เปิดใจ ปลัด มหาดไทย พร้อมขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน Sustainable Village เฉลิมพระเกียรติ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึง โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน Sustainable Village เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวาระที่พระองค์ท่านทรงเจริญ พระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 ทางกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ กรมการปกครอง โดยสํานักบริหารการปกครองท้องที่ได้น้อมนําแนวพระดําริเรื่อง “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ของพระองค์มาดําเนินการขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อน เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการน้อมนําหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง

ปลัด มท.ระบุถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงประทานแนวพระดำริ เรื่องการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืนให้กับทางปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ท่านที่วังศุโขทัย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และทรงพระราชทานแนวทางมาต่อเนื่อง ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่พระองค์ท่านทรงเสด็จ ลงพื้นที่บ้านดอนกลอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หรือ’ดอนกอยโมเดล’ ครั้งแรก ซึ่งเปรียบเสมือนการพุ่งเป้าเน้นไปที่เรื่องการพัฒนาให้พี่น้องประชาชนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกลอย ให้มีองค์ความรู้และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาฝีมือและทำให้ผ้ามีความสวยงามเพิ่มเติม รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการ โดยการเลิกใช้สารเคมีและหันมาใช้สีจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้เป็นกุศโลบายที่สำคัญที่ทรงแสดงให้เห็น ถึงความยั่งยืนและช่วยลดภาวะโลกร้อน สามารถพัฒนาให้ประชาชนมีรายได้ จากการรวมกลุ่มทอผ้า จากเดิมที่ชาวบ้านมีรายได้เดือนละ 700 บาทต่อคนต่อเดือนปรากฎว่า 3 เดือนผ่านไปกลายเป็นว่า ชาวบ้านมีรายได้เดือนละ 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน จนผ่านมาถึงวันนี้ชาวบ้านมีรายได้ถึงเดือนละ 14,000 บาท ต่อคนต่อเดือน
นอกจากนี้พระองค์ท่านทรงได้มีรับสั่งเพิ่มเติมเรื่องของหมู่บ้านยั่งยืนขึ้นมา เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าเมื่อประชาชนมีอาชีพมีรายได้ และอาชีพนี้ยั่งยืนด้วย เนื่องจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถพึ่งพาตัวเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ท่านเลยได้พระราชทานหนังสือ Sustainable city เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ที่พระองค์ทรงซื้อมาจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันท่านทรงมีรับสั่ง ว่าให้ช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านให้เป็น Sustainable Village ให้เป็นหมู่บ้านที่ยั่งยืน ทรงอรรถาธิบายว่าการจะเป็นหมู่บ้านที่ยั่งยืนได้ พื้นที่ของทุกครัวเรือน ต้องน้อมนำเอาแนวพระดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่วนเรื่องของอาชีพให้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้วัตถุดิบ หรือสิ่งที่จะนำไปประกอบอาชีพ มีความพยายามขวนขวายทำด้วยตนเอง เช่นเรื่องทำผ้าก็ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยตัวเอง ปลูกฝ้ายเอง ปลูกไม้ที่ให้สีธรรมชาติเอง รวมไปจนถึงโครงการบริหารจัดการขยะ คัดแยกขยะ การทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อเป็นการจำลองให้เห็นภาพรวมของหมู่บ้านทุกครัวเรือนจะต้องช่วยกันทำในการพึ่งพาตนเอง ถึงจะทำให้เกิดภาพรวมที่ดี ควบคู่ไปกับการดูแลบุตรหลานให้ได้รับการศึกษา ได้รับการปลูกฝังในการพึ่งพาตนเองการรักษา สิ่งแวดล้อม การถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาต่างๆที่มีอยู่จากรุ่นสู่รุ่น พูดง่ายๆก็คือว่าจะทำอย่างไรให้คนทุกคนในหมู่บ้านเป็นมนุษย์ที่เข้มแข็งเป็นบัวพ้นน้ำ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทางผม และ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม จากนั้นมีการคุยกันว่า การขับเคลื่อนงานให้เกิดผลสำเร็จ เราก็หวังให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน ซึ่งถือว่าตรงกับสิ่งที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้เคยลงนาม MOU กับ สหประชาชาติ ประจำประเทศไทย UN ในการให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน ถือว่าเป็นเรื่องที่สอดรับตรงกัน ระหว่าง คำมั่นสัญญาที่เราให้ไว้กับ Un ในเรื่องของการมุ่งการพัฒนาที่พุ่งเป้าป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง17ข้อ

