ปมท.ย้ำปัญหายาเสพติดแก้ได้ถ้าทุกคนช่วยกัน เผยบูรณาการร่วมทุกฝ่าย ยกระดับเข้ม! เอาจริงตัด Demand / Supply

ปมท. ย้ำปัญหายาเสพติดแก้ได้ถ้าทุกคนช่วยกัน เผย มท.บูรณาการร่วมกับทุกฝ่าย ใช้กลไกโต๊ะยาเสพติด เพิ่มระดับความเข้มข้น พร้อมเอาจริงตัด Demand และ Supply อย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (27 ธ.ค. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติดอย่างยิ่ง และได้มีการประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนของชาติ ที่จะต้องแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไปอย่างเร็วที่สุด กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงหนึ่งที่มีภารกิจสำคัญ และมีนโยบายชัดเจนในการประกาศสงครามกับยาเสพติด และสั่งการให้เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการต่าง ๆ ทั้งมาตรการป้องกัน มาตรการปราบปราม มาตรการบำบัดรักษา หรือการสั่งการให้ Re X-Ray ทุกพื้นที่ สำรวจจำนวนผู้เสพและผู้ค้า เพื่อดำเนินการจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเคลีย คัด ชัดเจน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 โดยสามารถรับชมย้อนหลังได้ลิงค์ https://fb.watch/hB6N21wCDt/?mibextid=v7YzmG

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงที่ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นผู้นำในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ขับเคลื่อนเรื่องยาเสพติด ซึ่งในอดีตเคยการทำสงครามกับยาเสพติดและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แม้บางช่วงอาจจะเหมือนกับผ่อนปรนบ้าง จนกระทั่งเกิดเหตุเศร้าสลดที่ จ.หนองบัวลำภู ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักและเห็นความสำคัญของแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ปปส. ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข ภาควิชาการ พระสงฆ์ และเครือข่ายอื่น ๆ รวมถึงพี่น้องประชาชน ประกาศทำสงครามกับยาเสพติด เพื่อนำความสงบสุขคืนสู่พี่น้องประชาชน เป็นการแก้ไขสิ่งผิดที่สังคมเป็นอยู่ โดยตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ตุลาคม 2565 กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชน ร่วมกัน Re X-Ray ทุกพื้นที่ 76 จังหวัด 878 อำเภอ พบรายชื่อผู้เสพประมาณ 120,000 คน และรายชื่อผู้ค้า ประมาณ 18,000 คน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า ในส่วนการลด Supply ยาเสพติดของผู้ค้า 18,000 ราย จะต้องใช้กลไก “โต๊ะข่าวยาเสพติด” เพื่อนำข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในพื้นที่ มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันพร้อมหาทางจับกุมผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาสามารถจับกุมบุคคลในบัญชีผู้ค้าที่ Re X-Ray ได้เกือบ 1,000 คน ทั้งนี้ ในจำนวนนี้มีผู้ค้าที่อยู่นอกบัญชีถูกจับกุมด้วย ทำให้เห็นได้ชัดว่าจะต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และทำการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง จึงขอเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดมีการประชุมโต๊ะข่าวทุกสัปดาห์ และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ค้าอย่างเด็ดขาด ในส่วนของการช่วยเหลือผู้เสพ หรือผู้ป่วยยาเสพติด 120,000 คน กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดกระบวนการบำบัดรักษา และฟื้นฟูเป็นระยะเวลา 15 วันต่อคน โดยเทียบเคียงวิธีการมาจากการถอดบทเรียนจากจังหวัดชุมพร และโมลเดลของวัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี ซึ่งระยะเวลาที่รักษาแล้วได้ผลดี คือ ระยะเวลา 15 วัน โดย 7 วันแรก เป็น 7 วันที่สำคัญ จะต้องสร้างพลังใจให้ผู้เสพในการตัดขาดจากยาเสพติด และช่วง 8 วันหลัง เป็นระยะเวลาของการสร้างภูมิคุ้มกันให้สามารถตัดขาดยาเสพติดได้อย่างถาวร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ โปรแกรมช่วยเสริมสร้างความรู้สึกมีคุณค่าต่อสังคมให้แก่ผู้รับการบำบัดด้วย สามารถทำกิจกรรมหรืออาชีพที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น การอบรมเรื่องของการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ การทำไข่เค็ม การทำแปรรูปสินค้า ประกอบกับการฝึกวินัยในการออกกำลังกาย สร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย รวมถึงใส่โปรแกรมวิชาชีพที่สามารถกลับไปทำด้วยตนเองที่บ้านได้ หรือเป็นเจ้าของกิจการได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ดำเนินการของบกลางจากรัฐบาล เพื่อสร้างศูนย์บำบัดผู้เสพแล้ว จำนวน 900 ล้านบาท สำหรับ 100,000 คน รุ่นละ 15 วัน กระทรวงมหาดไทยวางแผนเปิดศูนย์พร้อมกันทั่วประเทศ 1,000 ศูนย์บำบัด รุ่นละ 50 คน บำบัด 15 วัน ผู้เสพจะสามารถเข้าโปรแกรมได้ 50,000 คน ดังนั้น ภายใน 2 เดือน จะสามารถคืนคนดีให้กับสังคมได้ จำนวน 100,000 คน และอีก 20,000 กว่าคน กระทรวงมหาดไทยร่วมมือกับท้องถิ่นท้องที่ ภาคราชการ ภาคเอกชน จัดโปรแกรมให้ คือ ระหว่างรองบประมาณตั้งศูนย์บำบัด ได้เริ่มดำเนินการบำบัดแล้ว

“กระทรวงมหาดไทยตั้งเป้าหมายว่า จะสามารถบำบัดผู้เสพตามรายชื่อ 120,000 คน ให้สำเร็จและสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อน โดยเฉพาะครอบครัว พ่อ แม่ ลูก เมีย ซึ่งเป้าหมายการตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟู 1,000 ศูนย์ คือ ภายในจังหวัดมี 1 ศูนย์ และทุกอำเภอต้องมีอย่างน้อย 1 ศูนย์ เป็นศูนย์ฟื้นฟู และทำหน้าที่บำบัดรักษาด้วย สิ่งสำคัญ คือ การใช้ชุมชนบำบัดช่วยให้ได้ผลดี คือ ได้กำลังใจจากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ญาติมิตร และที่สำคัญไม่ต้องทำให้คนต่างถิ่นเจอกับคนต่างถิ่น การจัดให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดที่ศูนย์บำบัดใกล้บ้านจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกสิ่งคือ ภูมิคุ้มกันภายใน หรือ สัจจะที่ให้กับพระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพ หรือพ่อแม่ การบำบัดได้ผลดี อยู่ที่พลังจิต อยู่ที่จิตใจ จะเลิกได้หรือไม่ได้ จิตใจสำคัญ จิตใจต้องเข้มแข็ง และขึ้นอยู่กับคนรอบข้างด้วย จึงต้องมี 2 ส่วนประกอบกัน ควบคู่กับทีมติดตาม ซึ่งประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามคอยให้กำลังใจ” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้อธิบายต่อว่า ในด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดคนไทยสิ่งสำคัญ นอกจากการสนับสนุนให้มีเรื่องของการตรวจหาสารยาเสพติด เช่น การตั้งด่าน การสุ่มตรวจ เพื่อป้องปรามแล้วคือ การสร้างความตระหนักรู้ให้เด็ก และเยาวชน มีภูมิคุ้มกันต่อยาเสพติด ครูและอาจารย์ต้องช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของลูกศิษย์สุ่มเสี่ยงติดยาเสพติดหรือไม่ ขาดเรียนหรือไม่ และจัดโปรแกรมไปเยี่ยมผู้ปกครอง ซึ่งพี่น้องประชาชนคนไทยยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ ส่วนพระองค์นำร่อง ตั้งกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านช่วยกันดูแลลูกหลาน และคนในสังคม ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงการจัดกิจกรรมในสถานศึกษา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยกิจกรรมในลักษณะของ TO BE NUMBER ONE เพื่อนช่วยเพื่อน หรือ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยจัดกิจกรรมทำให้สังคมปลอดจากยาเสพติด เช่น การจัดแข่งกีฬา การจัดงานประเพณี วัฒนธรรม สานสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งช่วยให้มีกิจกรรมร่วมกันสร้างความแข็งแรงให้กับสถาบันครอบครัว

“ในปัจจุบันยาเสพติดมีราคาถูกมากเนื่องด้วยวิทยาการเครื่องมือต่าง ๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตยาเสพติดมีราคาถูก ซึ่งมื่อสินค้ามีราคาถูกจะสามารถแพร่กระจายสู่กลุ่มลูกค้าได้เร็วและง่าย ทุกหน่วยงานจึงต้องเอาจริงเอาจัง ในการขจัดยาเสพติด ชุมชน สังคม และครอบครัว ต้องช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตา หากสังคมมีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อยาเสพติด แม้ว่ายาเสพติดจะให้ฟรีหรือราคาถูก ก็ไม่สามารถระบาดได้เพราะไม่มีใครให้คุณค่าหรือให้ราคา ทั้งนี้ คนในสังคมต้องไม่นิ่งนอนใจ ขอให้รีบแจ้งเบาะแสที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 แม้ว่าทำให้เจ้าหน้าที่เหนื่อยยากเพิ่มขึ้น แต่เป็นแจ้งเบาะแสให้ระแวดระวัง คนในสังคมแล้วปรากฏการณ์ของการหายาบ้ายาเสพติดได้ง่ายราคาไม่แพงจะหมดสิ้นไป ซึ่งจะช่วยเสริมให้กระบวนการคืนคนดีสู่สังคม คืนลูกหลานที่น่ารัก ให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อที่พวกเราจะได้มีความสุขร่วมกันในการช่วยกันดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้าย