ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ : “ในสมุดบันทึก” กับการเกษียน/เกษียณความทรงจำเดือนตุลา (1)

ในสมุดบันทึก

ในสมุดบันทึก ฉันเคยบันทึกไว้

บทสนทนากับเพื่อนเก่า

ฉันเล่า ว่าสมัยราวแปดขวบนั้น

ฉันชอบดูดาวประกายพรึกตอนค่ำ

ดื่มด่ำ ชวนฝัน ชวนมุ่งมั่น

อธิษฐานว่าอะไรบ้างนั้นอย่ารู้เลย

ฉันอาย

เพื่อนฟังแล้วลอบถอนใจ

เขาว่า รู้ไหม ณ จุดที่เรายืนอยู่นี้

ไกลจากดวงดาวหลายพันปีแสง

แล้วไง ฉันถาม

ก็แปลว่าดาวที่เรามองเห็นอยู่ตอนนี้

ความจริงอาจแตกดับไปนานแล้ว

ไม่แน่ใจว่าฉันบันทึกบทสนทนานี้ลงสมุดบันทึกทำไม

เพื่อจะรำลึกว่ากาลครั้งหนึ่งฉันเคยดูดาว

หรือเพื่อจะจำใส่หัว ว่าความจริงแล้ว อาจไม่มีดาว

หรือเพื่อจะไม่ลืมว่าเราจะรู้ความจริงว่าดาวไม่มีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อเราไม่เคยรู้ว่ามันไม่มี

ว่าแต่เราจะมีดาวไว้ทำไม

กระจิ๊ดหริดในสายตา

สุกสกาวก็ต่อเมื่อหมดแสงรอบข้าง

สว่างเพียงชี้นำหนทาง

แต่ไม่เป็นธุระจะส่องทางให้เห็น

นางพรานเถื่อนคงได้แต่คว้าตะเกียงดุ่มเดินไป

ช่างขุนทองปะไร

มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง-

-กลับไปนั่งจดจารให้เป็นที่รำลึกไว้

รำลึกว่ามันจะลืมรำลึกเสียมิได้

ว่าไม่ว่าถึงที่สุดใครจะเห็นหรือไม่เห็นอะไร

ดาวฤกษ์เกิดมาเพื่อเป็นดาวที่มีแสงสว่างในตัวเอง, จำไว้

ว่าแล้วมันก็ดับสวิตช์ไฟหัวเตียง

ครั้นหากนางพรานเถื่อนจะบันทึกสิ่งที่เคยเห็นบ้างอย่างคนไม่เขียนบันทึก

จะบันทึกอย่างไร

“พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว

ส่องฟากฟ้า…”

โอ๊ะ ไม่ใช่

“เห๊น, เห๊น”

จะเขียนยังไง?

สระเอ หอหีบ ไม้ตรี นอหนู

“เห๊น, เห๊น…”

หรือว่า “เห็น”

สระเอ หอหีบ ไม้ไต่คู้ นอหนู

“เห็น, เห็น…”

หรือว่า “เห้น”

สะเอ หอหีบ ไม้โท นอหนู

“เห้น, เห้น –

เห้นทรวงฟ้ากว้าง หมื่นดาวนั้น สำอาง วับวาว

แม้นเดือนสกาว ไม่ยอมให้ดาว ขาวเฉิดไฉไล

ถึงตัวฉัน มีสวรรค์ ลอยมาใกล้

เชิญฉันเป็นดาวใหม่

ฟ้ามาวอนไหว้

ไม่-เป็น-แล้ว-ดาว!”

แล้วจะให้ฉันจดว่าควรจำรำลึกอย่างไร

รำลึกอย่างดาวประกายพรึกที่เพียงดึกก็ลับหาย

หรือบันทึกอย่างนางพรานเถื่อนที่ถูกทิ้งไว้กับตะเกียง?

อย่ากระนั้นเลย อย่างมากก็แค่ท่อนฮุกของทุกคนที่ฉันจะเขียนขึ้นใหม่

ปอดไม่ดี, ฉันเขียนแล้วท่องแทนร้องได้ไหม

“ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ

ดาวคืนเพ็ญมัวเด่นลืมท้าทาย

ครั้นผืนฟ้าใกล้ดับจวนลับมลาย

ดินจะพราย-ไม่ว่ามี-หรือไม่-มีดาว

ดินจะกลาย-เป็น-หรือไม่-เป็นดาว!”

ไอดา

6 ตุลา 59

ในการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง (อโนชา สุชากรพงศ์ ) รอบพิเศษเฉพาะแขกรับเชิญเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2559 เพื่อร่วมรำลึกวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม

คุณอโนชาผู้กำกับฯ ได้ขอให้คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารอ่าน ขึ้นไปอ่านบทกวีก่อนภาพยนตร์จะเริ่มฉาย โดยไม่ได้นัดแนะกันมาก่อนทั้งบทกวีชื่อ “ในสมุดบันทึก” ของไอดา และภาพยนตร์ ดาวคะนอง ของอโนชา ต่างนำเสนอประเด็นว่าด้วยความทรงจำเดือนตุลา ด้วยน้ำเสียง ลีลา และท่าทีที่ทั้งคารวะและวิพากษ์ไปพร้อมกัน

และที่พ้องกันอีกอย่างน่าประหลาดใจคือทั้งภาพยนตร์และบทกวีชิ้นนี้เล่นกับคำว่า “ดาว” ในฐานะรูปสัญญะล่องลอย/ว่างเปล่า/ (floating/empty signifier) ซึ่งอัดแน่นไปด้วยนัยยะเชิงอุดมการณ์ที่ซ้อนทับกันอยู่หลายชั้นได้อย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน

อาจเป็นเพราะทั้งคุณอโนชาและคุณไอดาต่างเป็นผู้หญิงร่วมรุ่นเดียวกัน ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางการได้ยินได้ฟังเรื่องราวของขบวนการนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเล่าต่อๆ กันมาอย่างเงียบๆ ลับๆ ล่อๆ ก่อนจะกลายมาเป็นตำนาน “คนเดือนตุลา” อันลือลั่นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

ตำนานที่ตัวละครจำนวนมากยังมีมีชีวิตโลดแล่นโดดเด่นอยู่ในสังคม และเป็นผู้หล่อเลี้ยงให้ตำนานดังกล่าวดูสูงส่ง ทอดเงาทะมึน บดบังและทาบทับเรื่องราวคนรุ่นอื่นๆ ทั้งก่อนหน้าและภายหลังพวกเขาจนแทบหมดสิ้น

ดังที่คุณไอดาได้เคยบรรยายความรู้สึกของคนรุ่นเธอต่อคนรุ่นเดือนตุลา โดยหยิบยืมคำพูดของวิลเลี่ยม ฟอล์กเนอร์ นักเขียนอเมริกันมาปรับใช้ว่า คนรุ่นเธอ

“เป็นรุ่นที่เกิดไม่เร็วพอที่จะทันร่วมกับเขา แต่เกิดไม่ช้าพอที่ไม่ต้องมาแบกรับอะไรที่เป็นของเขา เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นภาวะที่มีแรงตึงเครียดบางอย่าง ในทางหนึ่งก็เคารพชื่นชมเห็นเป็นฮีโร่ ในทางหนึ่งก็ข้องใจมีปัญหาอึดอัดกับพวกเขา” (จากคำอภิปรายในงาน เปิดตัวหนังสือ “คำนำ” ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ณ บ้านจิม ทอมป์สัน วันที่ 7 ตุลาคม 2559 สามารถค้นหาเพื่อรับฟังได้ทางยูทูบ)

หากจะต้องยืมคำพูดของฟอล์กเนอร์ในนวนิยายอีกเรื่องหนึ่ง ก็ต้องบอกว่าบทกวีชิ้นนี้พยายามชี้ว่าคนเดือนตุลาเป็น “สัญลักษณ์ของความน่าคารวะและความหวัง ทั้งยังเป็นตัวการของความสิ้นหวังและความตรอมตรม”

(“symbol also of admiration and hope, instruments too of despair and grief,” Faulkner, Absalom, Absalom!)

