กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัย “อ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวง”

กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัย
“อ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวง” ต.หนองบัวเหนือ อ.เมือง จ.ตาก

วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม 2566 นายสัณห์ เข็มประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์พัฒนาแหล่งน้ำ นายมงคล หลักเมือง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาแหล่งน้ำ นายประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำ 1 และเจ้าหน้าที่พร้อมด้วย รศ. สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ นายจีระศักดิ์ ปราชญ์โกสินทร์ กรรมการบริหารวิชาการ และนายอิทธิพล พสิษฐ์โยธิน คณะอนุกรรมการกำกับดูแลวิศวกรอาสา ลงพื้นที่โครงการ “อ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวง” ต.หนองบัวเหนือ อ.เมือง จ.ตาก เพื่อตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เก็บข้อมูลใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวงให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิศวกรรม เพิ่มขีดความสามารถวิศกรรุ่นใหม่

อ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวง มีลักษณะโครงการเป็นเขื่อนดินถมบดอัดแน่นประเภทเนื้อเดียวพร้อมระบบกระจายน้ำ มีพื้นที่ 494 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ 4 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้มีอาคารระบายน้ำและประตูควบคุมการส่งน้ำ 2 แห่ง ส่งน้ำให้ประชาชนครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 5,625 ไร่ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2541

นายมงคล หลักเมือง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาแหล่งน้ำ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2564 ได้รับแจ้งจากชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นว่ามีการรั่วของน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับขณะนั้นมีฝนตกหนักและปริมาณน้ำฝนมากจนล้น Spillway จึงได้มีการเข้ามาแก้ไขเบื้องต้นมีการทุบ Spillway บางส่วนเพื่อระบายน้ำป้องกันไม่ให้เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและได้ทำการแก้ไขรอยรั่วชั่วคราว

นายสัณห์ เข็มประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์พัฒนาแหล่งน้ำ กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำได้ทำการสำรวจอ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวง ที่มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานพบว่า อาคารระบายน้ำล้น (Spillway) พื้นคอนกรีตด้านรางเทด้านท้ายมีรอยร้าวตามขวาง รอยต่อผนังและรอยต่อพื้นหลุดล่อนบริเวณลาดเขื่อนดินด้านท้ายน้ำมีร่องรอยการยุบตัวและมีการซึมของน้ำทำให้ดินเปียกชื้นเป็นแห่งๆ ในส่วนรางระบายน้ำฝนมีน้ำรั่วซึมทะลุออกจากรอยต่อผนังรางระบายน้ำที่ติดกับ Toe Drain และมีดินทับถม บริเวณอาคารประตูควบคุมการส่งน้ำแห่งที่ 2 บริเวณลาด slope หลังอาคารฯ มีหลุมยุบและมีน้ำรั่วออกมา พบดินตะกอนทับถมในรางระบายน้ำรอบอาคาร นอกจากนี้อาคารประตูควบคุมการส่งน้ำแห่งที่ 2 มีคราบน้ำขังในบ่อวาล์ว มีน้ำรั่วที่บานประตู (Gate Valve) และมีดินตะกอนทับถมในรางระบายน้ำรอบอาคารลาดเขื่อนดิน และบริเวณลาดเขื่อนดินมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นทั้งด้านเหนือน้ำและด้านท้ายน้ำ ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชน

นายประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำ 1 เสริมว่า จากการใช้เครื่องมือเข้ามาตรวจสอบทำให้ทราบว่าคันทางดินเสื่อมสภาพ จึงได้มีแนวทางในการแก้ปัญหา การออกแบบก่อสร้างใหม่โดยกรมทรัพยากรน้ำได้หารือร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งจะมีการประชุมหารือกันในวันที่ 9 กรกฏาคม 2566 นี้ และกรมทรัพยากรน้ำมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร จึงเป็นการดีที่วิศวกรรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากกรมทรัพยากรน้ำ และ
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ

นายจีระศักดิ์ ปราชญ์โกสินทร์ กรรมการบริการวิชาการ วทส. กล่าวว่าลงพื้นที่วันนี้ได้รับทราบข้อมูล และดูพื้นที่จริงที่เกิดรอยรั่ว ก็จะเสนอแนวทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวงในการประชุมที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ นายวุฒินันท์ เพิ่มพูล วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กองพัฒนาแหล่งน้ำ 2 วิศวกรใหม่ของกรมทรัพยากรน้ำ ยังบอกอีกว่า การได้ลงพื้นที่ในการปฏิบัติงานมีประโยชน์อย่างมากสำหรับวิศวกรรุ่นใหม่ ๆ เพราะสามารถเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหลังมีการก่อสร้างและใช้งาน ทำให้สามารถนำปัญหาที่พบไปปรับใช้กับการออกแบบก่อสร้างในครั้งต่อไป