อธิบดียผ. เร่งบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวทางผังภูมิสังคม

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่าผังภูมิสังคมเป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและสังคมวิทยาซึ่งจัดทำขึ้นด้วยกระบวกการมีส่วนร่วมของประชาชนพื้นที่การพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้คือหลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐ เข้าไปแนะนำเข้าไปช่วยอธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ แล้วให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดช่วยกันดูว่าต้องการอะไรจริงๆ และให้เขียนบันทึกลงในผังภูมิสังคมเพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐ นำไปใช้วางแผนงานโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืนเนื่องจากเป็นโครงการและกิจกรรมที่ตนมีส่วนร่วม โดยมีจังหวัดที่ได้นำผังภูมิสังคมฯ ดำเนินการแล้ว ดังนี้

จังหวัดพิจิตร นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เน้นย้ำ โครงการนำร่องการดำเนินงานจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงบัว เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบึงบัว และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิจิตร ดำเนินโครงการขุดดินเปิดทางน้ำพร้อมวางท่อระบายน้ำ ในพื้นที่เกษตรกรรม ณ บริเวณ หมู่ที่ 8 บ้านดงยาง ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี โดยโครงการดังกล่าว ได้มีการขุดคลองปากคลองกว้าง 3 เมตร ลึก 2 เมตร ก้นคลองกว้าง 1 เมตร ยาว 1,070 เมตร พร้อมวางท่อคอนกรีต ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 2 แห่ง โดยจุดประสงค์ของโครงการดังกล่าวเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นคลองระบายน้ำในฤดูฝน และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง

จังหวัดปัตตานี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กำชับส่วนราชการนำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) มาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบานา คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบานา คณะทำงานระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ภาคีเครือข่ายประชาชน และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี ดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณะ บริเวณหมู่ที่ ๑๑ ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ความกว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร ระยะทางประมาณ ๔๐๐ เมตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน

จังหวัดสระบุรี นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เร่งหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) จังหวัดสระบุรี “โครงการขุดลอกคลองและกำจัดวัชพืช” เพื่อให้สามารถรองรับน้ำ และสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ในฤดูฝนนี้ และเป็นการป้องกันไม่ให้พื้นที่เกิดน้ำท่วมขังในบริเวณต่าง ๆ โดยมีพื้นที่ดำเนินการดังนี้ 1. ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาโฉง อำเภอเมืองสระบุรี 2. ตำบลหรเทพ และตำบลโคกใหญ่ อำเภอบ้านหมอ และ 3.ตำบลห้วยป่าหวาย อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี อำเภอเมืองสระบุรี ภาคีเครือข่าย และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสระบุรี

 

นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กำชับหน่วยงานดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคม (Geo-social Map) : การจัดกิจกรรมจิตอาสาโครงการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บริเวณคลองละหาร หมู่ที่ 2 บ้านบันนังลูวา ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา มีพื้นที่รวมประมาณ 18,180 ตารางเมตร ปริมาณผักตบชวาและวัชพืชประมาณ 565 ตัน และพื้นที่ บริเวณวังสามพี่น้อง หมู่ที่ 4 บ้านทำเนียบ ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา มีพื้นที่รวมประมาณ 1,160 ตารางเมตร และปริมาณผักตบชวาและวัชพืชประมาณ 50 ตัน เป็นโครงการที่ไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ เพื่อกำจัดผักตบชวาและวัชพืช และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูฝน โดยจิตอาสา 904 ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ภาคเอกชน ส่วนราชการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฯ องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ เจ้าหน้าที่ฯ องค์การบริหารส่วนตำบลลำพะยา และเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดยะลา เข้าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน

นายชยันต์  ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคม (Geo-social Map) โดยโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครสวรรค์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนโครงการขุดคลอง กำจัดผักตบชวาและวัชพืช ในคลองสาธารณะ (คลองโพธิ์) ความกว้างคลองประมาณ 15 เมตร ความลึกคลอง 5 เมตร ความกว้างก้นคลอง 5 เมตร ความยาวตลอดคลอง 500 เมตร เพื่อให้เพิ่มประสิทธิภาพการะบายน้ำ และการป้องกันไม่ให้พื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง บริเวณชุมชนชอนตะวัน ตำบลนครสวรรค์ตก อำเมืองนครสวรรค์

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการโดยอาศัยกลไกความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำงานแบบบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ถือเป็นโครงการนำร่องเป็นต้นแบบ และตัวอย่างที่ดีให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป