ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
หากเราต้องการติดต่อสื่อสารกับบรรพบุรุษที่ลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว วิธีที่เราคุ้นเคยก็อาจจะเป็นการจุดธูปหน้าภาพถ่าย การไปไหว้หลุมศพ หรือเผาธนบัตรปลอมไปให้ในงานพิธี ซึ่งหากนับว่านี่เป็นวิธีการสื่อสารจริงก็จะเป็นการสื่อสารข้างเดียวที่อีกฝ่ายโต้ตอบอะไรไม่ได้
ปี 2024 เป็นต้นไป วิธีเหล่านี้อาจจะไม่ใช่วิธีเดียวที่เราจะพูดคุยกับคนที่ล่วงลับได้ โดยอาจจะมีวิธีที่ดีกว่านั้นเพราะเป็นการสื่อสารสองทาง นั่นก็คือการพูดคุยกับอวตาร AI ที่จำลองขึ้นมาให้มีรูปร่าง หน้าตา บุคลิก และน้ำเสียงเหมือนคนคนนั้นจริงๆ
เดาได้ไม่ยากเลยว่าหากเทคโนโลยีนี้จะฮิตเปรี้ยงปร้างที่ไหนเป็นที่แรกก็น่าจะหนีไม่พ้นประเทศจีนซึ่งมีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับการสื่อสารกับญาติมิตรที่เสียไปแล้วอย่างเข้มแข็งที่สุดวัฒนธรรมหนึ่ง
บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในประเทศจีนกำลังแข่งกันพัฒนาการให้บริการสร้างอวตารของคนที่ล่วงลับไปแล้วในรูปแบบของดิจิทัลโคลน โดยนำเสนอว่าเป็นวิธีรำลึกถึงและชุบชีวิตให้คนที่ตายจากไปวิธีใหม่ในราคาสบายกระเป๋าตังค์ เพียงแค่ 20 หยวน
หรือประมาณร้อยกว่าบาทเท่านั้น
หนึ่งในบริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีนี้อย่าง SenseTime ก็สร้างอวตารอดีตผู้ก่อตั้งบริษัทของตัวเองที่เพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วให้กลับฟื้นขึ้นมากล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมประจำปีของบริษัทด้วย
หรือนักร้องในไต้หวันคนหนึ่งที่ใช้เอไอในการชุบชีวิตลูกสาววัย 22 ปีที่เสียชีวิตไปในปี 2022 ให้กลับฟื้นขึ้นมาในรูปแบบอวตารและร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ให้แม่ฟังอีกครั้ง เขาใช้เวลาเป็นปีในการพัฒนาเอไอของลูกสาว แม้คนรอบข้างจะหาว่าเขาสติเฟื่องแต่เขาก็บอกว่าเขาแค่อยากได้ยินเสียงของลูกสาวอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง
ธุรกิจการสร้างมนุษย์ดิจิทัลกำลังเป็นธุรกิจที่บูมมากในประเทศจีน เว็บไซต์ The Week บอกว่ามีมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านหยวนในปี 2022 และน่าจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในปี 2025
สาเหตุที่อวตารเอไอเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในจีนน่าจะมาจากการที่จีนมีพื้นฐานวัฒนธรรมของการติดต่อสื่อสารกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับอยู่แล้ว อย่างการติดรูปบรรพบุรุษไว้ในบ้าน หรือประเพณีเช็งเม้งที่ลูกหลานรวมตัวกันไปทำความสะอาดหลุมศพและไหว้บรรพบุรุษ เป็นต้น
นอกจากการใช้เอไอเพื่อจำลองบรรพบุรุษ เทคโนโลยีนี้ก็ยังถูกหยิบมาใช้เพื่อสร้างอวตารของคนมีชื่อเสียงที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย อย่างในกรณีของเฉียว เริ่น เหลียง นักร้องชื่อดังที่เสียชีวิตในปี 2016 ก็มีคนใช้เอไอสร้างวิดีโอที่เขาพูดว่า “จริงๆ แล้วผมไม่เคยจากไปไหน” แต่เป็นการทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทางครอบครัว
ทำไมเราถึงต้องสร้างอวตารจำลองของคนที่จากไปแล้ว
หลายๆ คนบอกว่าการมีช่องทางให้รู้สึกเหมือนเรายังสามารถสื่อสารกับผู้ล่วงลับได้จะช่วยเยียวยาให้หลุดพ้นจากความโศกเศร้าได้เร็วขึ้น
บางครอบครัวไม่กล้าบอกข่าวร้ายต่อผู้สูงวัยว่าลูกหรือหลานเสียชีวิตไปแล้ว เพราะกลัวว่าพวกเขาจะทำใจไม่ได้ จึงใช้เทคโนโลยีเอไอจำลองอวตารให้ลูกหลานคนนั้นๆ โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลมาพูดคุยตามปกติเพื่อปกปิดความจริงให้ได้นานที่สุด
อย่างไรก็ตาม การจำลองตัวตนของคนที่ตายไปแล้วก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นหลายข้อ เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ยังค่อนข้างใหม่จึงยังไม่มีอะไรเป็นเครื่องชี้ชัดว่าสามารถทำได้โดยไม่ผิดจริยธรรมหรือกฎหมายหรือเปล่า
อย่างในกรณีของเฉียว เริ่น เหลียง การจะหยิบภาพของเขามาใช้สร้างอวตารโดยพลการนับเป็นเรื่องที่ไม่สมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลลัพธ์ที่ออกมานั้นสร้างความไม่สบายใจให้กับครอบครัวของเขา
แบบไหนเหมาะสม แบบไหนไม่เหมาะสม หรือการสื่อสารกับอวตารของคนที่จากไปแล้วจะช่วยให้เยียวยาได้เร็วขึ้นแค่ไหนก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องหาคำตอบ
ในด้านความสามารถของเทคโนโลยี แม้ในตอนนี้จะเก่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้มาก็ยังไม่ถึงกับลื่นไหลสมจริง ยังคงมีความแข็งทื่อแบบหุ่นยนต์ปะปนอยู่ในวิดีโอที่ได้ออกมาด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่ามันจะยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนสมจริงมากขึ้น ให้ผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยนน้อยลง จนในที่สุดจะทำให้คนในครอบครัวเผลอรู้สึกว่าเป็นคนที่จากไปจริงๆ
ไม่ใช่แค่อวตารของคนที่จากไปแล้วเท่านั้น อีกหนึ่งประเภทของอวตารที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในจีนก็คืออวตารที่อินฟลูเอนเซอร์หรือเน็ตไอดอลสร้างขึ้นมาแทนตัวเองเพื่อให้มาทำหน้าที่ไลฟ์ขายของแทนให้
การไลฟ์ขายของเป็นกิจกรรมที่ฮอตฮิตสุดสุดในประเทศจีน อินฟลูเอนเซอร์จีนพยายามเพิ่มจำนวนชั่วโมงการถ่ายทอดสดต่อวันให้ได้มากที่สุดจนกลายเป็นเทรนด์การไลฟ์ 24 ชั่วโมง
และเมื่อไปถึงจุดที่ร่างกายมนุษย์รับไม่ไหว อวตารเอไอจึงเป็นตัวช่วยที่เหมาะกับยุคสมัยนี้ที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์แบบไหน ฉันก็เชื่อว่าหลังจากนี้ไปเราน่าจะได้เห็นอวตารเอไอกันในหลายบริบทมากขึ้น อาจจะมีรูปแบบการทำงานหรือการทดแทนในแบบใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง ในขณะเดียวกันเราก็คงต้องค่อยๆ หาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ หรือควรจะวาดเส้น กำหนดขอบเขตกันไว้ตรงไหนบ้าง
ลองนึกดูว่าพิธีเช็งเม้งครั้งต่อไป แทนที่เราจะจุดธูปไหว้ป้ายหลุมศพและพูดในใจอยู่คนเดียว
เราอาจจะได้สื่อสารกับอากง อาม่า ที่ถามไถ่ความเป็นไปของลูกหลานแต่ละคนก็ได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022