พร้อมปรับตัวให้ก้าวไปให้ทันในยุคระบบ Industry 4.0 หรือยัง

หากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยที่โลกรู้จักเครื่องจักรไอน้ำ ถ่านหิน จนแปรเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรมเมื่อ ค.ศ. 1760 หรือ พ.ศ. 2303 อาจกล่าวได้ว่าอีกราว 260 ปีต่อมา ปัจจุบันคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ ระบบ Industry 4.0 ซึ่งมาพร้อมกับนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งยุคอย่าง IoT และ AI  ที่มาช่วยยกระดับระบบการผลิตระดับอุตสาหกรรมให้ก้าวล้ำหน้ามากยิ่งขึ้น มีอะไรน่าสนใจกันบ้าง ลองไปดูกัน

 

ก่อนจะก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือระบบ Industry 4.0 ลองมาเท้าความกันสั้น ๆ ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมามีอะไรที่เข้ามาช่วยให้โลกแห่งอุตสาหกรรมการผลิตพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ช่วงประมาณ ค.ศ.1760-1850 เพราะโลกรู้จักกับเหล็กและเครื่องจักรไอน้ำจากพลังงานถ่านหิน จึงเกิดการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจพึ่งพาแรงงานคนและสัตว์เป็นหลักสู่การใช้เครื่องจักร โดยเริ่มในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นกระบวนการในโรงงานขนาดเล็ก จากนั้นจึงค่อย ๆ ตามมาด้วยอุตสาหกรรมเหล็ก การทำเหมืองแร่ การคมนาคมขนส่ง
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ช่วงประมาณ ค.ศ. 1871-1914 เรียกว่าเป็นยุคเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ เป็นยุคพลังงานจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า โรงงานมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการพัฒนาสายการผลิตแบบสายพานแบบ Mass Production ผนวกกับเครือข่ายทางรถไฟและโทรเลขที่แผ่ขยายมากยิ่งขึ้น จึงเกิดการเดินทางคมนาคมและติดต่อสื่อสารมากยิ่งขึ้น
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มีการนำเอา IT และคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ ระบบ Industry 4.0 เมื่อประมาณ ค.ศ. 2011 ล้ำหน้ายิ่งกว่าด้วยการนำเอาโลกของอุตสาหกรรมการผลิตมาเชื่อมต่อกับเครือข่ายระบบ IoT (Internet of Things) ทำให้ทุกกระบวนการผลิตสินค้าเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล และใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยให้งานผลิตสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นอีกด้วย

 

พร้อมปรับตัวหรือยังในยุคระบบ Industry 4.0

ลองมาดูกันว่า IoT และ AI ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญในอุตสาหกรรม 4.0 จนยกระดับให้โรงงานอุตสาหกรรมกลายเป็น Smart Factory บ้าง

  • Big Data and Advanced Analytics คลังข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง ช่วยให้สามารถนำข้อมูลมาใช้งานในการวางแผนระบบและปรับเปลี่ยนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และตอกย้ำความเป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยการรวบรวมข้อมูลผ่านระบบ Cloud ที่เชื่อมต่อคลังข้อมูลและการทำงานของเครื่องจักรกลให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้แบบเรียลไทม์ ทุกที่ ทุกเวลา และหากปรับให้ทุกระบบเข้าถึงกันได้กับ SCADA system ก็จะทำให้สามารถควบคุมการผลิต และตรวจสอบสถานะจากระยะไกลได้อีกด้วย
  • Power measuring Module การวัดปริมาณการใช้พลังงานที่แม่นยำแบบวินาทีต่อวินาที และมีฟังก์ชันที่สามารถระบุอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานสูงพร้อมบอกระยะเวลา ทำให้สามารถวางแผนปรับปรุงระบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกพลังงานที่เสียไป จึงเป็นหนึ่งใน Energy Saving Solution ที่น่าสนใจอย่างมาก

นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวจากศักยภาพอันมหาศาลที่ IoT และ AI สามารถทำได้ ยังไม่นับเรื่องแบบจำลองสถานการณ์หรือหุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่ทำให้ทุกสายการผลิตในระบบ Industry 4.0 ก้าวล้ำนำสมัยและโดดเด่นยิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และการประหยัดต้นทุนที่เห็นผลจริง คงต้องถามใจผู้ประกอบการแล้วว่า พร้อมเปลี่ยนแปลงและก้าวไปด้วยกันกับยุคอุตสาหกรรมดิจิทัลแล้วหรือยัง