ร้อยรักษ์ธุรกิจ (บัณฑิตย์) “ผ้าขาวม้า” แฟชั่นงามโพดและเฮ็ดได้จริง นศ.ศิลปกรรม DPU ที่ไม่ได้เก่งเฉพาะในห้องเรียน

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมจัดแสดงแฟชั่น “ผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน” ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 หรือ SX2023 “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” สู่การสร้างรายได้แก่ชุมชนร้อยรักษ์ จ.ร้อยเอ็ด โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

งานนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม สร้างความตระหนักถึงคุณค่าและเฟ้นหาอัตลักษณ์ของผ้าขาวม้าจากชุมชนต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม พร้อมกับเสริมสร้างผ้าขาวม้าทอมือให้มีความโดดเด่นและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้าเกิดความหลากหลาย ตรงต่อความต้องการของตลาดและสร้างอาชีพใหม่ ควบคู่รายได้เสริมให้คนในชุมชนได้จริงอย่างต่อเนื่อง จากพลังคนรุ่นใหม่ใน 16 สถาบันการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจาก eisa (Education Institute Support Activity) ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ของดีอยู่ในมือเราทุกคน

อาจารย์กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวแสดงความรู้สึกดีใจและขอบคุณสำหรับการได้รับเกียรติให้ร่วมจัดแสดงชุดแฟชั่นโชว์ผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นผลงานการผสานระหว่างนักศึกษาและชุมชนร้อยรักษ์ จ.ร้อยเอ็ด งานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2023 (SX2023) เพราะไม่เพียงเติมเต็มศักยภาพในการฝึกปฏิบัติจริงให้ขึ้นกับนักศึกษามีความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกของการทำงาน แต่ยังสร้างการส่งต่อแรงบันดาลใจ ความภาคภูมิใจและช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ให้กับชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยอย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมายในอนาคต

“รู้สึกดีใจที่ DPU ได้เป็นจุดเริ่มต้น ก็ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนต่อยอด จากเดิมที่มุ่งเน้นแสดงไอเดียในการนำเสนอผ้าขาวม้าจัดโชว์ ซึ่งผลที่ได้รับจากตัวอย่างเมื่อกลับสู่ชุมชน ชาวบ้านสามารถนำไปสานต่อได้จำกัดไม่เต็ม 100% เราจึงได้ทดลองและนำเสนอต้นแบบโมเดลงานที่ครีเอทีฟไม่มากที่พร้อมใช้ได้กับชีวิตประจำวันเพื่อส่งมอบให้กับชุมชน จนเกิดการขยายโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยเรื่อยมาเกิดเป็นโครงการ Creative Young Designers จาก 6 สถาบัน มาสู่ 13สถาบัน และในครั้งที่ 3  นักศึกษา16 สถาบันได้เข้าร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ได้เกิดความเท่าเทียมในสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมิติวาระร่วมโลก Sustainability โดยได้ทั้งการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และการสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยเข้าถึงบริการทางการเงิน  และช่วยในเรื่องการออกแบบเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนซึ่งช่วยสร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น”

“นอกจากช่วยกันพัฒนาศักยภาพของเยาวชนนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ในแง่การบูรณาการทางการเรียนการสอนที่นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติลงมือทำจริง ฝึกการใช้ผลงานออกแบบช่วยสังคม ฝึกการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ ฝึกการทำงานเป็นทีมเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้จริงและผู้ผลิตจริง ซึ่งจะเหลาให้นักศึกษามีความแหลมคมและบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการทำงานในอนาคต ที่สำคัญที่สุดคือปลูกฝังให้เด็กเยาวชนของประเทศไทยเราคิดคำนึงถึงผู้อื่นรวมไปถึงการย้อนกลับมามองถึงสังคม คุณค่าของอัตลักษณ์ความเป็นบ้านเราที่เป็นของดีที่มีอยู่ในมือเราทุกคนและหยิบมาแปรรูปโดยใช้ Art และ Designให้เกิดมูลค่าแก่ทุกคน”

อาจารย์กมลศิริ ยกตัวอย่างเสริมเป็นบทพิสูจน์ฝีมือเด็กนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เช่น แบรนด์ ‘ค้ำคูณ’ ผ้าไหมแพรวาของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งได้นำผ้าไหมของคุณย่า-คุณยาย โบราณแต่เดิม มาแปรรูปในงานแฟชั่นออกมาเป็นผ้าไหมที่ทันสมัยและลดอายุคนที่สวมใส่ โดยในปัจจุบันการพัฒนาต่อยอดเกิดเป็นอาชีพใหม่และกระจายรายได้สู่ชุมชนตัวเลข 6-7 หลักในแต่ละปี”

บทพิสูจน์ความพร้อมระดับมืออาชีพ

สำหรับไฮไลต์ความพิเศษภายในปี 2566 นอกเหนือจากทางโครงการฯ ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน Sustainability Expo 2023 งานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน สำหรับการแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าขาวม้าที่จะต่อยอดประโยชน์ให้กับชุมชน การลงพื้นที่ยังส่งให้ตัวแทนนักศึกษาของทางมหาลัยฯ “นางสาวเกวลี กิตติอุดมพันธ์” นำต้นแบบไปต่อยอดส่งเข้าประกวดและคว้ารางวัลชนะเลิศ Young Talented Designer การประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายโดยใช้ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น ‘โครงการ From Tour to Runway’ ยกระดับแฟชั่นผ้าไทย เติมไฟการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

โดยอาจารย์ปรัชญา พิระตระกูล หัวหน้าวิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น บอกว่า ชุดจัดแสดงในงานทั้งหมด 1 คอลเลกชัน รวมทั้งหมด 13 ชุด ประกอบด้วย เสื้อผ้าบุรุษ สตรี และเด็ก ซึ่งได้ทำร่วมกับวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติร้อยรักษ์ ของ “คุณแม่ทองใบ สาโรจน์” แปรรูปผ้าฝ้ายและผ้าไหมร้อยรักษ์ ออกมาเป็นแนว Smart Wear เสื้อผ้ากึ่งซาฟารีและชุดลำลองท่องเที่ยวที่สวมใส่ได้ในชีวิตทุกวันอย่างแท้จริง โดยแนวคิดเกิดจากการลงพื้นที่ของนักศึกษาซึ่งทำให้ทราบว่าอดีตเป็นทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีแห้งแล้งและได้หยิบมาเชื่อมโยงกับโอเอซิสทางแอฟริกาเหนือ นำต้นไม้และใบไม้ที่มีรูปทรงที่ค่อนข้างแปลกตาน่าสนใจมาสร้างสรรค์ลวดลายลงบนเสื้อผ้า

“ผลพวงของวันนี้ทางชุมชนก็นำต้นแบบงานมาออกบูธจัดแสดงในงานและนำไปต่อยอดทางกระบวนการผลิตสร้างรวมไปถึงรูปแบบการได้แนวความคิดจากที่เราแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ทำงานร่วมกัน เราก็รู้สึกยินดีกับชุมชนและลุ้นให้งานในอนาคตของเขาเป็นที่ถูกใจ ขณะเดียวกันก็ยินดีกับนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จและนำไปต่อยอดประกวดและได้รับรางวัลจากเวทีใหญ่รายการ 1 ของประเทศไทย

“สำหรับทางคณะฯ ก็นับเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในเรื่องหลักสูตร ที่เรามุ่งเน้นการให้ลงมือปฏิบัติผลิตเสื้อผ้าอย่างมีความคิดสร้างสรรค์และใช้ได้จริง ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สอนให้กำหนดให้ชัดเจน ทำให้มีความพร้อมในระดับมืออาชีพและพร้อมแล้วที่จะออกไปทำงานร่วมกับคนในสังคมได้เป็นอย่างดี”

สืบทอดจิตวิญญาณจากรุ่นสู่รุ่น

ด้านนางสาวเกวลี  กิตติอุดมพันธ์ บัณฑิตหลักสูตรวิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น เผยการได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนให้ยืนได้ด้วยตัวเอง คือ ‘รางวัล’ ที่เหนือสิ่งอื่นใดและในตอนนี้ได้ร่วมงานกับองค์กรที่มุ่งเน้นแนวทางที่คำนึงถึงโลก สังคมควบคู่กับผลงานดีไซน์ในแบบฉบับของตัวเอง ที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

“ส่วนตัวเเล้วภูมิใจมากๆ กับการได้รับรางวัล แต่นอกจากความภูมิใจที่ได้รางวัลนี้ ต้องขอบคุณที่มีโอกาสได้รับการสนับสนุนในการทำศิลปนิพนธ์ ทำให้ได้ลงพื้นที่เเหล่งชุมชนที่ผลิตผ้าขาวม้าและผ้าไทย ได้เรียนรู้ประวัติ วิธีการทำ รวมถึงวิถีชีวิตของพี่ป้า-น้า-อา และคุณยายที่นอกจากทอผ้าขาวม้าเป็นอาชีพนี้เเล้ว การทอผ้ายังเป็นจิตวิญญาณที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จากรางวัลจากประสบการณ์ที่ได้ศึกษาเเละเรียนรู้ที่เราถ่ายทอดออกมาเต็มที่เเละภูมิใจที่สุด ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่นำผ้าข้าวม้าผ้าจากภูมิปัญญาของคนรุ่นหลังมาต่อยอดให้ทุกคนในชุมชนได้มีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนเเละถาวร

“อนาคตในการทำงานจากการได้รับรางวัลชิ้นนี้เป็นงานที่ต่อยอดในผลงานศิลปนิพนธ์ ซึ่งตลอดเวลา1ปี ที่ได้ศึกษาหาข้อมูลอย่างที่สุดว่าความเป็นมา จุดเด่น-จุดด้อย พัฒนายังไงได้บ้าง ปัญหาหรือขอบเขตมีอะไรบ้างและตัวเราเองจะสามารถทำให้ได้บ้างให้ออกมาดีที่สุด ตอนนั้นเองเต็มที่มากเท่าที่จะมากได้พอ ถึงตอนนี้เองได้ทำงานในบริษัทเหนือสิ่งอื่นใดเป็นแบรนด์เครื่องแต่งกายองค์กรธุรกิจที่นอกจากผลกำไรส่วนตัวเเล้วยังคำนึงถึงคุณค่าของชุมชน คุณค่าของคนรวมถึงส่งเสริมอาชีพให้สร้างรายได้จากตัวเองได้อย่างยั่งยืน ที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้”