ประวิตร ดัน พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก กระตุ้น ท่องเที่ยวเศรษฐกิจ

27 เมษายน 2566 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 1/2566 และคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนา กรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2566 ผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และห้องประชุมสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่ประชุม ได้พิจารณาเห็นชอบให้นำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เป็นแหล่งมรดกโลก เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ความรัก ความหวงแหน และความสนใจในฐานะแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของประเทศที่ได้รับการยกย่อง รวมทั้งสร้างแรงจูงใจในการท่องเที่ยวและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กับชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรง และทางอ้อมด้วย

โดยพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันฝั่งตะวันตกของไทย ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระนอง พังงา และภูเก็ต ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง และอุทยานแห่งชาติสิรินาถ (เฉพาะทะเลและพื้นที่ชายฝั่งทะเล) และพื้นที่สงวนชีวมณฑล และป่าชายเลนระนอง นำเสนอขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ตามคุณค่าความโดดเด่นในระดับสากล 3 ประการ ได้แก่ 1) ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความงดงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้ 2) มีกระบวนการทางนิเวศวิทยาและชีววิทยาที่มีลักษณะสลับซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ 3) มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญและหาได้ยากยิ่ง
นอกจากนี้ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้ผลักดันการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา ในระหว่างวันที่10 – 25 กันยายน 2566 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ส่วนการประชุม คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ที่ประชุมได้เห็นชอบกลไกการบริหารจัดการการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าความสำคัญ เพื่อนำไปต่อยอดการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง ส่งเสริม และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ที่คำนึงถึงการอนุรักษ์และพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อดำรงคุณค่ามรดกวัฒนธรรมสืบไป

โดยเห็นชอบในหลักการ ๑) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก): สถานีบางขุนพรหม ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์อาคารที่มีคุณค่าเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ และ ๒) เร่งขับเคลื่อนให้ 12 เมืองเก่า (ได้แก่ เมืองเก่ากำแพงเพชร ตะกั่วป่า เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ยะลา นราธิวาส พิษณุโลก ร้อยเอ็ด อุทัยธานี ตรัง และฉะเชิงเทรา) ดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าอย่างมีส่วนร่วม โดยขอรับงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้จังหวัดมีแผนปฏิบัติการฯ โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เมืองเก่า