ปลัด มท. เผยขับเคลื่อนหลายโครงการ ช่วยลดโลกร้อน เน้นย้ำความยั่งยืน หัวใจสำคัญ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงภารกิจสำคัญที่ทางกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง คือการช่วยกันบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ที่สำคัญคือการช่วยโลก ผ่านหลายโครงการที่สำคัญ

ปลัด มท. ระบุว่า สิ่งที่ผมได้เน้นย้ำมาตลอด หลังจากที่ทางกระทรวงมหาดไทย ได้นำผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 76 ท่าน ร่วมพิธีลงนาม MOU ประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่องค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (ถนนราชดำเนิน) เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะพัฒนาขีดความสามารถและความตระหนักด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในจังหวัด ผ่านความร่วมมือกับ UN และพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาเราได้มีการติดต่อกันและดำเนินความคืบหน้าต่อเนื่อง มีการทำงานจับมือทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน

อาทิ เรื่องเชิงโครงสร้างทางด้านกฎหมาย เราได้ผลักดัน เช่นการออกกฎระเบียบในเรื่องของสิ่งปลูกสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง บังคับให้บ้านทุกหลังที่จะสร้างขึ้นมาหลังจากนี้ จะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียประจำบ้าน รวมถึงได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองออกกฎระเบียบเรื่องของการที่จะให้หน่วยงานราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐต่างๆ หากจะก่อสร้างสิ่งใดต้องใช้ปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน ก็จะช่วยทำให้สิ่งที่เราได้ทำข้อตกลงร่วมกับทาง UN ไว้ สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรมขึ้น

อีกประเด็นสำคัญที่จะต้องช่วยกัน คือการรณรงค์ส่งเสริมกาคัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะมีพิษ และประการสำคัญที่มีอยู่มากที่สุดคือ “ขยะเปียก” จากข้อมูลเราค้นพบว่าแต่ละวัน 1 คนสามารถทิ้งขยะเปียกเศษอาหารต่างๆ ได้ถึงวันละ 0.6 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ทางกรมส่งเสริมการปกครองถิ่น และกรมการพัฒนาชุมชนได้พยายามนำประเด็นนี้ไปขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามขีดเส้นให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนเพื่อนำเอาเศษอาหารไปหมักเป็นปุ๋ยหมักไม่ปลดปล่อยก๊าซมีเทน หรือก๊าซไข่เน่าให้ลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศจนทำลายชั้นบรรยากาศ และจะทำให้ดินได้ดูดซับสารพิษเหล่านั้นหมดไป ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้ทุกจังหวัดดำเนินการในประเด็นนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 พฤศจิกายน 2565

ขณะเดียวกัน เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการฟื้นฟูแม่น้ำคูคลอง เหมือนเป็นการแก้ไขในสิ่งผิดจากในสมัยอดีตที่แม่น้ำคูคลองดีอยู่แล้ว แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มดำ จึงทำให้ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา มท.ได้ขอให้ทุกจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัดไปสำรวจและเลือกแม่น้ำคูคลองหนองบึงมาจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อดำเนินการฟื้นฟู ที่มีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างที่ทุกคนทราบกันและดังในโลกโซเชียลอย่างมากอันเป็นผลมาจากการดำเนินการขับเคลื่อนในครั้งนี้นั่นคือ “คลองแม่ข่า” ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลายคนยกให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ มีการไปถ่ายรูปแวะท่องเที่ยวกันมากมาย

สำหรับการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองนี้เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราโชบายในการแก้ไขในสิ่งผิดและฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองให้สะอาด สร้างความสุขให้กับประชาชน รวมทั้งพระราชทานแนวทางตามหลักการทรงงาน ตามหลัก “บวร” คือ การทำงานร่วมกันของบ้าน วัด ราชการ และจิตอาสา ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ มีลำคลองที่มีความสำคัญ คือ “คลองแม่ข่า” ที่เคยเป็นแหล่งรวมสิ่งปฏิกูล น้ำเน่าเสีย โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินการพัฒนาและฟื้นฟูคลองแม่ข่ามาอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงมหาดไทยโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดการประชุมร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานในพื้นที่มาโดยตลอด พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูลำคลองแม่ข่าให้มีความสะอาด สร้างความสุขให้กับประชาชน ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานหลักในการเดินหน้าบูรณะฟื้นฟูด้วยการบำบัดน้ำเสียและการจัดการภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมของคลองแม่ข่าจนมีผลเป็นรูปธรรมอย่างทุกวันนี้ จากคลองแม่ข่าที่เคยเป็นแหล่งรวมน้ำเสีย กลายเป็นแหล่งรวมน้ำใส ภูมิทัศน์ที่เคยไม่สะอาดตา ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม พื้นที่ทางเดินตามแนวคลองจากต้นไม้ทึบ กลายเป็นทางเดินที่น่าเดิน หลังบ้านของประชาชนกลายเป็นหน้าบ้านที่น่ามอง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้คลองแม่ข่าที่สวยงามเช่นนี้เป็นคลองแม่ข่าที่สะอาด สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างเศรษฐกิจชุมชน เป็นหมุดหมายสำคัญของเมืองเชียงใหม่อย่างยาวนานตลอดไปได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากพลังการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน อันเป็นกลไกที่สำคัญในการทำให้สิ่งเหล่านี้อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่ และถ่ายทอดไปสู่เด็ก เยาวชน คนรุ่นต่อไป ให้ภาคภูมิใจ และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคลองแม่ข่าให้อยู่คู่กับจังหวัด และประเทศไทย อย่างยั่งยืนต่อไป

นายสุทธิพงษ์ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้อย่างเช่น เรื่องคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากรในกรุงเทพมหานคร ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน พร้อมกันนี้ได้กำชับทางจังหวัดต่างๆ ว่าพื้นที่ไหนฟื้นฟูจนเสร็จสมบูรณ์แล้วก็ต้องช่วยดูแลรักษา อย่าให้กลับไปเหมือนเดิมอย่างในอดีต ขณะเดียวกันเราก็หาคลองใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาอีก

อีกประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่ปีนี้กระทรวงมหาดไทยเราจะติดตามอย่างเข้มข้นมากขึ้นคือการที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปเชิญชวนนักเรียนในโรงเรียน ปลูกต้นไม้ยืนต้น อย่างน้อยคนละ 1 ต้น ในพื้นที่สาธารณะก็ได้ หรือในพื้นที่ ในโรงเรียนก็ดี หรือจะกลับไปปลูกที่บ้านก็ได้ แต่ทุกคนจะต้องมีโปรไฟล์ หรือมีแฟ้มงานให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเด็กนักเรียนที่เดินเข้าไปในโรงเรียน จะต้องมีต้นไม้ประจำชีวิตของตัวเองอย่างน้อยคนละ 1 ต้นนี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ปลัด มท. ยืนยันว่าปีนี้ สิ่งที่เราต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือการเดินหน้าบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในการนำข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจาก TP Map และ Thai QM มาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างเต็มกำลัง เป็นงานสืบเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมาที่เรามีฐานข้อมูลเพิ่มเติมจากนายอำเภอที่ท่านลงไปช่วยสำรวจ พบว่ามีครัวเรือน 6 – 7 ล้านครัวเรือน และมีส่วนที่เราต้องดำเนินการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาตกค้างในแต่ละพื้นที่ต่อไป เราจะไม่ทิ้งพวกเขา และพวกเราจะต้องแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืนให้ได้ กระทรวงมหาดไทยในยุคนี้จะต้องเลิกพูดว่างานเสร็จแล้ว เราจะต้องทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนให้จงได้