สธ. จับมือ พม. ส่งเสริมสุขภาพผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันนี้ (21 สิงหาคม 2566) กรมอนามัย ร่วมบันทึกข้อตกลงการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของชีวิต เพื่อให้คนพิการ มีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระเต็มศักยภาพ และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์ผู้พิการในประเทศไทย พบว่า มีผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,108,536 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3.19 ของประชากรทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็น ผู้ชาย จำนวน 1,101,837 คน หรือ ร้อยละ 52.26 และผู้หญิง จำนวน 1,006,699 คน หรือ ร้อยละ 47.74  และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น กรมอนามัยมีภารกิจในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน ผ้สูงอายุ ตลอดจนอภิบาลระบบอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี  โดยเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ด้านสุขภาพในทุกมิติ พัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ให้เกิดการผสานพลังภาคีเครือข่ายและสร้างพันธมิตรเชิงนิเวศน์วิถีใหม่ที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชนแบบบูรณาการที่ยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยให้สามารถดูแลสุขภาพกาย-ใจของตนเอง ครอบครัว ชุมชนให้แข็งแรง รวมถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อว่า กรมอนามัยจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายวัยทํางานด้วยแนวทางการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วยหลัก 3อ 2ส 1ฟ 1 น ประกอบด้วย ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ สุรา ยาสูบ ทันตสุขภาพ และ นอนหลับอย่างมีคุณภาพ โดยได้ดำเนินการกับกลุ่มคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายวัยทำงานเป็นกลุ่มแรก โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคม ชมรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนการดําเนินงานส่งเสริมสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้คนพิการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม

รวมทั้งการให้ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ และการส่งเสริมสุขภาพคนพิการแบบองค์รวม (Holistic Health Care) ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติ

“ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
เน้นพัฒนารูปแบบด้านการส่งเสริมสุขภาพ ตามหลัก 3อ 2ส 1ฟ 1น และสนับสนุนทางด้านวิชาการ และการส่งเสริมสุขภาพคนพิการแบบองค์รวม (Holistic Health Care) ได้แก่ 1) มิติทางร่างกาย คือ ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคหรือความเจ็บป่วยได้รับอาหารและโภชนาการ สมรรถนะทางกาย สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย ที่เหมาะสม 2) มิติทางจิตใจ คือ มีอารมณ์แจ่มใส ไม่มีความกังวล มีความสุข ได้รับการดูแลไม่ให้เกิดภาวะวิกฤตทางอารณ์ 3) มิติทางสังคม คือ ครอบครัว สังคมและชุมชน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน 4) มิติจิตวิญญาณ คือ มีความหวังในชีวิต มีความรัก ความอบอุ่น ความเชื่อมั่นศรัทธา ปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามด้วยความมีเมตตา กรุณา ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ และ 5) มิติทางปัญญา โดยเป็นผู้มีการศึกษา มีความรู้ เฉลียวฉลาด รู้เท่าทัน การเปลี่ยนแปลงสามารถประกอบอาชีพ และประสบความสำเร็จในชีวิต” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว