ปลัด มท. นำประชุมคณะทำงานด้านกฎหมายกระทรวงมหาดไทย มุ่งพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ

ปลัด มท. นำประชุมคณะทำงานด้านกฎหมายกระทรวงมหาดไทย มุ่งพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานให้ทันสมัย ดังปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” สนองตอบความต้องการของพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08.00 น. ที่ห้องประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ชั้น 6 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมการพัฒนากฎหมายและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย โดยมี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าหน่วยงานด้านกฎหมายของกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการหารือร่วมกันของคณะทำงานที่เป็นผู้แทนของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาว่ากฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยฉบับใดที่ควรต้องปรับปรุง แก้ไข หรือยกร่างใหม่ เพื่อทำให้กระทรวงมหาดไทย สามารถขับเคลื่อนงานดังปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” มุ่งบรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง “ระเบียบกฎหมาย” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้กระทรวงมหาดไทยสามารถปฏิบัติตามภารกิจความรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่ อันจะทำให้ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยใช้เป็นกลไกในการทำงานเพื่อน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ทุกกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้เร่งดำเนินการทบทวนกฎหมายทุกระดับที่กำกับการทำงานตามความรับผิดชอบของกรม รวมถึงกฎหมายลูก ทั้งกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่ามีฉบับใดที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย หรือ กฎหมายที่เป็นคุณอย่างเดียว ก็ให้ดำเนินการหาทางแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องสอดรับกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน และทำให้เกิดการส่งเสริมพี่น้องประชาชนได้มีความอยู่ดี กินดี มีกฎ กติกาที่จะทำให้สังคมเกิดความผาสุก และหากกฎหมายฉบับใดที่ดีอยู่แล้ว ก็คงไว้ ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานทุกฝ่ายภายในกระทรวงมหาดไทยนี้ จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อน ส่งเสริมให้เกิดการ Change for Good ด้วยกลไกของกฎหมายให้เกิดขึ้น

“และนอกจากการประเมินผลสัมฤทธิ์และทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้วนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยหน่วยงานด้านกฎหมายของแต่ละกรม จะต้องตั้งคณะทำงานเชิงรุก เพื่อคอยสอดส่องติดตามประเด็นต่าง ๆ ในสังคม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake Holder) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายภายใต้ความรับผิดชอบของแต่ละกรม เพื่อให้สามารถดำเนินการด้านการจัดการทบทวน ประเมิน แก้ไข ได้อย่างทันท่วงที เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อสนองตอบความต้องการของพี่น้องประชาชนตามบริบทสังคมไทยได้อย่างถูกต้องและเป็นรูปธรรม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ด้านนายยงยุทธ ชื้นประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติในความรับผิดชอบ รวมประมาณ 161 ฉบับ จำแนกเป็นในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง 97 ฉบับ กรมที่ดิน 9 ฉบับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1 ฉบับ กรมโยธาธิการและผังเมือง 7 ฉบับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 35 ฉบับ การประปานครหลวง 2 ฉบับ การประปาส่วนภูมิภาค 1 ฉบับ การไฟฟ้านครหลวง 1 ฉบับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1 ฉบับ และกรุงเทพมหานคร 7 ฉบับ นอกจากนี้มีกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ข้อบัญญัติ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่ง รวมกว่า 898 ฉบับ โดยในปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การประกาศรายชื่อกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย การจัดทำคำอธิบายและคำแปลของกฎหมาย และการเผยแพร่ข้อมูลกฎหมายและกฎเกณฑ์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนาม ออกตามความในมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยให้แล้วเสร็จทุกฉบับภายในปี 2568 เพื่อทำให้กฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย สามารถขับเคลื่อนภารกิจในการทำให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุข สังคมมีความผาสุก อย่างยั่งยืน