เรียนรู้ญี่ปุ่นในมุมพหุวัฒนธรรม​ สัมมนาเพิ่มองค์​ความรู้​ โดยศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

วันที่ 17 มิถุนายน ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงานสัมมนาหัวข้อไทย-ญี่ปุ่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมนานาชาติ Multiculturalism and Social Cohesion: The Role of Education, Media and Language in the 21st Century​ ด้วยหวังว่าจะเพิ่มองค์​ความรู้​ในเชิงวัฒนธรรม​​ให้มากขึ้น

ในงานนี้ ศาสตาจารย์ ดร. ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว ประเทศญี่ปุ่นนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงในภาพยนตร์โฆษณาญี่ปุ่นและไทย โดยกล่าวว่าอัตราการทำงานของผู้หญิงในประเทศไทยมากกว่าในประเทศญี่ปุ่น แต่ภาพลักษณ์ของผู้หญิงทำงานในภาพยนตร์โฆษณาของไทยและญี่ปุ่นกลับไม่มีความแตกต่างกัน นี่ชี้ว่าทั้งสองวัฒนธรรมยังคงมีมายาคติด้านเพศร่วมกันอยู่และพยายามตอกย้ำมายาคติดังกล่าวผ่านสื่ออย่างโฆษณา

จากนั้น ดร.สุดปรารถนา ดวงแก้ว นักวิจัยประจำศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษาได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นในเชียงใหม่ ใจความว่าผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นจำนวนมากตัดสินใจมาใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่เนื่องจากสภาพบรรยากาศของเมืองที่ดูดีบวกกับมิตรสัมพันธ์ของคนท้องถิ่น คนญี่ปุ่นเข้ามาตั้งกลุ่มหลายกลุ่ม แล้วกลุ่มของคนญี่ปุ่นเหล่านี้ก็กลายเป็นตัวกลางหนึ่งที่คอยขับเคลื่อนกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างคนญี่ปุ่นกับคนไทยท้องถิ่น ดร.สุดปรารถนามองว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่คนไทยท้องถิ่นจะได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นจากคนญี่ปุ่นโดยตรง

ขณะที่ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยประจำศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคมมุ่งไปที่เรื่องการยอมรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นในสังคมไทย โดยดร.ฐณยศอธิบายว่าทั้งหมดเริ่มมาจากจุดเปลี่ยนทางประชากร เด็กไทยในช่วง 80-90 บริโภคงานการ์ตูนจากญี่ปุ่นจนเคยชินกับวัฒนธรรม เมื่อคนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม ก็ได้สร้างกระแสตอบรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางและต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน การ์ตูนที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นในช่วง 80-90 จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการเชื่อมโยงวัฒนธรรม 2 ชาติ