“กรมโยธาธิการและผังเมือง” เสนอเร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด

24 ม.ค. 2560 นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึง การฟื้นฟู บ้านเรือนและสถานที่ราชการต่างๆหลังอุทกภัยน้ำท่วมภาคใต้ว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่า การกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะหน่วยงานด้านช่าง ดำเนินการ ในการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยกรมฯ จะเร่งดำเนินการใน 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน และระยะต่อไป สำหรับในระยะเร่งด่วน ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ ดังนี้

1.สนับสนุนในการจัดทำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแบบบ้านผู้ประสบภัยพร้อมประมาณราคา จำนวน 4 แบบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นกรณีเร่งด่วนได้ โดยมีราคาค่าก่อสร้างประมาณ 280,000 – 400,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบและขนาดของบ้าน 2.จัดทำ “คู่มือตรวจสอบและซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด” และแจกจ่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบ ซ่อมแซมบูรณะ บ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ประชาชนหรือผู้สนใจทั่วไปสามารถขอรับได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานโยธาธิการและ ผังเมืองจังหวัด ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป หรือสามารถดาวน์โหลด ได้ที่เว็บไซต์ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง www.dpt.go.th ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้การจัดทำคู่มือนี้ก็เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้นได้อีกทาง

3.ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตรวจสอบ ซ่อมแซมบูรณะ บ้านเรือน โดยสามารถขอรับการปรึกษา ได้ที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองในพื้นที่ประสบอุทกภัย

4.จัดทำแบบแปลน รายละเอียดการซ่อมแซม พร้อมประมาณราคาอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยของหน่วยงานราชการตามที่ร้องขอ

5.รวบรวมข้อมูลความเสียหายของอาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากอุทกภัย 12 จังหวัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาประเมินความเสียหาย และสนับสนุนการจัดทำแบบแปลนรายละเอียดการซ่อมแซม พร้อมประมาณราคาอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ในกรณีที่ยังไม่มีผู้รับผิดชอบดำเนินการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเดิมไม่มีความพร้อม

6.สำรวจสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่กีดขวางการไหลในลำน้ำต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในรูปแบบเดียวกับที่กรมฯเคยดำเนินการไว้ที่จังหวัดภูเก็ต สำหรับระยะต่อไป ได้แก่ โครงการวางผังและมาตรการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำในภาคใต้ ในระยะเร่งด่วน 4 ลุ่มน้ำ (จากทั้งหมด 6 ลุ่มน้ำ) ดังนี้

1. โครงการวางผังและมาตรการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกและทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส พัทลุง และสงขลา

2. โครงการวางผังและมาตรการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลประจวบคีรีขันธ์และตาปี ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี โดยจะดำเนินการในระยะเร่งด่วน(ภายในระยะเวลา 6 เดือน) เพื่อให้ได้มาตรการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ดังนี้

1) แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม
2) ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางระบายน้ำ และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำ
3) ผังระบบระบายน้ำของจังหวัดและโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำตามธรรมชาติ และโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย
4) โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน
5) กำหนดพื้นที่ทางน้ำหลาก ( Floodway) พร้อมมาตรการด้านผังเมืองและด้านควบคุมอาคาร เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และรักษาทางน้ำหลากไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางเพื่อให้สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะถัดไปในการดำเนินการวางผังและมาตรการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ที่เหลืออีกจำนวน 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และลุ่มน้ำปัตตานี จะเร่งรัดการจัดทำผังและมาตรการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในปีงบประมาณ 2563 ต่อไป