บทกวี “ในสมุดบันทึก” ร่วมรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา ด้วยการหวนทบทวนสถานะของคนเดือนตุลาและความทรงจำเดือนตุลา พร้อมกับตั้งคำถามกับบทบาทและข้อจำกัดของการนำเสนอความจริงและความทรงจำในยุคสมัยแห่งความท่วมท้นล้นเกินของความจริงและความทรงจำ ที่โดดเด่นก็คือบทกวีชิ้นนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในความทรงจำ 6 ตุลา และในฐานะผู้จดจำความทรงจำดังกล่าว

ดังที่กวีขมวดปมปัญหาข้างต้นด้วยคำถามในช่วงท้ายของบทกวีว่า

แล้วจะให้ฉันจดว่าควรจำรำลึกอย่างไร

รำลึกอย่างดาวประกายพรึกที่เพียงดึกก็ลับหาย

หรือบันทึกอย่างนางพรานเถื่อนที่ถูกทิ้งไว้กับตะเกียง?

บทกวีค่อนข้างยาวชิ้นนี้มีเนื้อหาแวดล้อมอยู่กับการครุ่นคิดคำนึงของกวีต่อนัยยะและความหมายของดาวที่ผูกพันกับชีวิตและความทรงจำของกวีตั้งแต่วัยเด็ก

โดยเริ่มต้นจากการหวนกลับไปอ่านบทสนทนากับเพื่อนเกี่ยวกับดาวในสมุดบันทึก ที่ทำให้กวีต้องทบทวนเกี่ยวกับความคิดและความเชื่อของตนเองต่อความทรงจำเดือนตุลา

เนื้อหาในช่วงแรกของบทกวีมาจบลงตรงที่กวีนึกเปรียบเทียบคนเดือนตุลาและความทรงจำของพวกเขา กับนางพรานเถื่อนที่ต้องลุกขึ้นมาบันทึกเรื่องราวความทรงจำของตนเองบ้าง

เนื้อความในครึ่งหลังคือบันทึกของนางพรานเถื่อนผ่านบางท่อนของเนื้อเพลงสองเพลงที่เป็นทั้งตัวแทนความทรงจำและตัวตนในอดีต ได้แก่ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ และ “ไม่ขอเป็นดาว” ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ และมาจบลงด้วยเสียงของกวีที่นำเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” มาแต่งใหม่

“ในสมุดบันทึก” เป็นเสมือนท้องฟ้าจำลองของจักรวาลดวงดาวอันหลากหลายที่โคจรอยู่รายรอบชีวิตและความทรงจำของกวี ไล่มาตั้งแต่ดาวในความหมายเชิงโรแมนติกที่เป็นคู่แย้งกับความหมายเชิงเรียลลิสติก ฟิสิกส์และเมตาฟิสิกส์ดังที่ปรากฏในบทสนทนากับเพื่อน

ดาวในฐานะสัญญะทางวัฒนธรรมของฝ่ายซ้ายผ่านเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่เป็นคู่เทียบกับดาวในฐานะสัญญะทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ผ่านเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” ทั้งยังมีนัยประหวัดไปถึงสัญญะทางวัฒนธรรมของความเป็นนักศึกษายุค “ดาวประจำมหาวิทยาลัย”

และท้ายสุดคือดาวในฐานะคู่แย้งกับดินดังที่ปรากฏในเนื้อเพลงแต่งใหม่ในท่อนจบ มิพักต้องพูดถึงว่าบทกวีชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อนำมาอ่านเป็นครั้งแรกในการฉายภาพยนตร์ ดาวคะนอง ที่กลายมาเป็นดาวอีกหนึ่งดวงบนผืนฟ้าของบทกวีชิ้นนี้

หาก ดาวคะนอง ใช้ท่าทีและชั้นเชิงของภาษาหนังในลักษณะ meta-cinema เพื่อเปิดประเด็นว่าด้วยการนำเสนอความทรงจำผ่านสื่อภาพยนตร์ โดยจงใจไม่ใช้ภาพข่าวบันทึกเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา แต่เลือกถ่ายทอดด้วยภาพของการจำลองเหตุการณ์ในโรงถ่ายภาพยนตร์

ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงตั้งคำถามเชิงยั่วล้อตัวเองอย่างรู้ตัวถึงข้อจำกัดของภาพยนตร์ในการถ่ายทอดความจริงในอดีต แต่ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับสถานะและบทบาทของข่าว รูปภาพ และภาพเคลื่อนไหวต่อการสร้างความทรงจำในอดีตไปพร้อมกัน

ฉันใดก็ฉันนั้น บทกวี “ในสมุดบันทึก” นำเสนอตัวตนและความทรงจำของกวีด้วยชั้นเชิงและทีท่าของภาษากวีที่ขับเน้นความเป็นสัมพันธบท (intertextuality) ที่เชื่อมโยงตัวตนของกวีเข้ากับเหตุการณ์และความทรงจำเดือนตุลา กล่าวคือ บทกวีอาจไม่ได้ระบุถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาไว้อย่างชัดเจน แต่อาศัยการสร้างเครือข่ายของชุดคำและชุดภาพเปรียบที่ผูกพันกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพื่อสะกิดใจผู้อ่านให้ประหวัดถึงกรณีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสัมพันธบทที่เป็นทั้งการผลิตซ้ำและการดัดแปลงสร้างใหม่ยังทำหน้าที่กระตุ้นให้ผู้อ่านต้องหวนคิดและทบทวนสถานะ คุณค่า ตลอดจนความหมายของอดีต และความทรงจำเกี่ยวกับอดีต ควบคู่ไปกับการตั้งคำถามกับสถานะและบทบาทของกวีนิพนธ์ในการบันทึกและ/หรือสร้างความทรงจำในอดีต

อันทำให้บทกวีชิ้นนี้มีลักษณะเป็น meta-poetry ในเวลาเดียวกันด้วย

สัมพันธบทสองทิศทาง

สัมพันธบทคือสภาวะที่ตัวบทหนึ่งๆ อ้างอิงไปถึงตัวบทอื่นๆ ทั้งในลักษณะที่อ้างอิงถึงโดยตรง นั่นคือยกข้อความจากตัวบทต้นทางมาใส่ไว้ในตัวบทปลายทาง หรืออ้างอิงโดยอ้อมหรือโดยนัยโดยอยู่ในลักษณะของชุดรหัสทางวัฒนธรรมหรือรหัสของการประพันธ์ นักทฤษฎีวรรณคดีบางสำนักเสนอว่าไม่มีตัวบทใดที่ดำรงอยู่โดยเอกเทศ ทุกตัวบทล้วนเป็นสัมพันธบททั้งสิ้น

การพิจารณาสัมพันธบทในบทกวี “ในสมุดบันทึก” จะพิจารณาสัมพันธบทที่เป็นการอ้างอิงโตยตรงเป็นสำคัญ โดยมุ่งดูนัยยะของปฏิสัมพันธ์สองทิศทางจากตัวบทต้นทางสู่ตัวบทปลายทาง

ความเป็นสัมพันธบทของบทกวีชิ้นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการอ้างอิงไปถึง “วรรคทอง” ของงานวรรณกรรมยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา เช่นในท่อนที่ว่า “ช่างขุนทองปะไร มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง-” ขุนทองในที่นี้อ้างอิงไปถึงบทกวี “เจ้าขุนทอง” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2516 ในช่วงที่นักศึกษาประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารถนอม-ประภาส

บทกวีของสุจิตต์ชิ้นนี้โดยตัวมันเองก็เป็นสัมพันธบทอ้างอิงไปถึงเพลงกล่อมเด็กชื่อ “เจ้าขุนทอง” ที่แพร่หลายในภาคกลางมายาวนาน โดยกวีได้ปรับแต่งและให้ความหมายเจ้าขุนทองเสียใหม่ว่าคือนักศึกษาที่ยอมสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยดังที่ปรากฏในท่อนจบว่า

ไม่มีร่างเจ้าขุนทอง มีแต่รัฐธรรมนูญ

แม่กับพ่อก็อาดูร แต่ภูมิใจลูกชายเอย ฯ

นอกจากนี้ ในวรรคที่ว่า “มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง” ก็เป็นการอ้างไปถึงเรื่องสั้นชื่อ “ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ของอัศศิริ ธรรมโชติ เผยแพร่ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เดือนกันยายน 2520 ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาไม่ครบปี เนื้อหาเกี่ยวกับแม่ที่เฝ้ารอการกลับมาของลูกหรือ “เจ้าขุนทอง” ที่หลบหนีออกจากบ้านไป

เนื่องจากชื่อเรื่องสั้นชิ้นนี้อ้างอิงกลับไปที่บทกวี “เจ้าขุนทอง” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่าเจ้าขุนทองในเรื่องเป็นสัญลักษณ์หมายถึงนักศึกษาที่หลบหนีการกวาดล้างของรัฐบาลทหารภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งส่วนใหญ่ได้ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อสู้กับรัฐบาลทหารเพื่อปลดปล่อยประเทศจากอำนาจเผด็จการ ดังนั้น ชื่อเรื่องสั้นจึงมีนัยยะสื่อถึงความหวังในสังคมที่ดีกว่าเมื่อเจ้าขุนทองกลับสู่เมือง

แต่ที่สำคัญกว่านัยประหวัดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม คือน้ำเสียงตัดพ้อต่อว่าปนหยามหยัน เมื่อกวีนำเจ้าขุนทองมาเทียบเคียงกับนางพรานเถื่อน

ว่าแต่เราจะมีดาวไว้ทำไม

กระจิ๊ดหริดในสายตา

สุกสกาวก็ต่อเมื่อหมดแสงรอบข้าง

สว่างเพียงชี้นำหนทาง

แต่ไม่เป็นธุระจะส่องทางให้เห็น

นางพรานเถื่อนคงได้แต่คว้าตะเกียงดุ่มเดินไป

ช่างขุนทองปะไร

มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง-

บทกวีเปิดประเด็นอันแหลมคมยิ่งว่าด้วยสถานะและบทบาทของคนเดือนตุลาในฐานะผู้ชี้นำและผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง โดยนำไปเทียบกับดาวนำทาง พร้อมกันนั้นก็พลิกผันนัยยะและความหมายของดาวนำทาง โดยเฉพาะในวรรคที่ว่า “สุกสกาวก็ต่อเมื่อหมดแสงรอบข้าง” ช่วยสะกิดให้เราฉุกคิดว่าความโดดเด่นน่าจดจำของคนเดือนตุลาได้มาก็ด้วยการกดทับ บดบัง ลบล้างเรื่องราวของคนอื่นอีกมากมาย

ยิ่งไปกว่านั้นการหลงติดอยู่กับบทบาทของผู้นำทาง ทำให้พวกเขา “ไม่เป็นธุระจะส่องทางให้เห็น” โดยทิ้งภาระให้คนอย่างนางพรานเถื่อนเป็นผู้แบกรับแทน

แต่วรรคที่ถือว่าเป็นหมัดฮุกคือวรรคสุดท้ายในท่อนนี้ แม้ว่าบทกวีจะอ้างอิงในลักษณะสัมพันธบทถึงวรรคทองของวรรณกรรม 14 ตุลา และ 6 ตุลา แต่ข้อความในวรรคนี้ก็เป็นการสร้างใหม่เพื่อตอบโต้กับวรรคทองของตัวบทต้นทางด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในที่นี้ ขุนทอง “มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง” มิใช่ “ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ที่เป็นชื่อเรื่องสั้นของอัศศิริ

หากขุนทองในเรื่องสั้นของอัศศิริเป็นตัวแทนของความหวังที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมใหม่ เหมือนพระอาทิตย์ที่นำแสงสว่างมาสู่โลกในยามเช้า เจ้าขุนทองในบทกวีชิ้นนี้คือตัวแทนของผู้ละทิ้งความหวังในสังคมที่ดีกว่า และหนีกลับบ้าน “ตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง”

คำว่า “กลับ” ในที่นี้มีนัยยะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับคำเดียวกันนี้ที่ปรากฏในชื่อเรื่องสั้นของอัศศิริ มันคือ “การกลับ” ในความหมายเดียวกันกับที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า นับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา นักศึกษาได้ทยอยกันกลับสู่เมือง มิใช่ในฐานะผู้ร่วมปลดปล่อยสังคมไทยดังที่พวกเขาคาดหวังไว้ในวันที่ตัดสินใจทิ้งเมืองไปจับปืน

แต่ในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ตามนโยบาย 66/23 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ดังจะพบได้จากบทกวีท่อนถัดมาที่แทรกน้ำเสียงถากถางการกลับมาของเจ้าขุนทองไว้อย่างเจ็บปวด

-กลับไปนั่งจดจารให้เป็นที่รำลึกไว้

รำลึกว่ามันจะลืมรำลึกเสียมิได้ว่า

ไม่ว่าถึงที่สุดใครจะเห็นหรือไม่เห็นอะไร

ดาวฤกษ์เกิดมาเพื่อเป็นดาวที่มีแสงสว่างในตัวเอง, จำไว้

ว่าแล้วมันก็ดับสวิตช์ไฟหัวเตียง

ในที่นี้บทกวีชี้ให้เห็นอาการหลงตัวเองจนน่าหมั่นไส้ ด้วยภาพของเจ้าขุนทองที่คอยพร่ำเตือนตนเองและผู้อื่นให้จดจำพวกเขา

ขณะเดียวกันก็สะท้อนอาการหลอกตัวเองจนน่าหัวร่อของเจ้าขุนทอง ที่ปลอบประโลมความล้มเหลวไร้น้ำยาของพวกเขา ด้วยการย้ำเตือนถึงความยิ่งใหญ่ในตัวเอง ที่ไม่พึงต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำใดๆ เพราะพวกเขาคือดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง วรรคสุดท้ายของท่อนนี้ “ว่าแล้วมันก็ดับสวิตช์ไฟหัวเตียง” บอกผู้อ่านอย่างไม่อ้อมค้อมถึงความจอมปลอมของดาวฤกษ์กลุ่มนี้

จากที่แจกแจงมา จะเห็นได้ว่า “เจ้าขุนทอง” ในฐานะสัมพันธบทได้เชื่อมโยงนางพรานเถื่อนเข้ากับความทรงจำเดือนตุลา แต่ในเวลาเดียวกันนางพรานเถื่อนก็ใช้สัมพันธบทนี้ในการนิยามตัวตนของนาง ด้วยการตั้งคำถามกับความทรงจำนั้น

เจ้าขุนทองในฐานะสัมพันธบทที่เกิดขึ้นจากการผลิตซ้ำและสร้างใหม่เพื่อรำลึกและตั้งคำถามกับความทรงจำเกี่ยวกับคนเดือนตุลาเป็นเพียงเพลงโหมโรงของบทกวีชิ้นนี้

สัมพันธบทที่โดดเด่น เข้มข้น คมคาย หลากหลายนัยยะที่ทั้งลึกและซึ้งอย่างยิ่งในบทกวีชิ้นนี้ คือการอ้างอิงถึงบทเพลงที่เป็นเสมือนเพลงประจำรุ่นของคนเดือนตุลา ได้แก่ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยนำไปเทียบเคียงกับเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่เป็นตัวแทนเพลงประจำยุคของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ รุ่นไล่เลี่ยกัน และลงเอยด้วยการสร้างเพลงใหม่ของกวีในท่อนจบ

หมายเหตุ : ผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์สายัณห์ แดงกลม ที่กรุณาช่วยอ่านบทความชิ้นนี้และตั้งข้อสังเกตอันลุ่มลึก จนสามารถกลายเป็นบทความอีกชิ้นหนึ่งได้โดยตัวของมันเอง