NIA จับมือ 11 ประเทศ จัดประชุม SEASA 2023เสริมศักยภาพสตาร์อัพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโลก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Southeast Asia Startup Assembly 2023 (SEASA 2023) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างสตาร์ทอัพ หน่วยงานภาครัฐ และนักลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศพันธมิตร ภายใต้แนวคิด “Impact Startups: Driving Positive Change in the World” โดยปีนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐด้านการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพจากประเทศสมาชิกอาเซียนและพันธมิตร เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ลาว สิงคโปร์ อุซเบกิสถาน เอสโทเนีย สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์ โปแลนด์ ออสเตรีย ฮังการี

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ประเทศไทยจัดการประชุม SEASA มาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 โดยครั้งนี้มีเป้าหมายในการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างพลังให้กับสตาร์ทอัพที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่โลก และเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยการสนับสนุนการแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อเสริมสร้างการเคลี่อนย้ายและขยับขยายความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mobility) รวมถึงการหาแนวทางในการรับมือกับโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ

ในโอกาสนี้ได้มีการนำเสนอบทบาทของภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมสตาร์ทอัพตั้งแต่ด้านนโยบาย การส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ สถานการณ์ของสตาร์ทอัพ และระบบนิเวศสตาร์ทอัพของแต่ละประเทศในปัจจุบัน โดย คุณ Ayumi Yuasa, Deputy Director, OECD Development Center ได้บรรยายในห้วข้อ ความสำคัญของความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่า “จากรายงานของโออีซีดี (OECD) สตาร์ทอัพในประเทศไทยจะมีความเฉพาะทางในการทำโซลูชันสำหรับกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะแอปพลิเคชันด้านการให้บริการทางธุรกิจและอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ในประเทศอินโดนีเซีย สตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูลมีจำนวนมากถึง 8 % ในประเทศจีน กลุ่มของสตาร์ทอัพจะมุ่งเน้นทางด้านสุขภาพและไบโอเทค รวมไปถึงด้านอิเล็คทรอนิกส์และภาคการผลิต ความแตกต่างเหล่านี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับระบบนิเวศ และทำให้เห็นว่าเราควรสนับสนุนสตาร์ทอัพให้ตรงจุดและเน้นย้ำการช่วยเหลือในเชิงนโยบายจากภาครัฐ” คุณ Ayumi กล่าวต่อว่า “ในขณะนี้การลงทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคนหมู่มาก (Impact Investment) กำลังเป็นที่นิยม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับเงินลงทุนประเภทนี้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในที่โครงการที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงินขนาดเล็กและพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ หน่วยงานด้านการพัฒนานานาชาติ เช่น United States Agency for International Development (USAIDS) และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) นั้นมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งองค์กรเหล่านั้นได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการลงทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวก”

คุณ Siim Sikkut, Former Government CIO, Estonia Government ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของสตาร์ทอัพในเอสโตเนีย ในหัวข้อ กลยุทธที่สำคัญในการสร้างสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จ ว่า “ปัจจัยแรกคือแนวคิดที่มุ่งเน้นไปที่ตลาดระดับโลก โดยสตาร์ทอัพในเอสโตเนียจะได้รับการสนับสนุนให้มองไปที่ตลาดในระดับโลกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจ ปัจจัยที่สองคือมุ่งเน้นไปที่การมองภาพใหญ่ด้วยความพยายามที่จะ ‘สร้างความปั่นป่วน’ หรือ ‘disruption’ สตาร์ทอัพของเอสโตเนียจะสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนธุรกิจทั้งระบบด้วยนวัตกรรม ปัจจัยที่สามคือการสร้างความเป็นชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับสตาร์ทอัพขนาดเล็กที่ต้องการช่วยเหลือในช่วงแรก ซึ่งปัจจัยนี้มาจากความคิดพื้นฐานที่ว่าสตาร์ทอัพของเอสโตเนียไม่ควรแข่งขันกันเองแต่ควรออกไปแข่งกับโลกทั้งใบ” คุณ Siim ยังแนะนำว่าสตาร์ทอัพในประเทศขนาดเล็กและขนาดกลางไม่ควรที่จะคิดถึงตลาดในประเทศมากนัก ควรจะตั้งเป้าไปที่ตลาด B2B ซึ่งหมายถึงบริษัทใหญ่ ๆ ซึ่งมีศักยภาพในการเข้าไปสู่ตลาดโลก

คุณ Yoshida Takeshi ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ได้กล่าวถึงระบบนิเวศสตาร์ทอัพของญี่ปุ่นว่า “แผนพัฒนาสตาร์ทอัพระยะห้าปีของญี่ปุ่นมีจุดมุ่งหมายไปที่การเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพให้ได้สิบเท่าและเพิ่มมูลค่าของสตาร์ทอัพจาก 900 พันล้านเยนให้ไปสู่ 20 ล้านล้านเยนภายในปีงบประมาณ 2027 และต้องเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพยูนิคอร์นให้ถึง 100 บริษัทและสตาร์ทอัพให้ได้ 100,000 แห่ง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้อัดฉีดงบประมาณถึง 200 ล้านเยนให้กับหน่วยงาน Japan Investment Corporation (JIC) และ 20 พันล้านเยนให้กับ SME Support Japan นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาแผนการสนับสนุนทางการเงินผ่าน New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) และ Japan Agency for Medical Research and Development (AMED) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้สามารถให้เงินลงทุนได้ถึง 2 ใน 3 แก่สตาร์ทอัพที่ทำด้านการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ ยังได้มีมาตรการส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยกับการสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมมาตรการทางภาษีและมาตรการจูงใจต่าง ๆ พร้อมกันนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพกับบรรษัทใหญ่ ๆ ด้วย”

คุณ Jiri Taborsky ผู้จัดการกระบวนการ จาก CzechInvest ได้กล่าวในการบรรยาย ทิศทางของ venture capital และระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในสาธารณรัฐเช็ค ว่า “ปัจจุบันนี้ สาธารณรัฐเช็คมีระบบนิเวศที่เข้มแข็ง มีสถาบันบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการกว่า 50 แห่ง มีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 20 แห่ง มีกองทุนลงทุนกว่า 35 กองและมี coworking space กว่า 130 แห่ง หน่วยงาน CzechInvest ได้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพเกือบ 400 แห่ง โดยสาธารณรัฐเช็คสามารถระดมเงินได้ถึง 1.5 พันล้านยูโรและสามารถส่งสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวที่สี่ให้เข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้ อย่างไรก็ดี สาธารณรัฐเช็คตระหนักว่าจำเป็นต้องจัดการประเด็นปัญหาเรื่องนโยบายวีซ่าและการขาดทักษะการเป็นผู้ประกอบการ พร้อมกับการปรับปรุงการเข้าถึงของเงินทุนเริ่มต้นกิจการด้วย”

นอกจากการบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจของผู้แทนแต่ละประเทศแล้ว ในการประชุมก็ยังได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากสตาร์ทอัพ ในการเพิ่มและสร้างความแข็งแกร่งให้กับความเป็นหุ้นส่วนนานาชาติให้กับระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

———————————————————————