สนจ. จับมือ สถานทูตอิตาลี จัดงานเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ

สนจ. จับมือ สถานทูตอิตาลี จัดงานเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ “Me and the Magic Door” ตามรอยสถาปัตยกรรมสมัย ร.5 และ ร.6 ตอกย้ำจุดยืน CU Alumni Connex ส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สร้างสรรค์กิจกรรมดีสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง สำหรับ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ล่าสุดได้เปิด CU Alumni Connex ห้องรับรองสำหรับนิสิตเก่าที่ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของอาคารศิลปวัฒนธรรม ห่างจากหอประชุมใหญ่ประมาณ 100 เมตร ใกล้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ สำหรับสมาชิกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้มารวมตัวแลกเปลี่ยนความคิด สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม เลขาธิการ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เผยว่า CU Alumni Connex เป็นจุดนัดพบศิษย์เก่าและเป็นจุดแลกเปลี่ยนให้ความรู้ รวมถึงเป็นสถานที่ในการใช้ในการถ่ายทอด Live ในหัวข้อต่าง ๆ เปรียบเสมือน Alumni Center ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สนจ. นิสิตเก่าสามารถรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับจุฬาฯ รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสนจ. กิจกรรมที่นิสิตเก่าสามารถเข้าร่วมได้ สามารถจองกิจกรรม จองที่นั่งชมดนตรีของ CU Art & Culture จองเข้ากิจกรรม workshop ต่าง ๆ ได้

รัตนาวลี โลหารชุน ประธานกิจกรรมโครงการ CU Alumni Connex กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า  “เพราะทุกการพัฒนามีที่มาและอุดมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับยุคทองของสถาปัตยกรรมในประเทศไทยในสมัยล้นเกล้า ร.5 และ ร.6 ที่ทรงพระอัจฉริยภาพทั้งทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม การเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้ประเทศไทยมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามและอยู่คู่ประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ สอดคล้องกับความตั้งใจของพวกเราชาวจุฬาฯ ที่มุ่งสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง 17 ด้านขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน สนับสนุนในการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหนึ่งในด้านที่ถูกบรรจุอยู่ในวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ด้วย”

The Ultimate ‘Walk the Talk’: Italian Architecture and Style in Siam by CU Alumni Connex คือกิจกรรมแรก ที่ สนจ. ร่วมมือกับ สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทยเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ “Me and the Magic Door”  ตามรอยสถาปัตยกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณทั้งสองพระองค์ ณ CU Alumni Connex  อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้สารคดีดังกล่าวเคยจัดฉายมาแล้วที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสและเมืองตูริน สถาบันต้นกำเนิดของสถาปนิกและนายช่างที่มารับราชการในสยาม พร้อมจัดกิจกรรม One Day Trip เยี่ยมชมบ้านพิษณุโลก และวังพญาไท ในวันที่ 14  และ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นการพาไปชมผลงานการสร้างสถาปัตยกรรมของช่างอิตาลี ที่ยังคงสะท้อนความงดงามทรงคุณค่าผ่านกาลเวลากว่า 100 ปี ยังคงไหลเวียนให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมและการก่อร่างสร้างชาติให้เป็นประเทศไทยในทุกวันนี้

ความน่าสนใจของสารคดีรอบพิเศษ “Me and the Magic Door” ที่นอกเหนือจากการพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาบ้านเมืองเพื่อก้าวสู่สยามใหม่ และสายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ สยาม-อิตาลี ผ่านรูปแบบของสถาปัตยกรรมจากช่างฝีมือชาวอิตาเลียน ซึ่งเข้ามาในช่วงต้นรัชกาลที่5 ถึง รัชกาลที่ 6 รวมถึงมิติของการเมืองการปกครองในยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก อย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน แต่อิตาลีเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีอาณานิคม

ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ย้อนไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามเริ่มมีการก่อร่างสร้างบ้านเมือง สมัย ร.3 สถาปัตยกรรมแบบจีนเริ่มเข้ามามีบทบาท  สมัย ร.4  มีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น เรื่อยมาจนถึงต้น ร.5 ช่างอิตาเลียนได้เข้ามาสู่สยามและเริ่มต้นมีบทบาทในการสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ อย่างมาก เรียกว่า เป็นยุคทองของสถาปัตยกรรมคลาสสิกก็ว่าได้  ถ้าสังเกตเราจะเห็นได้ว่า สยามได้ใช้ช่างจากประเทศต่างๆ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ในการออกแบบและสร้างตึกรามบ้านช่องมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้ามองในมิติของการเมืองการปกครองแล้ว ทั้ง 3 ประเทศนี้ ถือเป็นประเทศมหาอำนาจ มีอาณานิคม

แต่อิตาลีเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีอาณานิคม ไม่มีส่วนได้เสียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เป็นภัยคุกคาม ในมิติของสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง อิตาลีมีพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี มีโครงสร้างการก่อสร้างที่ทันสมัย และยังมีโรงเรียนที่ตูริน โรงเรียนที่สร้างสถาปนิกและวิศวกรชั้นนำ ซึ่งช่างในสมัย ร.5 และ ร.6 ส่วนใหญ่จะจบจากสถาบันแห่งนี้ในสมัยนั้นหลายๆ ชาตินิยมใช้การก่อสร้างแบบคลาสสิกในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสถาปนิกส่วนใหญ่จะเป็นทั้งชาวอิตาเลียนและชาวเยอรมัน ฉะนั้นจึงเรียกได้ว่า ช่างชาวอิตาเลียนจะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบโดยเฉพาะงานศิลปกรรม ประติมากรรม งานหินอ่อนมากกว่าชนชาติอื่นๆ

บางกอกในสมัย ร.5 ผู้ทรงครองราชย์ 40 ปีเศษ จึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะทางกายภาพ การขยายตัวของเมือง เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาของสุขาภิบาล การสาธารณสุข การคมนาคม ทั้งรถเมล์ รถยนต์ รถไฟ รวมถึงการขยายพื้นที่ของเมืองออกไปทั้งทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกการตัดถนน การวางระบบไฟฟ้า ระบบประปาล้วนเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้พัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสถาปัตยกรรมที่งดงามเหล่านี้ ยังทรงคุณค่าและงดงามมาจวบจนถึงปัจจุบัน อาทิ วังพญาไทที่สร้างขึ้นในสมัย ร.5 และบ้านพิษณุโลก เดิมชื่อบ้านบรรทมสินธุ์ เป็นบ้านสมัย ร.6 เป็นต้น

รศ.ดร.หนึ่งฤดี  โลหผล  อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอิตาเลียน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า ช่างอิตาเลียนส่วนใหญ่จะจบสถาปัตยกรรม มีความเชี่ยวชาญด้านการช่าง วาดรูป วิศวะ และที่สำคัญมีความเข้าใจพื้นฐานและความต้องการของสยาม เท่าที่พบหลักฐาน รัฐบาลสยามในตอนนั้นได้ติดต่อไปยังศาสตราจารย์ใหญ่ที่ Academy of Fine Art ที่เมืองตูรินและโรงเรียนช่างวิศวกรรมอีกแห่งหนึ่ง เหล่าอาจารย์ต่างคัดเลือกลูกศิษย์ให้มาช่วยงาน คัดเลือกตามความเชื่อมั่นของอาจารย์และเป็นลูกศิษย์ที่ยังเพิ่งจบได้เพียง 3 – 4 ปี ซึ่งมีความพร้อมในการเดินทางมารับราชการในสยามได้เป็นเวลานานๆ เพราะการก่อสร้างในแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน บางคนอยู่ 20 กว่าปีขึ้นไป เพราะการเดินทางจากอิตาลีมาถึงสยามในสมัยนั้นต้องใช้เวลาเดินทางราวๆ 30 วัน และไม่ได้สะดวกสบายเช่นทุกวันนี้

“ทางคณะและคณาจารย์ต่างๆ พยายามหาข้อมูลของสถาปนิกทุกคนที่เดินทางเข้ามารับราชการในสยามช่วงนั้น เพื่อนำมารวบรวมเป็นความรู้ในรูปแบบของดิจิทัล แพลตฟอร์ม ให้คนไทยได้เข้าถึงเนื้อหาความรู้ในส่วนนี้เราพยายามนำประวัติศาสตร์อีกช่วงหนึ่งที่สำคัญให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า เรียนรู้จากรากเหง้าต้นกำเนิด เรียนรู้จากแหล่งที่มา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตนำไปสู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืนในท้ายที่สุด” รศ.ดร.หนึ่งฤดี กล่าว

สำหรับ CU Alumni Connex เปิดให้บริการ วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 8.00 – 21.00 น.  ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยสมาชิก สนจ. ต้องสำรองก่อนการเข้าใช้บริการเท่านั้น ติดต่อได้ที่ 081-508-7475

คำบรรยายใต้ภาพ

คาร์โล อัลเลกรี วิศวกรชาวอิตาลี รับราชการในราชสำนักของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มากกว่า 20 ปี ในตำแหน่ง นายช่างกลใหญ่ หรือ หัวหน้าวิศวกรใน กรมโยธาธิการ คุมการก่อสร้างสะพานและถนนหลายแห่งในประเทศ และร่วมสร้างอาคารมากมายอาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างในสมัยร.5

สถาปนิกชาวอิตาเลียน มาริโอ้ ตามาญโญ เข้ารับราชการในกระทรวงโยธาธิการแห่งประเทศสยามเมื่อปี พ.ศ. 2443 โดยมีสัญญาว่าจ้างเป็นเวลา 25 ปี ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศไทยที่สำคัญหลายแห่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 อาทิ สะพานมัฆวานรังสรรค์, พระที่นั่งอนันตสมาคม, วังปารุสกวัน, ท้องพระโรงวังสวนกุหลาบ, สถานีรถไฟกรุงเทพ, บ้านพิษณุโลก (ชื่อเดิมคือ บ้านบรรทมสินธุ์), พระตำหนักเมขลารุจี ภายในพระราชวังพญาไท, ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล (ชื่อเดิมคือ ตึกไกรสร), ห้องสมุดนีลเซนเฮส์ เป็นต้น

วังปารุสกวัน

    

บ้านบรรทมสินธุ์ หรือบ้านพิษณุโลก สร้างสมัย ร.6

หัวลำโพง เริ่มสร้างในรัชกาลที่ 5 สร้างเสร็จในรัชกาลที่ 6

สะพานผ่านฟ้าลีลาศ สร้างสมัย ร.5

ทำเนียบรัฐบาล สร้างสมัย ร.6

ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม เลขาธิการ สนจ., ดร. ลักขณา ลีละยุทธโยธิน อุปนายก สนจ. รัตนาวลี โลหารชุน ประธานกิจกรรม CU Alumni Connex สนจ.

รศ.ดร.หนึ่งฤดี  โลหผล (คนกลาง), ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง (ขวาสุด) ร่วมเสวนา

CU Alumni Connex