มหาสารคาม พัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อจัดการน้ำ แล้วเสร็จในทุกพื้นที่

กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและ ผังเมืองเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคมฯ (Geo – social Map) โดยจัดทำข้อมูลภูมิสังคม ในเรื่องแหล่งน้ำและที่อยู่ของน้ำตามสภาพข้อเท็จจริงที่เคยเป็นมาตั้งแต่ในอดีตจากผู้ที่รู้จริง นั่นคือ “พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/ตำบล/หมู่บ้าน”

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ซึ่งเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชา มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ทั่วประเทศ 76 จังหวัด เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดโครงการและกิจกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้กับประชาชน พัฒนาเครือข่ายการทำงานแบบบูรณาการของผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน และภาคีเครือข่ายผังภูมิสังคม เป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและสังคมวิทยา จัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้ คือหลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปแนะนำ อธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดว่าต้องการอะไรจริงๆ และเขียนบันทึกลงในผังภูมิสังคม เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้วางแผนงานโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืน เนี่องจากเป็นโครงการและกิจกรรมที่ตนมีส่วนร่วม และได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบนโยบายให้ส่วนราชการ มีการวางแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นแบบแผนเดียวกัน (ONE PLAN) ได้ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคม ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน ครบทั้ง 133 ตำบล 13 อำเภอแล้วเสร็จ และผ่านการประชุมคณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ระดับจังหวัด จำแนกประเภทและขนาดโครงการ ออกมาเป็นขนาด S,M,L และ XL และจากการเสนอชี้เป้าโครงการ/ กิจกรรม ขนาด S ที่จะดำเนินการเป็นโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนตามผังภูมิสังคม จังหวัดได้พิจารณาให้ตำบล อำเภอ ดำเนินการในรูปแบบจิตอาสา โดยให้ทุกพื้นที่ตำบลดำเนินการพร้อมกัน

 

ทั้งนี้จังหวัดมหาสารคาม ได้มีการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ โครงการขนาด S ดำเนินการในรูปแบบ จิตอาสา พร้อมกันทุกตำบลทั้งจังหวัด จำนวน 151 โครงการ สามารถเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำของชุมชนได้มากขึ้นทั้งจากการขุดลอกแหล่งน้ำเดิมและจากการก่อสร้างฝายกักเก็บน้ำใหม่ ประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถจัดเก็บและกำจัดวัชพืชต่างๆ ในแหล่งน้ำสาธารณะได้ปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่า 280,000 ตัน เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวดินมากกว่า 5,000 ไร่ ประชาชนภายในจังหวัดมหาสารคามได้รับประโยชน์จากโครงการฯในครั้งนี้ มากถึง 313,596 ครัวเรือน นับได้ว่าจังหวัดมหาสารคามได้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จในอันดับต้นๆของประเทศ และเป็นจังหวัดแรกที่มีการดำเนินโครงการแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ตำบลทั่วทั้งจังหวัดและมีโครงการมากที่สุด