ปิดฉากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้ง 12 สช.ชวนทุกภาคีเร่งเครื่อง ‘ขาเคลื่อน’ ผลักนโยบายสุขภาวะให้เป็นจริง

ตัวแทนแวดวงการศึกษาและสุขภาพชื่นชมและพร้อมปรับใช้เครื่องมือและวิธีทำงานของภาคีสายสุขภาพ ชี้การศึกษาไทยยังเหลื่อมล้ำสูง เด็กทักษะต่ำ ชีวิตไร้ฝัน อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทยืนยันคำตอบสุดท้ายอยู่ใน “พื้นที่” เตรียมผลัก ‘หมอครอบครัว’ จับคู่ 10,000 ประชากร 1 หมอ ด้านผู้ก่อตั้งและผู้บริหารศูนย์สนับสนุนการพัฒนาชุมชน (Center for Supporting Community Development Initiatives : SCDI) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ย้ำ “สุขภาพเป็นประเด็นสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์” ขณะที่หมอประทีปหัวเรือใหญ่ สช. ชวนทุกฝ่ายเร่งเครื่องทำงานสานพลังขับเคลื่อนมติที่เป็นนโยบายสุขภาวะสู่การปฏิบัติจริง โดยเน้นงานพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและตำบล

นายภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง…สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ ในวันสุดท้ายของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ว่า “Growth Mindset คือทัศนคติที่เชื่อว่าชีวิตเราเปลี่ยนแปลงได้ผ่านความพยายาม และการพัฒนาตนเอง แต่จากผลการสำรวจระดับโลกพบว่า เด็กไทยเกินครึ่งเชื่อว่าตัวเองเกิดมาอย่างไรก็จะเป็นไปอย่างนั้น ถ้าเกิดมาจนก็จะจนต่อไป สะท้อนปัญหาหลายมิติของการศึกษาไทย แม้ที่ผ่านมาแวดวงการศึกษาพยายามศึกษาเครื่องมือและการทำงานของสายสุขภาพ โดยหวังจะนำมาปรับใช้ท่ามกลางข้อจำกัดของมากมาย หลังการปฏิรูปการศึกษาไทยในปี 2542 แต่กลับปฏิรูปได้เพียงโครงสร้างองค์กรและผลลัพธ์ที่ได้กลับลดลง ดูได้จากผลการสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติหรือ PISA ในปี 1970 ไทยเคยได้คะแนนเท่ากับฟินแลนด์ แต่ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบัน และยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก PISA ระบุว่า เด็กไทยมากกว่าร้อยละ 50 มีทักษะอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน สอดคล้องกับผลการสำรรวจที่ว่าเด็กที่ครอบครัวฐานะดีกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนไม่กี่แห่ง โรงเรียนที่ยากจนมีนักเรียนยากจนมากกว่าร้อยละ 85

ขณะที่ นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน(กขป.) เขต12 อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รูปแบบการทำงานของสายสุขภาพคือ พยายามสร้างฐาน สานพลังแนวราบมาตลอด เพราะคำตอบสุดท้ายอยู่ในพื้นที่ และ หัวใจในการทำงานคือการบริการที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ หรือ humanize healthcare เพราะต้องทำงานกับผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งการทำงานยิ่งขยายต่อยอดเมื่อมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้มีกลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในทุกพื้นที่ เป็นกลไกที่มีที่มาจากคนในพื้นที่จริงๆ จนถึงวันนี้มีพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งจะช่วยสร้างประสิทธิภาพให้หน่วยดูแลสุขภาพที่อยู่ใกล้ชาวบ้านมากที่สุด ระยะต่อไป คือการเร่งดำเนินการตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายที่เขียนเรื่องสารสนเทศไว้ว่า ภายใน 10 ปีจะมีการจับคู่ชื่อแพทย์กับประชาชน โดยประชาชน 10,000 คนจะมีหมอ 1 คนดูแล เรียกว่า ‘หมอครอบครัว’ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับทีโอทีและสมาคมดิจิทัลเพื่อจัดระบบให้ข้อมูลการรักษาประชาชนไม่ว่ารักษาที่ไหนจะเชื่อมต่อกันทั้งหมดและจะวิ่งเข้ามาที่หมอครอบครัวประจำตัวด้วย

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หากพูดเรื่องสุขภาวะในยุคดิจิทัลแม้ว่าเราจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย แต่อีกด้านหนึ่งที่ต้องเตรียมรับมือคือ มนุษย์ในอนาคตจะประสบภาวะโรคซึมเศร้า และยิ่งรู้สึกเคว้งคว้าง โดดเดี่ยว นี่จึงเป็นประเด็นที่ต้องเริ่มเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สังคมเต็มไปด้วยข่าวปลอม (fake news) การไวรัล(viral) และการคุกคามออนไลน์ (cyber bully) ต้องสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพกับความรับผิดชอบ และต้องสู้กับ disruption ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และสร้างสมดุลในมหาสมุทรข้อมูลข่าวสาร

นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กล่าวว่า “เทคโนโลยีกับสุขภาพนั้นก็สัมพันธ์กันอย่างมาก DE จึงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ระบบ 5G จะช่วยสามารถผ่าตัดทางไกลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม อาทิ การสร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชน และอีกหลายโครงการ โดยทั้งหมดจะสนับสนุนระบบสุขภาพโดยรวมให้ดีขึ้นด้วย

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทหลักของ สช. คือ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพโดยกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านเครื่องมือตามพระราชบัญญัติสุขภาพ เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และสนับสนุนความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย สำหรับการทำงานในปี 2563 สช.จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายซึ่งส่วนมากก็เกิดจากมติสมัชชาสุขภาพให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานในพื้นที่โดยเฉพาะระดับจังหวัดและตำบล ดังนั้น สช.จึงต้องการชวนภาคีระดับชาติสานพลังการทำงานให้ได้ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข สสส. สปสช. สช. จับมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงศึกษาธิการ เอาภารกิจและเครื่องมือของแต่ละหน่วยงานมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และเน้นการสร้างเครื่องมือและความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาจังหวัดขึ้นมาให้ได้

และท้ายสุด นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานกรรมการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 12 พ.ศ.2562 ได้กล่าวปิดการประชุมว่า เราได้เห็นความทุ่มเทและความตั้งใจของทุกฝ่ายในการทำงานตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาในการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงข้อเสนอต่างๆ จนเป็นระเบียบวาระและกลายเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือการนำมติเหล่านี้ไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ จึงขอเชิญชวนทุกภาคีผลักดันการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้มติเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติในทุกระดับ พร้อมกันนี้ได้มีพิธีส่งมอบภารกิจการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 13-14 (พ.ศ. 2563-2564)แก่ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้เห็นชอบให้เป็นประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในอีก 2 ครั้งต่อไป