อุดรธานีเปิดศูนย์รวมผ้าไทย กลุ่มจังหวัดสบายดี ส่งเสริมช่องทางการตลาด จัดตั้งศูนย์รวบรวมและจำหน่ายผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก กลุ่มจังหวัดสบายดี”

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เวลา 19.00 น. ณ บริเวณชั้น 1 ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์รวมผ้าไทย กลุ่มจังหวัดสบายดี “ผ้าไทยใส่ให้สนุก กลุ่มจังหวัดสบายดี” โดยนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวต้อนรับ นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นายเจนเจตน์ เจนนาวิน , นายศรัณศักด์ ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายพนม สิงห์สาย พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ร่วมพิธีเปิดงาน

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานี มีกลุ่มทอผ้า จำนวน 507 กลุ่ม สมาชิกกว่า 2,500 คน มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าในปีที่ผ่านมากว่าสามพันล้านบาท และได้ขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา กลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ดำเนินโครงการยกระดับผ้าทอมือจังหวัดอุดรธานี “ธานีผ้าหมี่ขิดสู่สากล”  เพื่อพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ ให้มีศักยภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และความต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ โดยการพัฒนาทั้งระบบ ครบวงจร สอดคล้องกับกรอบแนวคิดสิ่งทอรักษ์โลก BCG Model ตั้งแต่ กระบวนการต้นน้ำ สร้างแหล่งผลิต โดยส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ปลูกคราม ผลิตเส้นไหม  เส้นฝ้ายที่มีคุณภาพ กระบวนการกลางน้ำ สร้างอัตลักษณ์ สร้างมูลค่า โดยส่งเสริมการแปรรูปการออกแบบตัดเย็บ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ การย้อมสีธรรมชาติ การเพิ่มทักษะช่างทอผ้า และ กระบวนการปลายน้ำ สร้างพื้นที่เรียนรู้ สร้างการรับรูสู่สากล พัฒนาศูนย์เรียนรู้ผ้าหมี่ขิด ส่งเสริมช่องทางการตลาด เชื่อมโยงชุมชนแหล่งผลิตกับภายนอกชุมชน โดยกิจกรรมในวันนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมกระบวนการปลายน้ำ ที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกับศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ ได้ดำเนินการส่งเสริมช่องทางการตลาด โดยจัดตั้งศูนย์รวบรวมและจำหน่ายผ้าไทย กลุ่มจังหวัดสบายดี เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้มีการพัฒนาศักยภาพในด้านหัตถกรรมของแต่ละชุมชน และยกระดับขีดความสามารถของภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้มีความทันสมัย รวมถึงเปิดโอกาสให้สินค้าต่าง ๆ ในชุมชน ได้มีการพัฒนา และมีช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้น จากทั้ง 5 จังหวัด ดังนี้

– จังหวัดอุดรธานี เป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นรักษ์โลก จากแบรนด์ หัตตรา (Hattra) อำเภอบ้านผือ  ผ้าหมี่ขิดย้อมสีธรรมชาติ แบรนด์ ธ.มณโฑ อำเภอเมืองอุดรธานี  และกลุ่มทอผ้าไหมขิดบ้านศรีชมชื่น อำเภอหนองวัวซอ
– จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือประยุกต์เข้ากับดีไซน์สมัยใหม่ เป็นแฟชั่นร่วมสมัย จากแบรนด์ขวัญตา
– จังหวัดเลย ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากแบรนด์ มันตราคราฟ (Mantra craft)
– จังหวัดหนองคาย ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแปรรูปแบรนด์มนตราผ้าไทย และผ้ามัดย้อม และย้อมสีมะเดื่อ กลุ่มฝ้ายเดอของ
– จังหวัดบึงกาฬ ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าย้อมโคลนน้ำโขง แบรนด์ดารานาคี

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยการทรงเข้ามาสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน โดยพระราชทานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยได้ทรงนำองค์ความรู้ทางวิชาการ ทั้งเรื่องแฟชั่นสมัยใหม่ ศิลปะ การตลาด ในการพัฒนายกระดับและส่งเสริมคุณค่าของผ้าไทย  และผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย เพื่อต่อลมหายใจให้ผืนผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส ซึ่งเป็นพระอัจฉริยภาพและพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพของการผลิตผ้าไทย การทอผ้าด้วยการใช้สีธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) และหลักวิชาการแฟชั่นสมัยใหม่ การออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัย ซึ่งการเปิดศูนย์รวมผ้าไทย กลุ่มจังหวัดสบายดี ในวันนี้ ถือว่าเป็นการส่งเสริมช่องทางการตลาดเชิงรุก ของผ้าไทยในกลุ่มจังหวัดสบายดี ทั้ง 5 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ และจังหวัดเลย ซึ่งได้นำมาออกแบบให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะวัยรุ่น คนทำงาน จึงเชื่อว่าจะเป็นแหล่งรวมแฟชั่นผ้าไทยสำหรับคนรุ่นใหม่ สามารถสร้างความนิยม เกิดกระแส “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการผ้าไทย ให้มีความยั่งยืนระยะยาว

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวย้ำในช่วงท้ายว่า ขอให้ทุกภาคส่วนได้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงส่งเสริมให้มีการย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และใช้สีธรรมชาติ ในการย้อมผ้า และขอให้ทุกท่านภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการขับเคลื่อนผ้าไทย ให้เกิดความมั่นคงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถยกระดับทั้งผ้าไทยและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนควบคู่กันไป ฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ที่กำลังจะสูญหายให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างชีวิตที่ดีให้กับชุมชน รวมถึงส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนดำเนินกิจกรรมทุกอย่าง โดยคำนึงถึงความยั่งยืน ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนเป็น “หมู่บ้านและชุมชนยั่งยืน”

ภาพ:ข่าว สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี

#MOI
#กระทรวงมหาดไทย
#บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#กรมการพัฒนาชุมชน
#SDGsforAll
#ChangeforGood
#ผ้าไทยใส่ให้สนุก
#สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี