มท. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ในทุกครัวเรือน

กระทรวงมหาดไทยกับบทบาท “ผู้นำ” ภาคีเครือข่ายของประเทศไทย จัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ในทุกครัวเรือน จนสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างรายได้กลับคืนสู่ทุกท้องถิ่น “สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก”

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนเพื่อรักษาโลกใบเดียวนี้ให้มีอายุยืนยาว ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้ตื่นตัวลุกขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ในทุกครัวเรือน ส่งผลให้ระบบนิเวศ และสภาวะแวดล้อมเหมาะกับลูกหลาน สามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการทุกส่วนของกระทรวงมหาดไทย ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้นำการบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการจากทุกกระทรวง ทุกกรม ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ทำอย่างต่อเนื่อง

“ผลแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจนั้น สามารถปรากฏผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม “เป็นชาติแรกของโลก” คือ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน (MOI’s Success on Food Waste Management for Climate Action and a Commitment to Sustainable Thailand) ของจังหวัดนำร่องทั้ง 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ สามารถทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมี บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เป็นผู้รับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 260 บาท/ตัน ซึ่งในเฟสแรก สามารถซื้อขายได้จำนวน 3,140 ตัน เป็นเงิน 816,400 บาท กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น โดยคุณกีต้า ซับบระวาล (Mrs.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งมาร่วมในงานดังกล่าวด้วย ได้แสดงความชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของประเทศไทยภายใต้การนำของกระทรวงมหาดไทยและแสดงจุดยืนการเป็นภาคีเครือข่ายที่แน่นแฟ้นในการร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเช่นนี้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง”

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวว่า ภายหลังจากการประกาศความสำเร็จในเฟสแรก กระทรวงมหาดไทยได้เดินหน้าขับเคลื่อนการทวนสอบ “โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ระยะที่ 2” ใน 22 จังหวัด เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตกว่า 85,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ราชบุรี ลำพูน ยโสธร พะเยา มุกดาหาร สมุทรสงคราม นครพนม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ มหาสารคาม สกลนคร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นราธิวาส เชียงราย อุตรดิตถ์ นครศรีธรรมราช อุดรธานี และจังหวัดพิษณุโลก โดยมีประชาชนที่จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน รวมกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน โดยนางสุจิตรา ศรีนาม ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. ชนาธิป ผาริโน ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body : VVB) ลงพื้นที่ทวนสอบโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน ถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ในพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย ซึ่งจากการดำเนินการสุ่มตรวจการใช้งานถังขยะเปียกลดโลกร้อนของประชาชนโดยสัมภาษณ์ประชาชนผู้ใช้ถังขยะเปียกลดโลกร้อนกว่า 611 คน ตลอดจนสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการฯ ในพื้นที่พบว่า มีการติดตั้งและใช้ถังขยะเปียกลดโลกร้อน อย่างต่อเนื่องเป็นประจำครบถ้วนทุกครัวเรือน โดยผู้ประเมินภายนอก (VVB) ได้เห็นถึงการบูรณาการการขับเคลื่อนโครงการฯ ผ่านกลไกระดับท้องที่ ระดับท้องถิ่น ทีมปฏิบัติการระดับอำเภอ ตลอดจนอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก  (อถล.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ได้ขับเคลื่อนโครงการอย่างแข็งขันในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ด้วยการเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมทั้งสาธิตการใช้ถังขยะเปียกอย่างถูกวิธี ส่งผลให้ประชาชนสามารถใช้ถังขยะเปียกลดโลกร้อนได้ถูกต้อง และสามารถตอบข้อซักถามของ VVB ได้อย่างครบถ้วน ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ถังขยะเปียกรอบด้าน

“ขณะนี้ การทวนสอบ “โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ระยะที่ 2” ใน 22 จังหวัดที่มีกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจากรายงานประเมินผล (Monitoring Report) ที่จัดทำโดยคณะทำงานรับรองประมาณก๊าซเรือนกระจกของกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับรายงานการทวนสอบ (Verification Report) ของผู้ประเมินภายนอกได้ปริมาณคาร์บอนเดรดิต จำนวน 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเมื่อรวมกับปริมาณคาร์บอนเดรดิตที่ได้รับการรับรองไปก่อนแล้ว สามารถเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ยืนต้นอายุ 20 ปี จำนวน 7.3 ล้านต้น  ทั้งนี้ คณะทำงานฯ มท. ได้จัดส่งเอกสารรายงานการประเมินผลและรายงานการทวนสอบเพื่อขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก จำนวน 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ไปยังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แล้ว เพื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการและกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกจะพิจารณาให้การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก ในวันที่ 5 กันยายน 2566 และเสนอขอความเห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในห้วงวันที่ 26 กันยายน 2566 ต่อไป โดยหากได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามจำนวนดังกล่าว จะสามารถทำการซื้อขายให้กับสถาบันการเงินและองค์กรภาคีเครือข่ายภาคเอกชนที่สนใจ ซึ่งถ้าคำนวณจากราคาซื้อขายเดิมที่ 260 บาท/ตัน จะคิดเป็นมูลค่ากว่า 22 ล้านบาท เป็นเงินรายได้กลับไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ผู้เป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิต สำหรับใช้พัฒนาพื้นที่ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

 

 

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทย ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ และท้องถิ่นจังหวัด ทั้ง 22 จังหวัด ในการบูรณาการทีมงาน ทั้งทีมที่เป็นทางการโดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดีให้กับโลกใบเดียวนี้ ทั้งนี้ ผู้ประเมินภายนอก (VVB) ได้กล่าวชื่นชมการบูรณาการการทำงานของกระทรวงมหาดไทยที่ส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชน และภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังได้กล่าวชื่นชมจังหวัดในเรื่องการบริหารจัดเก็บข้อมูล (Data Management) ครัวเรือนที่จัดทำถังขยะเปียก ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น นำไปสู่ความสำเร็จในการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยมีแผนในการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกในรอบที่ 3 ของทั้ง 76 จังหวัด ภายในเดือนมิถุนายน 2567

 

“ปัจจัยความสำเร็จของการขับเคลื่อนอยู่ที่ “ผู้นำในทุกระดับ” ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และต้องทำงานแบบภาคีเครือข่าย (Partnership) และมีการสื่อสารกับสังคมอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ด้วย Passion ที่มีความต้องการจะช่วยรักษาโลกใบเดียวที่สวยงามของเราไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของลูกหลานตราบนานเท่านาน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้าย