เผยแพร่ |
---|
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคีเครือข่าย และสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตไทย
ลงนาม MOU ร่วมขับเคลื่อนสร้างคนไทยสุขภาพดี ตามแนวทาง Lifestyle Medicine ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต และการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวม ครั้งที่ 1 (1st Lifestyle Medicine and Holistic-Integrative Wellness Care 2023) ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชัน จังหวัดนนทบุรี
วันนี้ (22 กันยายน 2566) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเพิ่มพูนทักษะแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงเวชศาสตร์วิถีชีวิต ระหว่างกรมอนามัย และสถาบันร่วมฝึกอบรม และพิธีลงนามความร่วมมือด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตและการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวม ระหว่างกรมอนามัย และสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตไทย พร้อมมอบโล่ให้กับผู้นำด้าน Lifestyle Medicine and Holistic-Integrative Wellness Care 2023 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน ว่า จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในประเทศทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยหลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงรูปแบบใหม่ เช่น การติดสื่อสังคมออนไลน์ โดยโรคเหล่านี้ไม่สามารถรักษาโดยใช้ยาได้ แต่จะต้องอาศัยหลาย ๆ ปัจจัยในการปรับปรุงแก้ไข ทั้งจากคนในครอบครัว และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ กรมอนามัย
กระทรวงสาธารณสุข จึงเริ่มนำแนวทางการสร้างสุขภาพด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) พร้อมเดินหน้าวางแนวทางการจัดการสุขภาพตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 6 แนวทาง คือ 1) การกิน เน้นกินในปริมาณที่เหมาะสม สะอาด ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และกินอย่างมีความสุข 2) มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ด้วยการสร้างความยืดหยุ่น และความแข็งแรงให้กับโครงสร้างทางร่างกาย 3) การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เพราะกว่า 1 ใน 3 ของชีวิต คือ การนอน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ละเลย และไม่ให้ความสำคัญ 4) การควบคุมความเครียด และจัดการด้านอารมณ์ มีสติรับมือกับความเครียด และความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้น 5) หลีกเลี่ยงสารหรือวัตถุที่เป็นอันตราย ทั้งการสูบบุหรี่
ดื่มสุรา ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและการเข้าสังคม จึงควรเลือกเดินสายกลาง ดื่มแต่พอประมาณ และ 6) การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือการเชื่อมโยงกับสังคม
“ทั้งนี้ Lifestyle Medicine ที่สอดรับกับเทรนด์ของโลก ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพดีเพียงอย่างเดียว
แต่หมายความถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุยืนยาวอีกด้วย หรือที่เรียกว่า สุขภาวะที่ดี (Well-being) คือ ทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยทุกคนสามารถออกแบบกิจกรรมทางกาย การกินอาหาร การนอนหลับ การจัดการทางอารมณ์ หรือสุขภาพจิต หรือการใช้ประสาทสัมผัส ตลอดจนการไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนให้มีความแม่นยำซึ่งเป็นเรื่องของใช้ชีวิตเฉพาะบุคคล (Personal Life) และที่สำคัญ Lifestyle Medicine สามารถปรับใช้ได้กับผู้คนทุกระดับ โดยให้เข้ากับบริบททางสังคมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกคน มีโอกาสที่ได้รับการดูแลแบบ Lifestyle Medicineอย่างครอบคลุมและทั่วถึง สร้าง Well-being ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว