ปลัดมหาดไทยจับมือนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดงานพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล

 

ปลัดมหาดไทยจับมือนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดงานพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล ร่วมกันน้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ” มุ่งพัฒนาผู้ผลิตผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาชนคนไทยได้มีความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มและเป็นผู้นำแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

วันนี้ (21 ก.ค. 66) เวลา 13.30 น. ที่ไอคอนคราฟต์ ชั้น 4 ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล กิจกรรมที่ 3 จัดกิจกรรมทดสอบตลาด การประชาสัมพันธ์ การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานแม่บ้านพัฒนาชุมชน คณะที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อาทิ ดร.ศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์เธียเตอร์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ ISSUE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.นวัตกร อุมาสิน อาจารย์หลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใยและเป็นมิตรกับสิงแวดล้อม ตัวแทนผู้ประกอบการ จำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ ชลธี บายเก๋บาติก, ซาโลมาปาเต๊ะ, ไฑบาติกเขาคราม, นินา ปาเต๊ะ, บาติก เดอ นารา, ยาริง บาติก และ รายา บาติก และสื่อมวลชน ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความรัก ความห่วงใย และทรงมีพระประสงค์อยากเห็นพี่น้องประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอัยยิกาของพระองค์ท่าน ในด้านงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมไทย งานผ้าไทย โดยพัฒนาต่อยอดทักษะทางฝีไม้ลายมือ ศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็น DNA ของคนไทย มาแปรเปลี่ยนเป็นผ้าทอมือ ที่นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” พร้อมทั้งทรงออกแบบลวดลายผ้า และพระราชทานลายผ้าพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และผ้าลายพระราชทานผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และล่าสุดลายผ้าบาติกลายดอกรักราชกัญญา ซึ่งพระองค์ทรง “ต่อยอด” จากพระราชปณิธานของพระอัยยิกา ในด้านหัตถกรรมมาแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ควบคู่กับการ “สืบสาน รักษา” ที่มีต้นเค้าต้นแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษไทย โดยหยิบความสวยงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวมารังสรรค์ ประดิษฐ์เป็นลวดลายต่าง ๆ รวมไปถึงการดัดแปลงให้เข้ากับลวดลายดั้งเดิม แสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยอันกว้างขวางยิ่งที่ทรงมีต่อศิลปกรรมไทย และยังทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าพระองค์ท่านทรงมีความชื่นชมและชื่นชอบเมื่อทรงทอดพระเนตรผลงานของพวกเราซึ่งเป็นผู้ผลิตผ้าที่ได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์และช่วยกันทำผลงานเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ตามอิสระ  โดยทรงย้ำเตือนสิ่งสำคัญให้พวกเราต้องพึงนำมาใช้อยู่เสมอ นั่นคือ “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ด้วยการสอนให้ผู้ประกอบการได้ตระหนักและคำนึงถึงสารเคมีที่เกิดจากการย้อมผ้า ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จึงทรงพระราชทานพระดำริและทรงสอนให้ใช้สีธรรมชาติมาย้อมผ้า ซึ่งหากเรานึกย้อนไปจะมีความสอดคล้องกับเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพ ด้วยการทอผ้าไหมผ้าฝ้าย สอนให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนสามารถทอผ้า ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น นอกเหนือจากการทำไร่ทำนา จากการทำเกษตรกร เมื่อหมดฤดูกาลทำการเกษตร ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งกุศโลบายที่พระองค์ทรงทำให้ชาวบ้านได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะการทอผ้าเพื่อหารายได้มากยิ่งขึ้น และทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันนี้เราสามารถพูดได้แล้วว่าเรามีความสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อพี่น้องประชาชนโดยแท้จริง ด้วยพระกรุณาธิคุณ เพราะภายหลังจากพระองค์ได้พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ในห้วงเวลา 2-3 ปี ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า คนทำผ้าทั่วประเทศ มีรายได้รวมกว่า 48,000 ล้านบาท และล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” มาผสมกับลายผ้าบาติกของคนใต้ เพิ่มเติมจากลวดลายผ้าบาติกเดิม ซึ่งหลังจากได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพี่น้องผู้ประกอบการจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส และปัตตานี ทำให้เราได้พบสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจ คือ พวกเราได้เห็น “พระรูป” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ถูกติดตั้งอยู่ที่ฝาผนังตามบ้านของกลุ่มผ้าบาติกต่าง ๆ และสถานที่เหล่านั้นยังเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยกันฝึกฝนให้คนในกลุ่มได้มีทักษะในการทอผ้าและมีฝีมือที่ดีขึ้น หรือแม้แต่เมื่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมที่บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ก็จะได้พบกับบรรยากาศแห่งการน้อมน้อมนำพระดำริมาขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการคัดแยกขยะ การทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และการพัฒนาชิ้นงานให้มีความทันสมัย การนำเอาสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาเป็นวัตถุดิบในการทำเป็นสีย้อมผ้า และที่สำคัญคือเราได้เห็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ที่เป็นศิลปินการออกแบบ (Designer) ได้มาร่วมกันลงพื้นที่ไปให้ความรู้ แนะนำ แนะแนว สื่อสาร ตลอดไปทั่วทุกทิศในพื้นที่ห่างไกล เพื่อสานฝันความฝันของพระองค์ท่านให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการโค้ชชิ่ง แนะนำ แนะแนวให้คำปรึกษากับพี่น้องในทุกกลุ่มทอผ้าทุกสาขาอาชีพ และได้เห็นพี่น้องประชาชนทุกคนมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“ผมรู้สึกซาบซึ้งและภาคภูมิใจอย่างยิ่งทุกครั้งที่ได้มาร่วมงานผ้าไทยตามแนวทางพระดำริ เพราะเป็นการทำงานเพื่อแผ่นดิน ทำให้เราได้ร่วมช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพพี่น้องประชาชน อันเป็นการ “พัฒนาคน” เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีความปรารถนาในการช่วยเหลือพวกเราทุกคนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งในวันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่พวกเราได้มาจัดแสดงที่ไอคอนสยาม (ICONSIAM) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจัดแสดงแบรนด์ SIRIVANNAVARI และเคยมีจัดแสดงการเดินแบบผ้าไทยหน้าพระพักตร์ ซึ่งในครั้งนั้นก็ได้เห็นหยาดน้ำตาของพี่น้องประชาชนที่กลั่นออกมาด้วยความซาบซึ้งและตื้นตันใจ เพราะได้เห็นนางแบบชาวต่างชาติสวมใส่ชุดผ้าไทยเดินแบบบนเวทีระดับโลก ทำให้เราได้เห็นผลลัพธ์ความทุ่มเทของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จนเกินที่ผมจะสามารถพรรณนาในพิธีเปิดวันนี้ได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดความดีงามทั้งหลาย คือ การทำความดีต่อพี่น้องประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งความดีงามนี้จะส่งผลไปถึงการทำให้ประเทศไทยเรามีจุดยืนอยู่บนเวทีโลก โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางทั้งในเรื่องหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และ แฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion) และเกี่ยวเนื่องไปถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่พระองค์ท่าน ทรงเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอย่างทรงพลัง

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า พวกเราทุกคนน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และจะอัญเชิญมาปกเกล้าฯ เป็นพลังที่ไม่จบสิ้นในการสนองงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นที่นิยมของผู้คน ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ส่งต่อไปถึงลูกหลานของพวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคงด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม” ที่เป็น 1 ในปัจจัย 4 ของชีวิตมนุษย์ คงอยู่คู่กับคนไทยตราบนานเท่านาน ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการนำผ้าไทยก้าวไปสู่สากลและตลาดโลกในอนาคตอันใกล้ อันจะยังผลทำให้พี่น้องประชาชนคนไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานตราสัญลักษณ์สำหรับโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล  โดยทรงออกแบบตราสัญลักษณ์ให้มีความหมายที่ลึกซึ้ง สร้างแรงบันดาลใจให้กับสมาชิกทั้ง 7 ชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาสู่ผ้าบาติกผืนงามที่มีความร่วมสมัยอย่างยั่งยืนสืบไป

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล จัดขึ้นเพื่อ 1) สืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย 2) เผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน 3) พัฒนาทักษะ องค์ความรู้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ทำผ้าบาติกหรือประชาชนในชุมชนใกล้เคียงที่มีความสนใจ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และ 4) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าบาติกให้เป็นที่แพร่หลาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าบาติก 7 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน รวมจำนวน 140 คน

 

#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #MOI

#Changeforgood #SDGTH #หมู่บ้านยั่งยืน #SDGlocalization #SEPforSDGs