นายสุทธิพงษ์ ระบุด้วยว่า พวกเราพยายามที่จะปลุกเร้าให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนึกอยู่เสมอว่า เราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราต้องมี passion ในการที่ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกัน เราได้พยายามย้ำให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ปลุกเร้าและได้ดำเนินการสั่งการไปปรับใช้โดยให้ท่านนายอำเภอลุกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอำเภอ เพื่อที่จะบริหารจัดการและนำการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปให้ได้ ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ได้รวมเอางานของกระทรวงทุกกระทรวง ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งหมด โดยที่อำเภอนั้นๆท่านนายอำเภอจะต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ เราก็เลยได้พูดคุยกันในหมู่ผู้บริหารของกระทรวง ที่มีการเรียกประชุมกัน 2 สัปดาห์/ครั้ง หารือนอกรอบจนได้ข้อสรุปตรงกันว่าผู้ว่านายอำเภอเป็น Key success ของเรา ต้องทำให้ท่านผู้ว่าท่าน/นายอำเภอไปสร้างทีมการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนโดยนำเอาภาคีเครือข่ายทั้ง 7 เครือข่าย มาร่วมทีมขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน ทีมเหล่านี้เป็นทีมประจำถิ่นประจำคนเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมีการวางรากฐานให้อยู่กับชาวบ้าน

ส่วนในเรื่องของหมู่บ้านยั่งยืนเราก็พูดคุยกันว่าเราควรจะคัดเลือกหมู่บ้านประเภทไหนบ้าง คำตอบก็คือเราต้องดูแลคนที่อ่อนแอที่สุดก่อน เพราะฉะนั้นเราเลยกำหนดว่าให้นายอำเภอไปคัดเลือกหมู่บ้านของทุกตำบลเอามาตำบลละ 1 หมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านที่แย่ที่สุด ของแต่ละตำบลเอามาเป็นพื้นที่เป้าหมาย ที่จะลงไปทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการให้พี่น้องประชาชนมีความเข้มแข็งมีการน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิต ให้ทุกภาคส่วนจับมือร่วมกันและทุ่มเทในการทำงานเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีเกิดขึ้น ถือเป็นความโชคดีว่า วันที่ 8 มกราคม 2566 นี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา เราเลยได้กราบพระบาทและขอพระราชานุญาตจากพระองค์ ท่านเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประทับรับรอง ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่พระองค์ท่านทรงเสด็จมาในงานประธานรางวัล ผู้ชนะเลิศผ้าไทย โดยมีผมและท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และข้าราชการในพระองค์ท่านผู้สนองงานตามโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เราได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต ว่าที่พระองค์ท่านทรงได้วางแนวทางพระราชทานแนวทางเรื่องหมู่บ้านยั่งยืน ทางกระทรวงมหาดไทยจะขอทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติโดยการนำหมู่บ้านที่แย่ที่สุด ซึ่งหมายความว่าดัชนีการพัฒนาอาจจะต่ำกว่าหมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งผมเพิ่งได้ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม เพื่อให้ทุกจังหวัดทุกอำเภอ รับกระแสพระราชดำริ ขับเคลื่อนเป้าหมายที่เราขอให้ทำหมู่บ้านที่แย่ที่สุดของแต่ละตำบล เราก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนลุกขึ้นมาดูแลครอบครัวดูแลชุมชนดูแลสังคมด้วยตนเองอย่างน้อยที่สุด 7,800 กว่าหมู่บ้าน บวกกับ เทศบาลและท้องถิ่นที่เราขอชุมชนละ แห่งละ 1 ชุมชน ภายในกรอบระยะเวลาครึ่งปี น่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และนี่ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ที่ล้ำค่าที่สุด ภายใต้แรงบันดาลใจที่เราได้รับแนวพระราชดำริจากจากพระองค์ท่าน