ตอบรับวิถีใหม่ บรอมส์โกรฟมุ่งพัฒนาโรงเรียนประจำ

ในช่วงการระบาดของโควิดใน 2-3 ปีที่ผ่านมา จากรายงานของยูนิเซฟ (The United Nations Children’s Fund) เด็กหนึ่งคนในทุกๆเจ็ดคน ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้นโยบายการเว้นระยะห่างอยู่ที่บ้านตลอดทั้งปี 2563 ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และการแปลกแยกจากสังคม โควิดได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวทั่วโลก พัฒนาการของเด็กถดถอยลงในช่วงปีที่ผ่านมา

เด็กจำนวนหนึ่งต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านผ่านสื่อออนไลน์ ในขณะที่อีกหลายๆครอบครัวไม่สามารถที่จะให้การช่วยเหลือเด็กๆเรื่องของการศึกษาผ่านสื่อออนไลน์ได้ อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและข้อจำกัดของครอบครัวที่แตกต่างกัน หลายๆสื่อพูดถึงอนาคตทางการศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องมีโรงเรียนและครูอีกต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเรียนรู้ในโรงเรียนนั้นมีมากกว่าเรื่องของวิชาการ ที่โรงเรียนนักเรียนจะได้พัฒนาทักษะทางด้านสังคมทั้งกับนักเรียนด้วยกันเองและกับผู้ใหญ่ ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับพวกเขาในอนาคต

ครอบครัวตั้งแต่ระดับชนชั้นกลางขึ้นไปพยายามมองหาทางเลือกอื่นที่ลูกๆจะได้รับการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นอย่างไม่ติดขัดแม้ในช่วงของการระบาดของโควิด ในต่างประเทศ โรงเรียนประจำได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาเป็นเวลานาน และในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ความนิยมนี้ได้แพร่หลายในสังคมตะวันออก ด้วยภาพลักษณ์และมาตรฐานของโรงเรียนประจำสมัยใหม่ รวมถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พ่อแม่ต้องการให้ลูกได้เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่ ฝึกความรับผิดชอบ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งพวกเขาจะได้ฝึกฝนทักษะเหล่านี้ภายในรั้วโรงเรียนประจำ

ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทยที่ผ่านมา ความนิยมของครอบครัวชาวไทยที่มีต่อโรงเรียนประจำได้เพิ่มมากขึ้น และเมื่อรัฐบาลได้ประเมินสถานการณ์การควบคุมการระบาดของโควิดและตัดสินใจเปิดโรงเรียนภายใต้มาตรการการเฝ้าระวัง ผู้ปกครองจำนวนมากได้ตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนประจำ เพื่อให้ลูกๆได้อาศัยประจำอยู่ในหอพัก และพบปะผู้คนภายในหอพักเท่านั้น ทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการระบาดของไวรัสได้ในระดับหนึ่ง

มร ฮาวเวริ์ด วู หัวหน้าฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ โรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ กล่าวว่า
“ตั้งแต่รัฐบาลประกาศเปิดโรงเรียน นักเรียนประจำของเราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปรกติ นั่นรวมถึงนักเรียนต่างชาติที่อยากกลับเข้ามาเรียนที่โรงเรียนอีกด้วย ผู้ปกครองต่างชาติของเรามีความเชื่อมั่นในมาตรการการควบคุมการระบาดของโควิดภายในประเทศไทย และทางโรงเรียนได้สื่อสารให้ผู้ปกครองทราบถึงมาตรการการป้องกันการระบาดที่เราปฏิบัติเพิ่มเติมภายในโรงเรียนด้วย นอกจากนั้น สำหรับนักเรียนต่างชาติ พวกเขาต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัว ก่อนผ่านเข้าประเทศอีกด้วย ”

แผนกโรงเรียนประจำของโรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ ได้มีการบริหารจัดการแบบ “ฟองสบู่” (Bubbles) กล่าวคือ สภาพแวดล้อมภายในหอพักจะได้รับการควบคุม เปรียบเสมือนเราอาศัยอยู่ในฟองสบู่ นักเรียนประจำจะถูกจัดกลุ่มย่อยเพื่อการเว้นระยะห่าง
และจำกัดวงในการมีปฏิสัมพันธ์และการทำกิจกรรมต่างๆเพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดของโควิดในวงกว้าง มีมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด ไม่ว่าจะเป็น การตรวจหาเชื้อของทั้งนักเรียนและบุคลากรก่อนเข้าในหอพักและเป็นประจำเมื่ออาศัยอยู่ในหอพัก การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การดูแลระบบถ่ายเทอากาศภายในหอพัก ตารางการทำความสะอาดที่สม่ำเสมอ เพิ่มการทำกิจกรรมกลางแจ้งของนักเรียนประจำ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังจัดให้มีทีมพยาบาลดูแลนักเรียนและบุคลากรของหอพักอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง การจัดสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้นักเรียนยังคงรักษาระยะห่างทางกายภาพ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขายังสามารถเรียน ทำกิจกรรม และมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย ถือเป็นการปรับตัวร่วมกันระหว่างโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากร เพื่อตอบรับกับ “วิถีใหม่” ที่เกิดขึ้น

“โรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟมีระบบการจัดการโรงเรียนประจำและหอพักเทียบเท่าโรงเรียนประจำชั้นนำในประเทศอังกฤษ นอกจากนั้น เรายังได้นำระเบียบปฏิบัติและแนวทางการบริหารหอพักและการดูแลสวัสดิภาพของนักเรียนตามแบบของสมาคมโรงเรียนประจำแบบอังกฤษ หรือ The Boarding Schools’ Association (BSA) มาใช้ที่โรงเรียนของเราอีกด้วย ” มร วู กล่าวเสริม

การอยู่ในโรงเรียนประจำ นักเรียนจะมีชั่วโมงการทบทวนบทเรียนและการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางบนท้องถนน นักเรียนจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนในการเล่นกีฬา ซ้อมดนตรี ฝึกการแสดง ทำงานศิลปะ หรือได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยที่พวกเขาสามารถเลือกได้ว่าจะทำกิจกรรมเหล่านี้ด้วยตนเองหรือทำร่วมกันกับเพื่อนๆภายในหอพัก โดยจะมีครูผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆรวมไปถึงบุคลากรของโรงเรียนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองประจำหอพักคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

มร วู ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่เรามุ่งเน้น คือ นักเรียนจะได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโรงเรียนประจำ ที่พวกเขาจะได้มีบทบาทหน้าที่ในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง แผนกประจำของโรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ ประกอบไปด้วยนักเรียนและบุคลากรกว่า 20 สัญชาติ มีความเสมือนสังคมจริงที่มีประชาคมโลกอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พึ่งพาอาศัยกัน ทักษะการอยู่และทำงานร่วมกันกับผู้อื่นคือทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ เป็นทักษะที่จะทำให้เด็กๆเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตที่เติมเต็ม ทำคุณประโยชน์ต่อผู้อื่นและต่อสังคมต่อไป’ ”

“ ในขณะนี้ โรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟถือเป็นหนึ่งในสามโรงเรียนประจำแบบอังกฤษที่ดีที่สุดในประเทศไทย เราได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองนานาชาติในการส่งบุตรหลานมาเข้าเรียนและพักอาศัยอยู่ในหอพัก ซึ่งการขยายและพัฒนาแผนกโรงเรียนประจำไปสู่มาตรฐานสูงสุดเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาระยะยาวของโรงเรียนซึ่งเราได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ” มร วู กล่าวทิ้งท้าย