กีฬาในร่ม (3)

ญาดา อารัมภีร

หมากรุกเป็นกีฬายอดนิยมเล่นกันทั่วถึง เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่ 31 พลายงามทำเป็นออกเดินตรวจทหารตามกรมกองต่างๆ แล้วแวะเข้าไปเล่นหมากรุกที่วัดกับพระ เณร และทหารอาสา เพื่อลวงให้ขุนแผนเข้าใจว่าเพลินเล่นหมากรุก รอให้พ่อหลับค่อยทำตามความปรารถนา

“แต่พอร่วมเวลาสักยามปลาย เจ้าพลายลดเลี้ยวเที่ยวไถล

ไปถึงตรงกุฎีชีต้นไทย เห็นจุดไต้ตั้งวงเล่นหมากรุก

พวกอาสามาเล่นอยู่เป็นหมู่ ทั้งพระเถรเณรดูกันสนุก

บ้างนั่งมองบ้างเบียดเข้าเสียดซุก ฉุกละหุกเสียงสนั่นลั่นกุฎี

เจ้าพลายนิ่งนึกตรึกตรา จำจะลวงบิดาว่าอยู่นี่

จะทำเป็นเล่นหมากรุกให้คลุกคลี จนพ่อหลับจึงจะหนีไปหานาง

คิดพลางทางขึ้นบนกุฎี เฮ้ยขอกูเดินทีแล้วรุกผาง

อ้ายพวกไพร่ให้นายเข้านั่งกลาง ทั้งสองข้างอื้ออึงคะนึงไป”

ขุนแผนรอลูกชายอยู่นานไม่กลับมา จึงเดินไปดูเห็นเล่นหมากรุกอยู่ก็วางใจกลับไปนอน

“ฝ่ายว่าขุนแผนพ่อรอเจ้าพลาย เห็นไปหายนึกพะวงสงสัย

ย่องจากศาลาแล้วคลาไคล เห็นแสงไฟที่กุฎีรี่ไปพลัน

แต่พอใกล้ได้ยินเสียงเฮฮา ก็รู้ว่าลูกยาอยู่ที่นั่น

เห็นกำลังเล่นหมากรุกสนุกครัน ก็หันกลับคืนมาศาลาลัย”

หมากรุกกีฬายอดนิยมจึงเป็นตัวช่วยสำคัญให้พลายงามสบโอกาสเข้าหานางศรีมาลายามดึกในสภาพครบวงจรความหล่อ

“ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายงาม สักสองยามเห็นพอพ่อหลับใหล

จึงลุกออกจากวงลงบันได ลอบไปจัดแจงแต่งกายา

ลูบตัวทาน้ำอบตรลบฟุ้ง แป้งปรุงประเจิมเฉลิมหน้า

สีขี้ผึ้งเสกละลวยด้วยวิชา แล้วนุ่งผ้ายกไหมไปล่ปลิว

ห่มผ้าของประทานส่านสี มือขวาคว้าคลี่พัดด้ามจิ้ว

แหวนทับทิมวงใหม่เอาใส่นิ้ว ถือเช็ดหน้าผ้าริ้วแล้วคลาไคล”

 

นอกจากตัวละครในเรื่องจะนิยมเล่นหมากรุก กวียังนำหมากรุกมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของตัวละครอย่างแหลมคม

ในเสภาเรื่องเดียวกันตอนที่ 17 ขุนแผนบุกขึ้นเรือนขุนช้างกลางดึก พบภาพบาดใจของอดีตเมียรักนอนเคียงผัวใหม่ หลังจากแกล้งประจานขุนช้างจนหนำใจแล้ว ขุนแผนก็คลายมนต์สะกดนางวันทอง ทั้งคู่ต่างเหน็บแนมแกมประชด โต้คารมกันเป็นระยะๆ ขุนแผนเปรียบเรื่องของตนเองว่าเหมือนกับวรรณคดีเรื่อง “กากี”

“มันพอกันกับเรื่องนางกากี เจ้าปักษีขุนช้างพานางเหาะ

พี่เหมือนคนธรรพ์สรรจำเพาะ อย่าฉอเลาะเลยเจ้าจะคืนวัง”

