ริมคลองนั้นมีผมกับเป็ด “ในวันที่กลับมาอ่านวรรณกรรมเยาวชน”

หวนกลับมาอ่านวรรณกรรมเยาวชนทีไร เป็นต้องเสียน้ำอยู่ร่ำไป…

ผู้เขียนเริ่มอ่านวรรณกรรมเยาวชนมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางร่วมกันครั้งสุดท้ายระหว่างคุณปู่ (หรือวิญญาณปู่) กับหลานชายใน “มัตเตียกับปู่” ผลงานของโรแบร์โต ปีอูมีนี

สายใยความผูกพันระหว่างคาลเลอกับย่าแอร์นา บิทเทล อันเป็นที่รัก ใน “ย่า” ของเปเตอร์ แฮร์ทลิ่ง หรือชั่วโมงยามอันอบอุ่นระหว่างพ่อกับลูกชาย

ผลงานสุดคลาสสิคของวิลเลียม ซาโรยัน ใน “ฟ้ากว้างทางไกล”

หรือจะเป็นความผูกพันระหว่างเด็กกับต้นไม้ในวรรณกรรมเมืองน้ำหอมอย่าง “ต้นส้มแสนรัก” ของโจเซ่ วาสคอนเซลอส

และ เจ้าชายน้อยกับหมาจิ้งจอกใน “เจ้าชายน้อย” ของ อังตวน เดอ แซง เต็กซูเปรี ฯลฯ

วรรณกรรมเยาวชนสอนใจเหล่านี้ ไม่ว่าจะหยิบจับมาอ่านในห้วงเวลาใด เมื่อลองได้อ่านก็มักจะได้ข้อคิดดีๆ กลับไปเสมอ

ดังจะเห็นได้ว่า เด็กที่กำลังเติบใหญ่จะต้องการอะไรมากไปกว่าความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน

ส่วนผู้ใหญ่ที่กำลังล่วงเข้าสู่วัยชราจะต้องการอะไรมากไปกว่าการได้ย้อนมองกลับไปใส่หัวใจอ่อนโยนอย่างเด็กและทำความเข้าใจเด็กอีกครั้ง

เหมือนคราวที่หมาจิ้งจอกสอนเจ้าชายน้อยก่อนลาจากกันว่า

“ความลับของชีวิตคือ เธอจะสามารถมองเห็นอะไรชัดเจนก็ต่อเมื่อเธอมองด้วยดวงจิต…สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดคือ สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยสายตา”

ย้อนมองกลับมายังวรรณกรรมเยาวชนของไทยที่ผู้เขียนอยากพูดถึงสักเล่มหนึ่งในวันนี้…

ริมคลองนั้นมีผมกับเป็ด ของ คบเพลิง สราญ หนังสือรางวัลชนะเลิศ แว่นแก้ว นวนิยายสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนอกจากสะท้อนภาพความผูกพันของเด็กชายหยกกับเป็ดทั้ง 23 ตัวของเขาแล้ว

ยังสะท้อนภาพความรักที่ผู้เป็นป้าและคนในครอบครัวมีให้อย่างเปี่ยมล้น

ตั้งแต่น้องชายป้าตายจากและแม่ของหยกต้องเดินทางไกลไปเล่นลิเกไม่ได้กลับบ้าน

หยกจึงเป็นเหมือนแก้วตาดวงใจของป้ากับลุงเขยเสมอมา

แม้ป้าแกจะมีลูกสาว 4 คน แต่หยกก็ดูจะเป็นหลานที่แกรักและเอ็นดูเหมือนเป็นลูกคนที่ 5 และรักมากกว่าใครๆ

วัยสดใสของเด็กคนหนึ่งที่ขาดทั้งพ่อและแม่ แต่กลับได้ความรักจากป้าและความผูกพันกับเหล่าผองเพื่อนเป็ดมาทดแทน

จึงทำให้หยกดูแทบไม่ขาดพร่องในความรักเลย แม้ในส่วนลึกเด็กชายจะโหยหาอ้อมกอดอันเป็นที่รักจากผู้ให้กำเนิด

…เมื่อก่อนผมจะเฝ้าภาวนาขอพระจันทร์ช่วยให้ผมได้มีโอกาสพบหน้าแม่สักครั้ง ทว่า ตลอดสองสามปีมานี้ความหวังที่จะได้พบแม่เลือนรางไปกับกาลเวลา แม้จะเพียงสองสามปี แต่มันก็ยาวนานเมื่อเทียบกับอายุของผม เดี๋ยวนี้คำภาวนา

“ขอให้ได้พบแม่” เปลี่ยนเป็น “ขอให้แม่มีแต่ความสุขตลอดไป” (ห.105-106)

ถึงแม้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของหยกกับเหล่าเป็ดเพื่อนเล่นคลายเหงาของเขา แต่ในอีกด้านของความสุขก็แสนเศร้าเคล้าน้ำตาที่หัวใจบริสุทธิ์ของเด็กคนหนึ่ง ต้องมาถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยหัวใจหยาบกระด้างของ “เฮียห่าน” สามีขี้เหล้าของพี่ส้มจีนลูกสาวคนโตของลุงกับป้า เมื่อเพื่อนเล่นของเขาจำนวนหนึ่งถูกเฮียห่านฆ่าเพื่อนำไปเซ่นไหว้อย่างเลือดเย็น

พวกเป็ดมีชีวิตคล้ายผม พวกมันกำพร้าพ่อแม่ หากแต่อาภัพกว่าตรงที่ต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควร (ห.60)

“อย่าทุบทำลายโมงยามสวยบริสุทธิ์ของวัยเยาว์ และจินตนาการที่ผู้ใหญ่เข้าไม่ถึงของเด็กคนหนึ่ง เพราะเมื่อมันถูกทุบทำลายแล้ว ก็ยากที่จะประกอบสร้างมันขึ้นมาดังเดิม” ฉากต่อเนื่องดังกล่าวทำให้ผู้เขียนเจียระไนถ้อยความนี้ขึ้นมาขณะอ่าน เมื่อเพื่อนเป็ดที่รักและหวงแหนถูกฆ่าไปทำเป็ดพะโล้พร้อมกับลูกๆ บางตัวยังไม่ทันลืมตาออกมาดูโลก

“เฮียห่านเอาไปทำไข่พะโล้หมดแล้ว” (ห.62)

โลกสวยงามถูกทุบทำลาย ก็นับว่าเจ็บปวดมากแล้ว แต่ที่เจ็บซ้ำย้ำยิ่งกว่าก็คือ การที่ผู้ใหญ่ไม่รู้ลึกซึ้งในหัวใจอ่อนโยนของเด็กคนหนึ่ง เด็กคนหนึ่งที่มองสัตว์เป็นเพื่อน…

“หยกไม่ต้องเสียใจไปนะ ไว้พี่จะซื้อลูกเป็ดมาให้ใหม่ จะซื้อมาให้เยอะๆ เลย”

ผมพูดอะไรไม่ออก พี่ส้มจีนคงคิดว่า ความผูกพันระหว่างเพื่อนนั้นจะซื้อหากันได้ง่ายๆ เป็ดเหล่านี้เป็นชีวิตและวิญญาณของผม มันเป็นตัวแทนของแม่ แม่ที่ผมอาจไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าอีกแล้ว… (ห.62)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้เด็กชายหยกจะแลคล้ายเด็กอาภัพรักและถูกเฮียห่านหักหาญน้ำใจอยู่บ้างก็ตาม แต่หมู่บ้านริมคลองที่เขาอยู่อาศัยก็รายล้อมไปด้วยมิตรภาพ ไม่ว่าจะเป็นครูเจิดที่โรงเรียน และโส่ยเพื่อนบ้านที่รักและเลี้ยงเป็ดเป็นเพื่อนเหมือนหยก และที่สำคัญทุกๆ คนในครอบครัวที่เติมเต็มความรักให้กับเขา

ชีวิตของผมนี้ หากจะโชคดีอยู่บ้างก็ตรงที่ผมยังมีป้า มีลุง และพี่ๆ ทุกคนให้ความรักและความเมตตาแก่ผมเป็นอย่างมาก (ห.14)

เราจึงได้เห็นชีวิตของหยกและผองเพื่อนเป็ดเติบโตตามกันตามวัยและเวลาที่มีทั้งสุขและเศร้าคละเคล้าปะปนเป็นธรรมดาของชีวิต

ความขาดพร่องไม่ราบรื่นบ้างก็เป็นธรรมดาของชีวิต ชีวิตจึงไม่สามารถกำหนดกะเกณฑ์ให้เป็นไปตามครรลองได้โดยสมบูรณ์

ชีวิตของหยกจึงต้องดำเนินไปตามวิถีที่ควรจะเป็นจนกระทั่งใกล้จบมัธยมปลายแล้วนั่นเอง ความหวังที่จะได้พบหน้าแม่สักครั้ง คำสวดอ้อนวอนจึงเป็นจริง

แต่สิ่งที่หยกได้เลือกแล้ว แม้มันจะเป็นจริงและแสนเศร้าก็ตาม แต่สิ่งนี้เราก็รับรู้ผ่านตัวหยกมาตลอดว่า หลายปีที่ผ่านคลองตาของหยกผูกพันต่อสิ่งใด โลกในวันนี้ของหยกจึงไม่ใช่โลกในวันวานอีกต่อไป เมื่อหยกเลือกตัดสินใจอยู่กับป้าและไม่ไปอยู่กับแม่

แม่ครับ…ผมจะโกรธแม่ได้อย่างไร ในเมื่อทุกคืนผมได้แต่ภาวนาขอให้แม่มีความสุข รอยยิ้มของแม่บริสุทธิ์เสมอ รอยยิ้มของแม่ต่างหากที่ผมอยากเห็น ผมรักแม่มากเกินกว่าจะมานั่งน้อยใจ (ห.131)

ริมคลองนั้นมีผมกับเป็ด นอกจากจะให้ภาพวิถีชนบทผ่านโมงยามความทรงจำของเด็กชายคนหนึ่งกับเหล่าเป็ดๆ ของเขาแล้ว ยังได้สอนอะไรหลายต่อหลายอย่างที่ผู้อ่านอาจจะมองข้ามไป

เราจะไม่มองเป็ดเป็นแค่เป็ดเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง

เราอาจจะละเว้นกินสัตว์ปีกไปเลยเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง

เราอาจจะอยากเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อซึมซับบรรยากาศความเงียบสงบ ร่มรื่น และความรกครึ้มของต้นไม้ตามธรรมชาติริมคลองเหล่านั้นดูบ้าง

ท่ามกลางเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงและถนนปิดฟ้า ความเจริญที่ปะเดปะดังกระแทกสายตา อาจกล่าวอีกอย่างได้ว่า

ช่างโชคดีเหลือเกินที่หยกไม่ตามแม่ไปสู่วิถีความเร่งรีบนั้น

ช่างโชคดีเหลือเกินที่สายตาของหยกได้หล่อเลี้ยงภาพท้องทุ่งและธรรมชาติบริสุทธิ์

ช่างโชคดีเหลือเกินที่หยกยังไม่ได้สัมผัสโทรศัพท์มือถือและเทคโนโลยีนานาสารพัน

…และช่างโชคดีเหลือเกินที่ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มนี้

แม้ขณะอ่านจะอยู่ท่ามกลางฝุ่นควันและรถติดไม่ขยับก็ตาม