พช.ติวเข้มผู้ประกอบการ ปั้น “Premium OTOP”

พช.ติวเข้มผู้ประกอบการ ปั้น “Premium OTOP” ยกระดับ “สุดยอดสินค้าชุมชนภูมิปัญญาชาติ” สู่สากล

วันนี้ใครก็พูดถึง “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ในแง่ของการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยเรามีซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างชื่อในระดับโลกได้แก่ มวยไทย อาหารไทย อย่างผัดไทย ต้มยำกุ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง ฯลฯ

แต่ความจริงแล้วเรายังมีซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังในระดับ “ท้องถิ่น” อีกมาก เช่น ผ้าไทยลวดลายท้องถิ่น หัตถกรรมจักสาน เครื่องประดับลวดลายโบราณที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาเฉพาะชุมชน (Local Wisdoms) ซึ่งสิ่งเหล่านี้รอการพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นกระแสนิยมทั้งในระดับประเทศ สู่ระดับสากล

ด้วยเหตุนี้ “กรมการพัฒนาชุมชน” จึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ให้สามารถขยายตลาดเชิงพาณิชย์ตามเทรนด์โลก เพื่อขยายการตลาดทั้งภายในประทศ และต่างประเทศ” โดยจัดขึ้นระหว่าง 15-17 ก.ค. 2566 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา บาย เซ็นทรา เพื่อให้ความรู้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าเครื่องแต่งกาย และประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ระดับ 4-5 ดาว นำไปสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นสินค้าระดับ Premium เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด


ภายในงานเสวนา มีวิทยากรซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ไทยชั้นนำมากมาย ประกอบด้วย นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Vogue Thailand นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ Theatre นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ Issue นายวชิระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ Wisharawish นางศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก
 โดยไฮไลต์ในการบรรยายและฝึกปฏิบัติ ได้แก่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้สามารถขยายตลาดเชิงพาณิชย์ตามเทรนด์โลก, การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์, การสร้างแบรนด์ให้สินค้าติดตลาด และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Online บน Platfom ต่างชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เห็นตลาดการแข่งขันที่แท้จริง รวมถึงให้ความรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการติดต่อสื่อสารเป็นพื้นฐานด้วย

 

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่ทำให้เกิดงานนี้ กล่าวว่ากรมการพัฒนาชุมชนได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Premium สู่สากล ตั้งแต่ปี 2565 โดยปัจจัยที่จะส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประสบความสำเร็จ มีอยู่ 3 ประการสำคัญ ได้แก่

  1. การพัฒนาศักยภาพตนเองให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยต้องมีองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็น เช่น แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน
  2. ต้องมีการสร้างเรื่องราว หรือ Story จุดดีและจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของสินค้าที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าของเราได้
  3. ต้องมีการแสวงหาช่องทางการตลาดเพิ่มเติม โดยการสร้างเครือข่ายของธุรกิจบนพื้นฐานความร่วมมือและการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงโซเชียลมีเดีย ซึ่งสามารถเข้าถึงลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายโดยใช้ต้นทุนที่ต่ำ เป็นโอกาสในการผลักดันสินค้าระดับท้องถิ่นไทย ให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในตลาดนานาชาติได้เพิ่มขึ้น