ชมรมคนริมน้ำ … การจัดการปัญหาผักตบชวาอย่างยั่งยืน

ชมรมคนริมน้ำ … การจัดการปัญหาผักตบชวาอย่างยั่งยืน

ผักตบชวาถือได้ว่าเป็นวัชพืชที่สร้างปัญหาอย่างมากในแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ ด้วยการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบวงกว้างต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การขนส่งและการสัญจรทางน้ำ น้ำเน่าเสีย ทางเดินน้ำหรือแหล่งกักเก็บน้ำตื้นเขิน กีดขวางการไหลระบายของแม่น้ำลำคลองในฤดูน้ำหลาก ก่อให้เกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

รัฐบาลได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาผักตบชวาขึ้น ซึ่งมี รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานโดยได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแนวทางในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาให้เกิดผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และมอบหมายกรมการปกครองบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเชื่อมโยง ประจำปี 2560 และบูรณาการร่วมในการจัดตั้ง “ชมรมคนริมน้ำ” เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ

การบริหารจัดการด้วยกลไกประชารัฐ โดยภาครัฐใช้แนวทางการบูรณาการในการดำเนินการสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน และติดตามผลการดำเนินงาน ในส่วนของภาคประชาชน มี “ชมรมคนริมน้ำ” เป็นกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้ของประชาชน เน้นการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้หลักการ “แก้ไข ป้องกัน สร้างความยั่งยืน”

การจัดตั้งชมรมคนริมน้ำ คณะทำงานแก้ไขปัญหาผักตบชวาระดับแหล่งน้ำ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุดปฏิบัติการประจำตำบล กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชน เชิญประชุมราษฎรในหมู่บ้าน/ชุมชนจัดตั้งชมรมคนริมน้ำ โดยชมรมคนริมน้ำ มีบทบาทหลักคือ การร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำให้เป็นไปด้วยความสวยงาม ปราศจากผักตบชวาและวัชพืช รวมถึงเฝ้าระวังการบุกรุกหรือต่อเติมสิ่งปลูกสร้างในคลองสาธารณะ บูรณาการจัดกิจกรรมกำจัดผักตบชวาและจัดกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาผักตบชวา ระดับแหล่งน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสนับสนุน รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนที่อยู่ริมน้ำ รับรู้ถึงผลเสียของผักตบชวา ตลอดจนเฝ้าระวังการบุกรุกหรือต่อเติมสิ่งปลูกสร้างในคลองสาธารณะ

การสร้างความยั่งยืน โดยการแบ่งพื้นที่และมอบหมายหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน ตลอดจนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับรู้ถึงผลเสียของผักตบชวา รวมถึงการนำผักตบชวาที่กำจัดแล้วไปใช้ประโยชน์ ชมรมคนริมน้ำซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาแหล่งน้ำ และดำเนินการกำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง มีกลไกในการกำกับติดตามประเมินผล ทุกระดับ มีการรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำอย่างต่อเนื่องปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้งชมรมคนริมน้ำแล้ว จำนวน 6,628 แห่ง ทั่วประเทศ