เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เบิกผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลเข้ารับพระราชทานรางวัลตามลำดับ ได้แก่ คณะทำงานกระทรวงมหาดไทยและกรมการพัฒนาชุมชนที่สนองพระเดชพระคุณผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” จำนวน 33 รางวัล “ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดผู้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการ ผ้าไทยใส่ให้สนุก” จำนวน 10 รางวัล ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ จำนวน 72 รางวัล นักออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” จำนวน 3 รางวัล รางวัลต้นกล้านารีรัตน Young OTOP จำนวน 6 รางวัล รางวัล TOP 5 ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมตามโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Premium สู่สากล ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 5 รางวัล จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ Silk Festival 2023 Silk Success Sustainability นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นิทรรศการจากโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประกอบด้วย ดอนกอยโมเดล นาหว้าโมเดล บาติกโมเดล Young OTOP จักสาน Premium OTOP และทอดพระเนตรการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่ง ของที่ระลึก และงานหัตถกรรม
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแบบเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion: แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion: แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เป็นเครื่องหมายที่ทรงออกแบบเครื่องหมายเป็นภาพตัวอักษร S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงเป็นดั่งแสงสว่างบนเส้นทางแห่งการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทย และยังหมายถึง Sustainable คือ แนวพระราชดำริแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ ที่สร้างชีวิตที่ดีให้แก่ราษฎร ทรงออกแบบให้มีตัวอักษรข้อความ Sustainable Fashion ล้อไปกับตัวอักษร S หมายถึง แนวพระราชดำริ “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ที่ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ผืนผ้า และงานหัตถกรรมล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบเดียวของเรา และทรงออกแบบรูปหัวใจประดับไว้ที่ส่วนต้น กลาง และปลาย ของข้อความ Sustainable Fashion ด้วยทรงปรารถนาให้ผู้สร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมนำแนวพระดำรินี้ ไปต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในการนี้ทรงพระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในเวลา 18.00 น. เสด็จเข้าสู่บริเวณการแสดงแบบภูมิปัญญาผ้าไทย (Sustainable Fashion) เพื่อทอดพระเนตรการแสดงแบบภูมิปัญญาผ้าไทย (Sustainable Fashion)
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พสกนิกรชาวไทยต่างชื่นชมในพระบารมีและสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีต่อปวงพสกนิกรชาวไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ใต้ฝ่าพระบาทได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร ด้วยทรงมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม โดยทรงสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาอันล้ำค่าของบรรพบุรุษ จนเกิดการพลิกฟื้นคืนชีวิตงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมไทย ให้ดำรงคงอยู่ด้วยพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันกว้างไกล พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นแต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ ผ่านการพระราชทานลายผ้าพระราชทาน อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบที่ร่วมสมัย พร้อมทั้งพระราชทานแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ยังผลให้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ แก่พสกนิกรอย่างยั่งยืน และด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ขอรับพระราชทานพระอนุญาตจัดโครงการ Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“ภายในงาน Silk Festival 2023 จะมีการจัดแฟชั่นโชว์ผลงาน 13 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้แก่ SIRIVANNAVARI, ARCHIVE026, ASAVA, JANESUDA, IRADA, ISSUE, LANDMEE, MILIN, PYVET, TandT, THEATRE, TIRAPAN, WISHARAWISH, และ 2 Young Designers ได้แก่ แบรนด์ HAYA ผู้ชนะเลิศ และ AMEEN Studio รองชนะเลิศการประกวดตัดเย็บชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก โครงการดีไซเนอร์รุ่นใหม่ โดยแต่ละแบรนด์นำผ้าไทยซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวของแต่ละชุมชน อาทิ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอกผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก ฯลฯ มารังสรรค์ผลงานสุดประณีตสะท้อนแนวคิดผ้าไทยใส่ให้สนุก สะท้อนถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทยไว้อย่างสมบูรณ์ นำไปสู่ Soft Power ด้านผ้าไทยอย่างแท้จริง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า งาน Silk Festival 2023 ได้รวบรวมบูทสุดยอดผู้ประกอบการผ้าที่ได้ผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทานผ้าลายดอกรักราชกัญญา รวมถึง OTOP ชวนชิมร้านดังจากทั่วประเทศ มาออก 200 กลุ่ม โดย 170 กลุ่มเป็นผู้ได้รับการชนะเลิศประกวดผ้าพระราชทาน กลุ่ม Young OTOP และ Premium OTOP ซึ่งในแต่ละบูทจะมี QR Code และมี E-catalog E-Book Online ซึ่งผู้ซื้อสามารถเลือกและสั่งจองผ่านออนไลน์ได้ ทุกท่านจะได้พบกับสุดยอดผลงานผ้าที่ได้รับการพัฒนาจากการน้อมนำพระดำริ นอกจากนี้ในงานจะมีการ workshop ทุกวัน วันละ 3-4 กิจกรรม
“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนและผู้สนใจ เข้าชมนิทรรศการและเลือกซื้อผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ชั้นสูง และอาหารจากร้านดังทั่วประเทศได้ในงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวม 200 ร้าน ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี ไปร่วมอุดหนุน ไปให้กำลังใจผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมทั้ง OTOP ชวนชิม เพื่อร่วมกันภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทย และทำให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้คงอยู่อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย