กีฬาในร่ม (7)

ญาดา อารัมภีร

สกา ‘กีฬาพระราชา’ กลายเป็นเสมือนบ่วงบาศรัดรึงใจยุธิษฐิระ หรือยุธิษเฐียร ไว้แน่น สำนึกผิดชอบชั่วดี สติปัญญาเลือนหาย ลืมตัวมัวเมากับสกาพนันแก้มือ พระอนุชาทั้ง 4 (ภีมะ – อรชุน – นกุล – สหเทพ) รวมถึงยุธิษฐิระล้วนกลายเป็นเดิมพันที่หลุดลอย ในที่สุดนางเทฺราปทีหรือกฤษณา พระชายาแห่งปาณฑพทั้งห้าก็ถูกวางเป็นเดิมพันครั้งสุดท้าย ดังที่ “สงครามภารตคำกลอน” บรรยายว่า

“เอาสี่น้องและองค์พระทรงศักดิ์ ที่สุดองค์นงลักษณ์เทฺราปที

เข้าขันสู้กู้ชัยก็ไม่สม กลับล่มจมสารพัดน่าบัดสี

เสียพระน้องปองรักด้วยภักดี เสียเทวีร่วมใจอาลัยลาน”

ความรู้สึกของผู้ชมสกาพนันครั้งนี้มีหลากหลาย ‘ภีษมะ’ หรือพระภิษม์พระญาติผู้ใหญ่ โทฺรณะพระอาจารย์ และมหาอำมาตย์วิทูรต่างตื่นตระหนกสลดใจ ในขณะที่ฝ่ายเการพกระหยิ่มยิ้มเยาะการพ่ายแพ้หมดทางสู้ของยุธิษฐิระ หรือยุธิษเฐียร

“ฝ่ายพระกรรณยิ้มละไมด้วยใจพาล กับกุมารทุศศาสน์ราชกนิษฐ์

แห่งองค์พระทุรโยธน์ปราโมทย์นัก ต่างพยักเย้ยเยาะด้วยเหมาะจิต

พระทุรโยธน์ชื่นชมด้วยสมคิด ประกาศิตสั่งวิทูรพูลฤดี

ไปนำนางกฤษณามาในห้อง ข้าอยากมองดูหน้านางทาสี

ซึ่งเดิมเด่นเป็นมหาราชินี ยังจะมีหยิ่งยศหรือลดลง”

ความลำพองแกมสะใจของทุรโยธน์ฉายชัดผ่านคำสั่งหยามเกียรติเจ้าหญิงผู้เป็นชายาปาณฑพทั้งห้า วิทูรทูลคัดค้านทันทีว่า การกระทำเช่นนี้จะก่อเกิดภัยใหญ่หลวง

“เหมือนยั่วปาณฑพให้ผูกใจแค้น ดังเพลิงแล่นลุกฮือกระพือไหม้

เอานางมาว่าเย้ยเห็นเลยไป เหมือนหมิ่นต่ออรทัยด้วยใจจินต์

หมิ่นอย่างยั่วโทโสให้โตเติบ จะกำเริบลามลุกไปทุกถิ่น

ตลอดเม็ดกรวดทรายรายแผ่นดิน นครอินทรปรัสถ์เป็นศัตรู”

 

“มหาภารตยุทธ” ที่ศิลปินแห่งชาติทั้งสองท่าน อาจารย์กรุณา-ศาสตราจารย์พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย แปลและเรียบเรียง ถ่ายทอดคำพูดของวิทูรอำมาตย์อาวุโสผู้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปว่า

“ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับวิธีการเช่นนี้ขององค์ทุรโยธน์กับศกุนิ ข้าพเจ้าหวั่นว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นชนวนไปสู่การนองเลือดระหว่างพี่น้องตระกูลเการพกับตระกูลปาณฑพ องค์ยุธิษฐิระไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะใช้องค์หญิงเทฺราปทีเป็นเครื่องพนันขันต่อ เพราะได้สูญเสียความเป็นไทแห่งตนเองให้แก่องค์ทุรโยธน์ไปแล้ว ก่อนที่จะมีการระบุให้องค์หญิงเทฺราปทีเป็นเดิมพันในการพนันขันต่ออันเต็มไปด้วยเล่ห์กระเท่ห์ครั้งนี้”

คำทัดทานของวิทูรขัดใจทุรโยธน์ยิ่งนัก “ด่าทอกริ้วกราดตวาดขู่ โกรธวิทูรฉุนเฉียวไม่เหลียวดู” สั่งให้ใครก็ได้ไปกุมตัวนางมาเดี๋ยวนี้

ระหว่างนั้นวิทูรตระหนักถึงหายนะที่จะเกิดตามมาในไม่ช้า กลัดกลุ้มเต็มหัวอกแต่มิอาจเอ่ยออกมาได้

“โอ้! ทุรโยธน์หยาบใหญ่น้ำใจวาง ทอดทิ้งทางธรรมสิ้นไม่ยินดี

นิยมทางทุจริตคิดสมคบ มุ่งประสบแต่อบายไม่หน่ายหนี

เมื่อหว่านพืชใดลงก็คงมี ผลตามที่หว่านไว้มิได้แปร”

ราชบุรุษเดินอาดๆ เข้าไปในห้องประทับของนางเทฺราปทีอย่างไม่เกรงใจ และทูลความตามคำสั่งของทุรโยธน์ แม้ยังไม่รู้แน่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่นางเทฺราปทีก็พยายามข่มความตกใจ

“แข็งพระทัยไต่ถามตามสงกา ทนายจ๋า! ฉันฟังดูยังแคลง

โสตฉันฟังถูกแท้แน่ละหรือ? ท่านผู้ถือเที่ยงตรงจงแถลง

หรือสามีดีฉันท่านแสดง ว่าแพ้แข่งขันสิ้นยังกินใจ

หรือทรงเสียพระสติดำริหลง เอาเมียลงเล่นสะกาว่าไฉน?

หรือหมดทรัพย์สิ้นท่าว่ากระไร โปรดบอกให้ชัดหน่อยจะคอยฟัง”

 

เหมือนฟ้าผ่าลงตรงหน้านางเทฺราปที เมื่อคนของทุรโยธน์ยืนยันว่า ยุธิษฐิระพระสวามีของนางหาได้เสียสติไม่ รู้พระองค์ดีทุกประการ

“แต่ทรงเสียทรัพย์สินสิ้นพระคลัง และเสียทั้งแดนดินถิ่นนคร

เสียพระน้องเสียองค์ผู้ทรงราชย์ เสียพระนาฏราชินีศรีสมร

แก่ท้าวไททุรโยธน์, โปรดให้จร มาตามองค์บังอรเสด็จไป”

แม้จะทุกข์โทมนัสเพียงใด นางเทฺราปทีก็คุมสติไว้อย่างมั่นคง

“ขยับองค์ทรงยืนฝืนพระทัย แถลงไขด้วยแค้นแน่นกมล

ถ้าราชาสามีของดีฉัน เอาพระองค์ลงพนันเป็นชั้นต้น

เมื่อแพ้เขาก็เป็นทาสอนาถจน ก็หลุดพ้นภูมิเก่าเป็นเจ้านาย

จึงหมดสิทธิ์จะเอาฉันพนันเขา เพราะทาสเปล่าทรัพย์สินสิ้นทั้งหลาย

ฉันยังเป็นราชินีนะ! พี่ชาย ทาสจะขายฉันได้อย่างไรกัน?”

ทันทีที่ราชบุรุษถ่ายทอดถ้อยคำของนาง ทุรโยธน์ก็ลุแก่โทสะแรงกล้า สั่งให้ ‘ทุหศาสัน’ หรือ ‘ทุศศาสน์’ น้องชายผู้ขึ้นชื่อว่ากักขฬะหยาบช้าไปนำตัวนางเทฺราปทีมาให้ได้

จะเกิดอะไรขึ้น ติดตามฉบับหน้า •

 

จ๋าจะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร