บริติช เคานซิล พาเจาะเส้นทางทุน ‘วูเม่นอินสะเต็ม’ กับสตรีข้ามเพศหนึ่งเดียวจากไทย ผู้ต้องการสร้างความเท่าเทียมในด้านสาธารณสุข กับโอกาสการศึกษาต่อ ณ สหราชอาณาจักร

ทุกวันนี้ บทบาทของผู้หญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ยังคงมีไม่มากนัก โดยจากข้อมูลขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) พบว่ามีนักวิจัยทั่วโลกเพียงร้อยละ 28 ที่เป็นผู้หญิง และมีนักศึกษาหญิงเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่เลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ STEM ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโลกในปัจจุบันที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของทุนวูเม่นอินสะเต็ม (Women in STEM) ที่บริติช เคานซิล ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์งานด้านการพัฒนาอุดมศึกษาสู่ความเป็นนานาชาติ และเพื่อส่งเสริมพันธกิจและวิสัยทัศน์ในด้านการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม (Equality, Diversity and Inclusion) โดยทุนดังกล่าวได้เริ่มเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นทุนเต็มจำนวนสำหรับผู้หญิงที่มีความสนใจในด้าน STEM และต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สหราชอาณาจักร ทุนครอบคลุมค่าเทอม ค่าที่พักอาศัย ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลการสนับสนุนพิเศษสำหรับผู้ที่มีบุตร และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคอร์สปรับพื้นฐานภาษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งในปีแรกที่ผ่านมานี้ บริติช เคานซิลได้เปิดรับสมัครทั้งหมด 108 ทุนทั่วโลก และ 15 ทุนสำหรับ 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

สำหรับในประเทศไทย มีตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับทุนนี้ ได้แก่ คุณลิซ ศรีสุวรรณ สตรีข้ามเพศที่ทำงานในด้านสาธารณสุข และมีปณิธานที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมของการเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนข้ามเพศ โดยคุณลิซถือเป็นคนไทยและเป็นผู้หญิงข้ามเพศเพียงคนเดียวจากในผู้หญิงทั้งหมด 15 คนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับทุนในปีนี้

คุณลิซ ศรีสุวรรณ ผู้ได้รับทุนการศึกษา Women In STEM กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศที่มีประสบการณ์การทำงานด้านสาธารณสุขที่สภากาชาดไทย ตนเองให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสาธารณสุขของกลุ่มคนข้ามเพศ (LGBTIQ) มาโดยตลอด โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของกลุ่มคนข้ามเพศ หนึ่งในประเด็นสำคัญคือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีประเด็นด้านสุขภาพที่เฉพาะทาง และมักจะไม่ได้ถูกรวมอยู่ในสิทธิพื้นฐานด้านสุขภาพทั่วไป ทำให้พวกเขามักจะไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุผลประการต่าง ๆ เช่น กลัวการถูกปฏิเสธ การแบ่งแยก การตีตรา กฎข้อบังคับต่าง ๆ รวมไปถึงสิทธิทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขโดยไม่มีปัจจัยทางเพศมาเกี่ยวข้อง

image.pngimage.png

อย่างไรก็ตามตนเองรู้สึกมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้รับทุน Women in STEM จากบริติช เคานซิล และขณะนี้ได้เริ่มศึกษาต่อปริญญาโทด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จอห์น มัวรส์เป็นที่เรียบร้อย โดยตั้งใจว่าหลังจากสำเร็จการศึกษาจะยังคงมุ่งมั่นทำงานในด้านนโยบายสาธารณสุขต่อไป เพื่อร่วมรณรงค์และแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคน คุณลิซ กล่าวเพิ่มเติม

              ทางด้าน นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรนานาชาติเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร ได้ตั้งเป้าให้ทุน Women in STEM นี้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ผู้หญิงได้มีโอกาสในการศึกษา และมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในแวดวงด้าน STEM และเชื่อมั่นว่าทุนนี้จะเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญให้กับผู้ที่ได้รับทุนทุกคน ได้เข้าสู่เส้นทางในสายวิชาด้าน STEM และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงในรุ่นต่อ ๆ ไปที่มีความสนใจในด้านสายวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ได้เดินหน้าตามความฝันอย่างเท่าเทียม
 
image.png

สำหรับในปีการศึกษา 2564-65 นี้ บริติช เคานซิล จะเดินหน้ามอบทุน Women in STEM อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมสมัครเพื่อขอรับทุนดังกล่าวและเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันบทบาทของผู้หญิงในการขับเคลื่อนวงการ STEM ต่อไป โดยสามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครต่าง ๆ ได้ในช่วงสิ้นปี ที่เว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของบริติช เคานซิล นางเฮลก้า กล่าวเพิ่มเติม

                ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ British Council Thailand

# # ##BritishCouncil #JCCOTH

หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ

บริติช เคานซิล คือ องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เราทำงานกับประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกผ่านงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ การศึกษา และภาคประชาสังคม ในปีที่ผ่านมาเราสื่อสารโดยตรงกับผู้คนมากกว่า 80 ล้านคน และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์กับผู้คนกว่า 791 ล้านคน เราสร้างประโยชน์แก่ประเทศที่เราทำงานด้วยผ่านทรัพยากรทางวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นโดยการสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน บริติช เคานซิล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้พระบรมราชานุญาตและพระราชบัญญัติองค์การอิสระแห่งสหราชอาณาจักร เราได้รับเงินสนับสนุนร้อยละสิบห้าโดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร