“บอกให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” ปลัด มท. เน้นย้ำ บทบาทนายอำเภอต้องเป็นผู้นำทีมภาคีเครือข่ายลงพื้นที่โน้มตัวเข้าถึงหัวใจประชาชน เพื่อสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น

“บอกให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” ปลัด มท. เน้นย้ำ บทบาทนายอำเภอต้องเป็นผู้นำทีมภาคีเครือข่ายลงพื้นที่โน้มตัวเข้าถึงหัวใจประชาชน เพื่อสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น ปลุกเร้าจิตวิญญาณและหัวใจของราชสีห์ผู้ภักดีต่อแผ่นดิน ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน

วันนี้ (16 ส.ค. 66) เวลา 14:00 น. ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมโครงการอบรมเสริมสร้างสมรรถนะผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ Proficiency Enhancement Program for D-CAST (PEP for D-CAST) โดยมี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายวิกรม์ ศรีวิฑูรย์ ผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน นายสิทธิชัย เทพภูษา อธิการวิทยาลัยการปกครอง นายวิชัย บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายศราวุธ สุวรรณจูฑะ ปลัดจังหวัดนครนายก นายวิลาศ บุญโต พัฒนาการจังหวัดนครนายก นายกองโท อิสรา สุขแจ่มใส นายอำเภอเมืองนครนายก และนายอำเภอผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 40 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณกรมการปกครองที่ได้นำแนวทาง หลักการปฏิบัติ และการประเมินผล ที่ทำให้เรารู้จุดอ่อน – จุดแข็ง เปรียบเสมือนการประเมินผลผู้เรียนที่ต้องมีการบ้าน เพื่อประเมินว่าสิ่งที่คุณครูได้สอนไปสามารถสะท้อนหรือสัมฤทธิผลออกมาได้ดีมากน้อยเพียงไร เพื่อที่คุณครูจะได้เสริมเติมแต่งให้ผู้เรียนได้มีองค์ความรู้และมีสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกันกับการปฏิบัติงานที่ทุกคนในองค์กรต้องพัฒนาคนเพื่อเสริมจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน ทำให้มีบุคลากรผู้มีองค์ความรู้ มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาที่นายอำเภอที่มาอบรมในครั้งนี้ได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน ได้มาเจอกัลยาณมิตร ผู้เป็นราชสีห์ที่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งการอบรมและได้มาพบเจอกันครั้งนี้จะเป็นกำลังใจและพลังในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ได้เต็มกำลังมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และยังได้มีโอกาสทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติต่อไป ซึ่งประโยชน์เหล่านั้นจะส่งผลให้เราที่เป็นข้าราชการที่ทำงานอย่างมีความสุข เพราะเราได้เห็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่มีความสุขที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ทำให้ชาวบ้านได้มีการพบปะพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ นำมาสู่ความเคารพรักและนับถือ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของชีวิตอย่างยิ่ง

“การมาอยู่ร่วมกันที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายกแห่งนี้เต็มไปด้วยความเมตตาของคณาจารย์ วิทยากร ผู้จัดโครงการฯ ซึ่งหลังจากที่ได้ผ่านการอบรม ณ สถานที่แห่งนี้แล้ว ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยทุกคนมีความมั่นใจว่า ทุกท่านจะได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไปทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของคนมหาดไทย “เพราะทุกท่านเป็นผู้นำ” โดยเฉพาะตำแหน่ง “นายอำเภอ” มีหน้าที่เป็นผู้นำสูงสุดในพื้นที่ ดังนั้น ทุกท่านจึงต้องคิดทบทวนไตร่ตรองในสถานะ “นายอำเภอผู้เป็นผู้นำที่แท้จริง” ที่ต้องเริ่มตั้งแต่หัวใจของนายอำเภอ แม้ว่าบางท่านจะมีร่างกายไม่แข็งแรง แต่หากเรามีจิตใจ “รุกรบ” ร่างกายก็จะทำตามหัวใจได้ และนอกจากจะมีใจแล้ว เราต้องสื่อถ่ายทอดหัวใจรุกรบของเราไปยังพี่น้องปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชนได้ ทำให้ทุกคนได้เห็นและมีความเชื่อมั่นใน “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อพี่น้องประชาชน จึงขอให้พวกเราทุกคนทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่น ด้วยจิตใจรุกรบและปลุกแรงปรารถนา (Passion) เพื่อกลับไปทำงานอย่างเป็นระบบและทำเป็นทีมร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การทำงานอย่างเป็นระบบ หมายถึง นายอำเภอทุกคนต้องทำงานประจำ (Routine Job) ทำหน้าที่ตามกฎหมายของแต่ละคนอย่างถูกต้องและชัดเจน พร้อมกับทำการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้กับพี่น้องผู้ปฏิบัติงานที่อำเภออย่างชัดเจน ต่อเนื่องจนถึงการติดตามประเมินผลหรือการรายงาน (Report) ซึ่งตำแหน่งนายอำเภอสามารถลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานได้โดยไม่ต้องนัดหมาย สามารถไปสังเกตการ (Observe) ได้ด้วยตนเองทันที ซึ่งหากนายอำเภอทำได้ ก็จะรู้จุดแข็ง – จุดอ่อน ทำให้งานในหน้าที่ของเราดีได้ และเมื่องานดีอยู่แล้วเราก็สามารถทำให้ดียิ่งขึ้น นายอำเภอจึงเป็นผู้นำที่ต้องทำก่อน เริ่มตั้งแต่ “การครองตน” ของคนฝ่ายปกครอง ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่มารยาท ระเบียบวินัย ธรรมเนียมปฏิบัติในการเข้าหาพี่น้องประชาชน แต่รวมถึงการแต่งกายที่ถูกต้องเหมาะสม การดูแลความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่ทำงาน “การครองคน” คือ การโค้ชชิ่งน้อง ๆ ปลัดอำเภอให้มีการปฏิบัติตนและทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ด้วยการ “บอกให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” นอกจากนี้การเป็นผู้นำต้อง “ครองงาน” ด้วยการแสดงออกให้ชัดเจนว่าเรามีแรงปรารถนา (Passion) ทำให้คนรอบตัวเราเห็นถึงความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการขับเคลื่อนงาน ยกตัวอย่างเช่น การขับเคลื่อนอนุรักษ์การสวมใส่ผ้าไทย น้อมนำพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการที่เราสวมใส่ผ้าไทยเป็นตัวอย่างให้กับน้อง ๆ และประชาชน ถ้านายอำเภอทำเป็นตัวอย่างก่อนก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนรอบตัวได้เห็น หันมาสวมใส่ผ้าไทยที่ทำด้วยสีธรรมชาติ ส่งผลให้คนในชุมชนก็ได้รับประโยชน์จากการขายผ้าไทย ทำให้เงินก็หมุนเวียนอยู่ในชุมชน เช่นเดียวกันกับการปลูกพืชผักสวนครัว การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่ทั้งหมดจะส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อพี่น้องประชาชน ทำให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สังคมของเราก็จะมีความสุขอย่างยั่งยืน

“เพราะ “จุดอ่อนที่สำคัญของระบบราชการส่วนภูมิภาค” โดยเฉพาะของสถาบันปกครอง หรืออำเภอ คือ การทำงานแบบไม่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ความแนบแน่นของเรากับชาวบ้านแบบ “รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด” ลดน้อยลง และห่างเหินมากยิ่งขึ้น เพราะนายอำเภอมีงานประจำจำนวนมาก ทำให้การลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่เป็นกึ่งกลางระหว่าง งานประจำ (Routine Job) และงานพิเศษ (Extra Job) ที่เราต้องทำให้ได้ เพื่อแลกกับงานและหัวใจของพี่น้องประชาชน ดังนั้น เราต้องทำให้สิ่งสำคัญของการมีอยู่ของระบบราชการ คือ เราทุกคนต้องทำให้เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของเรายังคงมีความสำคัญกับการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ดังนั้น นายอำเภอทุกท่าน ต้องแปลงแรงปรารถนา (Passion) อุดมการณ์ (Attitude) และความมุ่งมั่น (หัวใจ) ที่รุกรบ ให้เป็นพลังขับเคลื่อน ถ่ายทอดไปสู่ทีมงานภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย และที่สำคัญ คือ สร้างทีมผู้รับผิดชอบประจำตำบลให้เป็นเช่นเดียวกันกับนายอำเภอ เพราะนายอำเภอเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องไปโค้ชชิ่ง เทรนนิ่ง ทำให้ทีมงานเข้มแข็งด้วยองค์ความรู้ที่เรามี และใช้เวลาว่างในการศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาภูมิสังคม นำเอาองค์ความรู้มาบูรณาการกับพื้นที่และภารกิจของเราทุกมิติ และที่สำคัญคือการทำให้ชาวบ้านรัก ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาตี “ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง” ด้วยการไปนั่งอยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชนด้วยความรักแบบญาติสนิทมิตรสหายอย่างใจจริง ไม่ใช่รักในอำนาจหน้าที่ที่เรามี” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า เป้าหมายสูงสุดของพวกเราชาวมหาดไทย คือ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มรายได้ แต่สิ่งสำคัญคือการลดรายจ่าย โดยน้อมนำแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ยังผลให้ประชาชนมีความมั่นคงและมีความสุข ดังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ตามพระดำริ ดังนั้น ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนงานให้สมบูรณ์ และเพิ่มพูนเนื้องานในทุกมิติให้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาพี่น้องประชาชนในทุกด้านอย่างถ่องแท้ ดึงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันนักปกครองให้อยู่ในหัวใจพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งทางผู้บริหารจะคอยติดตามและเป็นกำลังใจให้นายอำเภอทุกคนได้ช่วยกันทำสิ่งที่ดีเพื่อพี่น้องประชาชนด้วยกัน และช่วยกันรายงาน (Report) ในสิ่งที่ได้ทำหน้าที่ “ราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน” ที่พร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำสิ่งที่ดี “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งแม้ว่าพวกเราจะมีภาระหน้าที่ส่วนตัว มีครอบครัว หรือมีเวลาในการทำงานไม่เท่ากัน แต่หากเราทุกคน “มีใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หลอมรวมภาคีเครือข่ายให้เป็นกำลังสำคัญในสนามรบภายใต้แม่ทัพ คือ “นายอำเภอ” โดยเฉพาะนายอำเภอ 40 อำเภอที่ได้มาร่วมกันปลุกความหวังของเราชาวมหาดไทยให้กลับมา ทำให้ประเทศชาติมีความหวัง และมีนายอำเภอที่ดี ที่เสียสละกายใจทุ่มเทตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนและประเทศชาติ

นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองโดยวิทยาลัยการปกครอง ได้ดำเนินการอบรมเสริมสร้างสมรรถนะผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ (PEP for D-CAST) ในครั้งนี้ มีระยะเวลาการฝึกอบรมรวม 45 วัน แบ่งการอบรมออกเป็น 3 ระยะ “ระยะที่ 1” ปลุกหัวใจราชสีห์ผู้ภักดีต่อแผ่นดิน เป็นการสะท้อนภาพรวมของผู้เข้ารับการอบรม ผ่านการเรียนรู้วิชาที่เกี่ยวข้อง อาทิ เปิดหัวใจราชสีห์ เหลียวหลังแลหน้าบทเรียนการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ราชสีห์ Change for good ศาสนากับการพัฒนา 3 ขุมพลัง พลังกาย พลังใจ พลังปัญญา การสร้างและพัฒนาเครือข่าย 7 ภาคีตามแนวพระราชดำริ พุทธอารยเกษตรเพื่อการพัฒนายั่งยืน “ระยะที่ 2” การทัศนศึกษาเชิงประจักษ์ โดยเป็นการลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้หลักทฤษฎีใหม่และการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา 904 ศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี การศึกษาดูงานโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน ณ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ศึกษาเรียนรู้การสร้างชุมชนเข้มแข็ง ด้วยพลัง “บวร” ณ วัดหัวฝาย และวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย การศึกษาดูงานศูนย์ศึกษาการจัดพื้นที่ลุ่มน้ำแบบองค์รวม และการพัฒนาตามภูมิสังคมอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และ “ระยะที่ 3” การเสริมสร้างสมรรถนะผู้นำขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก อาทิ หลักกสิกรรมธรรมชาติกับระบบเศรษฐกิจพอเพียงและบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ ฝึกปฏิบัติทฤษฎีใหม่ด้านการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และการจัดเวทีจัดการความรู้ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