“ตระการตาผ้าถิ่นเมืองลุง” ผู้ว่าฯ พัทลุง นำพี่น้องสตรี 999 คน ร่วมสวมใส่ผ้าไทยผ้าพื้นถิ่นพัทลุง รำบวงสรวงสมโภชพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ

“ตระการตาผ้าถิ่นเมืองลุง” ผู้ว่าฯ พัทลุง นำพี่น้องสตรี 999 คน ร่วมสวมใส่ผ้าไทยผ้าพื้นถิ่นพัทลุง รำบวงสรวงสมโภชพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความเป็นสิริมงคล
.
วันนี้ (10 มิ.ย. 66) เวลา 08.30 น. ณ บริเวณศาลาจตุรมุข อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และผู้นำสตรีชาวจังหวัดพัทลุงและภาคีเครือข่ายรวม 999 คน จาก 11 อำเภอ ร่วมสวมใส่ผ้าไทยผ้าพื้นถิ่นในพิธีบวงสรวงพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และความเป็นสิริมงคลของประชาชนชาวจังหวัดพัทลุง

นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ นับเนื่องไปเมื่อ 55 ปีก่อน คือปีพุทธศักราช 2511 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้และเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพัทลุง โดยพระพุทธรูปองค์นี้ ประชาชนชาวพัทลุงและจังหวัดต่าง ๆ รู้จักกันในชื่อ “พระพุทธรูปสี่มุมเมือง” และได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ภายในศาลาจตุรมุข บริเวณด้านหน้าระหว่างศาลากลางจังหวัดกับศาลจังหวัดพัทลุง มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด ปางสมาธิ นอกจากนี้ ได้พระราชทานไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่าง ๆ ตามทิศทั้งสี่ของประเทศไทย ได้แก่ ทิศเหนือ ณ ศาลหลักเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ทิศใต้ ณ จังหวัดพัทลุง ทิศตะวันออก ณ วัดศาลาแดง จังหวัดสระบุรี และทิศตะวันตก ณ เขาแก่นจันทน์ จังหวัดราชบุรี นับเป็นสิริมงคลแก่ปวงชนชาวไทย

“จังหวัดพัทลุง ได้จัดให้มีพิธีบวงสรวง “พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” เป็นประจำทุกปี และถือเป็นประเพณีที่มีความสำคัญยิ่งของจังหวัดพัทลุง โดยในปีนี้ จังหวัดพัทลุงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทอผ้าที่ถือเป็นอาชีพที่สำคัญของสตรีชาวพัทลุง จึงได้น้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อต่อลมหายใจให้ผืนผ้าไทย ทำให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้า ได้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากภูมิปัญญา หัตถศิลป์ หัตถกรรม ที่สืบสานถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ผสมผสานต่อยอดด้วยหลักวิชาการแฟชั่นสมัยใหม่ให้ตรงตามความต้องการของตลาด สอดคล้องกับความนิยมชมชอบของประชาชน เป็นผลงานที่ร่วมสมัย ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความสุขให้กับครอบครัว ชุมชน เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ และนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ในโอกาสเสด็จทรงงาน ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ด้วยทรงมีความรัก ความผูกพัน และความห่วงใยราษฎรของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีวิถีชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศ” ผวจ.พัทลุง กล่าว

นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผ้าพื้นเมืองของจังหวัดพัทลุง ซึ่งได้รับการสืบสานและต่อยอดมาถึงชาวพัทลุงในยุคปัจจุบันมี 3 ประเภท ได้แก่ 1) ผ้าทอ ยกดอก มีลักษณะ คือ ผ้าที่มีลวดลายนูนเด่นกว่าส่วนที่เป็นพื้นผ้า การทอผ้ายกดอกจะต้องเตรียมเส้นยืนโดยการก่อเขา หรือเก็บตะกอลายผ้า เพื่อยกหรือดึงเส้นยืนบางส่วนขึ้นและข่มหรือดึงเส้นยืนบางส่วนลง ทำให้เกิดช่องว่างสำหรับพุ่งกระสวยเข้าไปสานขัดกับเส้นยืน ผ้าทอยกดอกจะมีเขาหรือตะกอตั้งแต่สี่เขา หรือสี่ตะกอขึ้นไป จำนวนเขาหรือตะกอขึ้นอยู่กับความละเอียดซับซ้อนของลวดลายผ้า ซึ่งผ้าทอยกดอกของจังหวัดพัทลุงที่มีชื่อเสียง อาทิ ผ้าทอแพรกหา และผ้าทอลานข่อย เป็นต้น 2) ผ้ามัดย้อม เกิดจากการนำ “คราม” สีจากพืชจากธรรมชาติ โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน นำมาผ่านการบีบ ผ่านการคั้น ผ่านความตั้งใจ ผ่านการนวด ความทุ่มเท การเรียนรู้ ใส่ความคิด ความสร้างสรรค์ โดยการทำผ้ามัดย้อม โดยใช้ครามเป็นวัสดุในการทำสีผ้า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์มีลวดลายผ้าที่หลากหลาย ทั้งนี้ ในส่วนของสีธรรมชาติได้จากต้นไม้ ได้แก่ ราก แก่น เปลือก ต้น ผล ดอก เมล็ด ใบ เป็นต้น หรือสีที่ได้จากการสกัด ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดให้โทนสีต่างกัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของต้นไม้นั้น ๆ และ 3. ผ้าบาติก ที่ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าบาติก คือ ศิลปหัตถกรรมบนผืนผ้าอันงดงาม เกิดจากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เขียนลวดลายสีสันและเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมความเป็นชาติ ทั้งนี้ ภูมิปัญญาไทยของผ้าบาติกพัทลุง คือ การประยุกต์เอา คอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้ในการออกแบบลวดลายผ้าบาติก และสร้างกระแสแฟชั่นผ้าบาติกพื้นบ้านให้มีความโดดเด่นขึ้นโดยการใช้สีธรรมชาติเดิมและทำให้สีนั้นดูฉูดฉาดมากขึ้น เพื่อให้ดูมีราคาและทันสมัยขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น
.
นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวในช่วงสุดท้ายว่า จังหวัดพัทลุงมุ่งมั่นในการสนับสนุนและเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าพื้นถิ่นไทยให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ผ่านกิจกรรมส่งเสริมด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและกระตุ้นให้เกิดค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยก่อเกิดเป็นรายได้กระจายสู่ชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

#ผ้าไทยให้สนุก #GlobalSoilPartnership
#UNFAO #CDD #SEPtoSDGs