มหาดไทย ร่วมใจสืบสาน ผ้าไทย ถ่ายทอดส่งต่อภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน เพื่อสนองพระราชปณิธานอันทรงคุณค่าให้คงอยู่คู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

“เป็นวันมหามงคลยิ่งของพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้ดำรงศิลป์ผ้าถิ่นไทยให้คงอยู่คู่กับแผ่นดินทุกชีวิต ทุกครอบครัว ทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งเป็นสิ่งที่เป็นมงคลยิ่งกับชีวิตข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวหลังเป็นประธานในพิธีมอบหนังสือพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี “รวมน้ำใจ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวง นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย จำนวน 41 ราย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนร่วมในพิธี

 

นายสุทธิพงษ์ เล่าย้อนความทรงจำ และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ว่า “นับเนื่องแต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้นำสตรี ในวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ที่จะสนองพระเดชพระคุณและพระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งโดยแท้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทย เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด และในภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พระองค์ได้พระราชทานขวัญกำลังใจ ด้วยการทรงเลือกและบรรจุถุงกำลังใจพระราชทานด้วยพระองค์เอง สำหรับพระราชทานแก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่เดือดร้อน พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร อีกทั้งส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้ โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้ประกอบการ OTOP จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในบริเวณพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร เยี่ยมผู้ประกอบการ ในช่วงพักพิธีพระราชทานปริญญาบัตรทุกวัน

นับว่าเป็นเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชนได้ต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าได้อย่างมาก อีกทั้งยังทรงฉลองพระองค์ผ้าไทยที่ออกแบบอย่างงดงาม ทำให้ผ้าไทยได้รับการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ทั้งทรงมีพระจริยาวัตรที่งดงามเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาคุณ ยังคงประทับอยู่ในดวงใจของคนไทยทั้งชาติ

นายสุทธิพงษ์ เผยว่า “เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้กระทรวงมหาดไทย นำผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย เข้าเฝ้าถวายผ้าอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 44 ผืน และมีพระดำริจัดทำหนังสือรวบรวมภาพและเรื่องราวของผ้าถิ่นไทยทั้ง 44 ผืน ซึ่งเป็นของขวัญอันทรงคุณค่าที่กลุ่มบุคคลที่มีความรักผ้าไทยได้ถักทอขึ้นด้วยความตั้งใจเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2564 จึงได้พระราชทานชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “รวมน้ำใจ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” พร้อมทั้งชื่นชมในความสามารถของทุกกลุ่ม ที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงาน ผ้าบางผืนอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก เพราะเป็นผ้าทอที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ใช้เทคนิคพิเศษในการทอ มีการสร้างสรรค์ลายใหม่เพื่อให้เป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มทอผ้า มีการใช้สีธรรมชาติและสีเคมีในการย้อมเส้นใย แต่ศิลปะและลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าทุกผืน ยังคงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น สมควรเป็นอย่างยิ่งที่นำภาพผ้าและเรื่องราวของผ้าทั้ง 44 ผืน มาบอกเล่าให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าและการสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ผ้าถิ่นไทยให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ

โดยทางกระทรวงมหาดไทยจะมุ่งมั่นน้อมนำแนวพระดำริในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้สามารถก้าวไกลสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป  รวมตลอดจนถึงจะจงรักภักดีและสนองพระเดชพระคุณในการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน สนองตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการธำรงรักษาภูมิปัญญาแห่งผ้าไทยให้ยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุด้วยว่า วันนี้ถือเป็นวันมหามงคลยิ่ง รวมทั้งเป็นสิ่งที่เป็นมงคลยิ่งกับชีวิตข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ คือ เมื่อปี 2564 ท่านประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ สมัยที่ 26 และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชนในขณะนั้น คือ ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ได้มีดำริและหารือร่วมกับพี่น้องกลุ่ม OTOP ผ้าไทย ในการร่วมกันถวายความจงรักภักดี ด้วยการรังสรรค์ผ้าไทย จำนวนเท่ากับพระชนมายุในปี 2564 คือ จำนวน 43 ผืน + 1 ผืน เพื่อเป็นการถวายพระพรให้พระองค์ทรงมีพระชนมายุยั่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญให้กับพวกเราสืบต่อไป และเป็นการถวายความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้งก่อนหน้านั้น ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พี่น้องผู้ประกอบการ OTOP ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ไปชุมนุมรวมกันที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พี่น้องภาคเหนือรวมตัวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พี่น้องภาคใต้รวมตัวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ หาเลี้ยงชีพในยามที่โควิด-19 ระบาดมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว

พร้อมกันนั้น พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพวกเราทุกคนถึงบูธที่เราได้นำผ้าไปจัดแสดงผลิตภัณฑ์ ซึ่งกาลเวลาก็ล่วงเลยเนื่องจากโควิด-19 ระบาดรุนแรง ทำให้ผ้าที่เตรียมไว้เพื่อที่จะถวายก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายในช่วงปลายปี หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2564 มาหลายเดือน นำมาซึ่งความตื้นตัน ความปลื้มปีติยินดี ที่เห็นพวกเราทุกคนได้รับโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งกับวงศ์ตระกูล โอกาสอันสำคัญยิ่งของชีวิต ที่ได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผ้า และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสในการเสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นขวัญกำลังใจให้พวกเราทุกคนอีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ เผยว่า“เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ผมและ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินมาด้วย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานหนังสือที่อยู่ในมือแนบอกพวกเราทุกคนในขณะนี้ ให้กับ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และผม เพื่อเชิญมามอบให้กับพี่น้องผู้มีความจงรักภักดี และเป็นกำลังสำคัญของแผ่นดินในการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เพื่อเป็นมรดกสำคัญของประเทศชาติต่อไป

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้ตรัสเล่าให้ฟังว่า “พระองค์มีความรู้สึกตื้นตันใจ ขอบคุณและขอบใจพวกเราที่ระลึกถึงพระองค์ท่านและร่วมกันทอผ้าขึ้นทูลเกล้าฯถวายเป็นของขวัญ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติพระราชสมภพของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านได้นำผ้าทั้ง 44 ผืน โปรดให้ถ่ายภาพเก็บรายละเอียด และติดต่อช่างทอเพื่อไปถ่ายรูปและนำมาร้อยเรียงเป็นผืนผ้าแห่งความจงรักภักดีที่พวกเราได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายนั้น ลงไว้ในหนังสือพระราชทาน “รวมน้ำใจ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ซึ่งไม่ว่าเราทุกคนจะตายแล้วกลับมาเกิดใหม่อีกกี่ชาติก็แล้วแต่ ตำนานของเรื่องนี้ก็จะปรากฏอยู่คู่กับแผ่นดินไทย อยู่ในหนังสือ ในห้องสมุด ในพระราชวังของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เพื่อเป็นประจักษ์พยานและหลักฐานว่า ผ้าไทยที่เกิดจากความจงรักภักดีนั้นมีหน้าตาอย่างไร ใช้เทคนิคอย่างไร ใครเป็นผู้ทอ ผู้ถวาย แต่สำคัญยิ่งกว่านั้น รายละเอียดทุกอย่างของหนังสือเล่มนี้ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระราชทานพระวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง ประดุจดั่งทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง ซึ่งทรงคุณค่าต่อพวกเราทุกคนในฐานะพสกนิกรของพระองค์ท่าน”