พญาครุฑหรือขุนช้างพานางกากีหรือวันทองเหาะหนีขึ้นสวรรค์ ขุนแผนคือคนธรรพ์ติดตามหานาง ขุนแผนเปรียบท่าทีไร้เมตตาของนางวันทองที่ตัดขาดขุนแผนกับการเล่นหมากรุก โดยตัดพ้อนางว่า

“มาหาเห็นหน้าเหมือนชิงชัง ยังจะซ้ำปลุกชู้ให้ลองฤทธิ์

ชิจิตชะใจวันทองเอ๋ย กระไรเลยตัดได้ไปเป็นปลิด

ขาดเม็ดเด็ดเรือไม่เผื่อคิด ม้าลาเล็ดลิดอยู่อลวน

จากเบี้ยเสียสองเพราะต้องคาด ฟันฟาดเบี้ยหงายกระจายป่น

ม้าก้าวยาวเรือก็เหลือทน เมื่อพี่จนแล้วจะไล่แต่รายโคน”

ที่เอาหมากรุกมาเปรียบน่าจะแสดงว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนิยมเล่นหมากรุกกันมาก อาจารย์ศุภร บุนนาค อธิบายไว้ในหนังสือสมบัติกวี “ขุนช้างขุนแผน” ว่า

“ที่กล่าวข้างบนนี้แปลว่าขุนแผนนั้นอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบเต็มที การจัดกระบวนหมากรุกนั้นดังนี้ เบี้ยแปดเม็ดซึ่งเปรียบเหมือนทหารเลวอยู่หน้า แถวสองมีเรือ ม้า เม็ด โคน ขุน แล้วก็เม็ด ม้า เรือ เป็นข้างละสิบหก ม้ากับเรือเป็นตัวเดินก้าวได้ไกล ข้ามตาไปกินซ้อนหลายตัวได้ กินอย่างนี้แหละที่เรียกว่า ‘คาด’ ส่วนเม็ดกับโคนนั้นอยู่ติดกับขุนซึ่งเปรียบเหมือนจอมทัพ”

กาญจนาคพันธุ์ และนายตำรา ณ เมืองใต้ อธิบายการเปรียบเทียบในตัวอย่างข้างต้นไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน” ดังนี้

“สำหรับตรงนี้เป็นคำขุนแผนอุปมาน้ำใจวันทองที่ไม่ปรานีตัวบ้างเลย เหมือนหมากรุกที่ตนเดินพลาดพลั้ง ไม่ทันเห็นว่าเรือลอยโดยไม่ได้เอาเม็ดผูกไว้ วันทองก็กินเรือทันที ไม่เตือนไม่บอกให้รู้ตัวเสียก่อน เมื่อเดินหมากขาด เสียเรือก็เลยเสียม้า ถูกรุกคาดเสียสอง โดนหงายเบี้ยแหย่เข้าให้อีก เลยอลเวงทั้งกระดานคุมกันไม่ติด ซ้ำม้าย่างเข้าไปอีกที ยาวเรือไปกดไว้ก็เลยจน แปลว่าวันทองได้ทีแล้วก็ซ้ำเติมเอาไม่ให้ตั้งตัวได้ เลยต้องแพ้”

จะเห็นได้ว่า ขุนแผนถูกนางวันทองกินเรือ กินเม็ด กินม้า กินเบี้ยสองต่อ ซ้ำร้ายคือหงายเบี้ย เอาม้าย่างยาวไปกดเรือไว้ ทำให้ขุนแผนจน เดินตาไม่ได้แล้วยังจะไล่กินโคนเสียอีก ขุนแผนยอมจนด้วยหมากโคนเนื่องจากการไล่ด้วยเม็ดหรือเบี้ยนั้นต่ำศักดิ์เกินไป ในเชิงหมากรุกการถูกรุกด้วยโคนไม่ถือว่าแพ้ยับเยินเหมือนถูกเบี้ยรุก

หมากรุกฉบับนี้ แค่หอมปากหอมคอ

ติดตามฉบับหน้า •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร