เมื่อ ‘วัลยา วิวัฒน์ศร’ เขียนถึง “ปีศาจ”

เมื่อเขียนชื่อนวนิยายเรื่องนี้ ก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเขียนชื่อผู้ประพันธ์ เพราะเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในแวดวงวรรณกรรม

หรือเมื่อเอ่ยชื่อผู้ประพันธ์ ชื่อนวนิยายเรื่องนี้ก็จะลอยเด่นขึ้นมาทันที เพราะเป็นเรื่องที่สร้างชื่อลือนามเรื่องหนึ่งให้แก่นักประพันธ์อมตะผู้เชิดชูสามัญชนผู้นี้

เมื่อได้อ่าน “ปีศาจ” อีกครั้งหลังจากที่ห่างมานาน ก็ได้สัมผัสถึงความละเมียดละไมของความคิด ภาษาและศิลปะการประพันธ์ยิ่งกว่าเดิม

กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นนวนิยายที่อ่านด้วยความรื่นรมย์

นวนิยายเรื่องนี้แต่งและตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสยามสมัยรายสัปดาห์ ระหว่างปี พ.ศ.2496-2497 ปัญหาหลักของประเทศในขณะนั้นที่ผู้ประพันธ์นำเสนอคือที่ดินทำกินของชาวนา และการคงอยู่ของความเป็นเจ้าขุนมูลนาย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2475

ปีศาจในนวนิยายเรื่องนี้เป็นปีศาจนัยบวกเชิงบวกชวนเชิญให้ชื่นชมและเห็นคล้อยตาม

ปีศาจที่จมเรือข้าวสารซึ่งเป็นเสบียงของชาวญี่ปุ่นผู้ยึดครองประเทศไทยขณะนั้น นับเป็นปีศาจเพื่อชาติ เสี่ยงภัยเสี่ยงตายและถึงตายด้วยความรักชาติ

ปีศาจซึ่งยอมอกตัญญูต่อผู้เคยมีพระคุณ เพราะบัดนี้ผู้มีพระคุณนั้นได้เปลี่ยนแนวทางชีวิตคิดเอาแต่ได้โดยไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของผู้ที่ตนได้เปรียบ ปีศาจจึงเลือกที่จะกตัญญูต่อพี่น้องชาวนาในฐานะเพื่อนร่วมสังคมร่วมชาติ

ปีศาจจากโลกธรรมดาสามัญชนซึ่งอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลาที่จะหลอกหลอนผู้คนที่อยู่ในโลกเก่า เป็นปีศาจอันเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมก้าวหน้าไปด้วยความถูกต้องเป็นธรรม

ปีศาจกตัญญูและปีศาจสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงชื่อ สาย สีมา ลูกชาวนาผู้มีโอกาสร่ำเรียนกฎหมายสอบได้เป็นทนายความชั้นหนึ่ง

เขาชื่อสายเพราะเป็นลูกคนที่สอง พ่อแม่ตั้งชื่อลูกๆ ทั้งห้าว่า เช้า สาย บ่าย เย็น และคืน ช่างเป็นชื่อที่เรียบง่าย น่าฟัง ผสานไปกับช่วงเวลาในแต่ละวันของชีวิตคนที่ทำงานอยู่กับธรรมชาติ

ผู้ประพันธ์บรรยายชีวิตชาวนาด้วยถ้อยคำอ่อนโยนนุ่มนวล ใช้วิธีการเดินเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป นำเสนอตัวละครหนุ่ม-สาวปัญญาชนสองคู่ คือ สายกับรัชนี และนิคมกับกิ่งเทียน ปัญญาชนในแง่ที่ทั้งสี่ตระหนักในภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนและต่อสังคม

กิ่งเทียนรักในความเป็นครู นิคมรักในความเป็นปลัดอำเภอ ที่จะช่วยเหลือประชาชนในลักษณะเสมอภาค เขาพูดให้กิ่งเทียนฟังว่า

“เราได้เปลี่ยนแปลงมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยยี่สิบปีแล้ว แต่ในการปฏิบัติของเรายังมีความคิดหลายอย่างล้าหลังกว่าสมัย เรายังมีความคิดเก่าๆ สุมเข้าไว้เต็มสมอง บางคนยังถือว่าเขาเป็นคนสูงกว่าราษฎร เป็นนายราษฎร เมื่อผมเป็นเด็กเคยตามพ่อไปอำเภอ พ่อผมเป็นชาวนาต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อยลงกับพื้นพูดกับท่านที่อำเภอ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ในปัจจุบันต้องไม่มีแล้ว เมื่อเราทุกคนเสมอภาคกัน (_ _ _) แต่ผมก็ผิดหวัง” (บทที่ 16)

รัชนีมาจากตระกูลผู้ดีเก่า แต่การเป็นคนช่างสังเกต รู้จักคิด และการศึกษาทำให้เธอผิดแผกไปจากคนใน “โลกเก่า” เธอให้คุณค่ากับความดีมากกว่าฐานะชนชั้น ผู้ประพันธ์เน้นเรื่องนี้ตั้งแต่บทแรกของนวนิยาย ย้ำอีกครั้งในบทที่ 9 ในบทสนทนาของเธอกับสาย

และในบทที่ 23 ทั้งสองได้พูดถึงความหมายของคำว่า “ความดี” และการประเมินคุณค่า เมื่อรัชนีคิดว่าคนเราเป็นเพื่อนกันได้ถ้าคำนึงถึงแต่ความดีของเขา

สายมีความเห็นว่า “แต่ความดีมันไม่ใช่ของที่เป็นอิสระในตัวของมันเองนะครับ เราจะพิจารณาความดีเฉพาะแค่คำของมันนั้นไม่ได้ เราจะพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อเอามาประกอบกับคน สัตว์ หรือสรรพสิ่งต่างๆ เท่านั้น และความหมายของมันจะไม่มีวันคงที่ได้เลย (…) คนดีตามความหมายของคนทั่วไปย่อมอย่างหนึ่ง แต่คนดีตามความหมายของโจรย่อมอีกอย่างหนึ่ง”

“(…) เราจะรู้ว่าอะไรเป็นความดีจริงหรือไม่ ก็โดยพิจารณาว่ามันเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เขารับนับถือหรือรับรองหรือไม่ ทั้งนี้เราเอาคนส่วนใหญ่เป็นมาตรฐาน ความดีตามความหมายของคนส่วนใหญ่ที่ไปรับรองนั้นคือความดีที่ถูกต้อง”

ในบทที่ 24 เมื่อรัชนีมาตรึกตรองอีกครั้ง เธอก็เห็นด้วยกับสายว่า “ความดีไม่ใช่ของทั่วไป แต่จำกัดและมีความหมายแตกต่างกันสำหรับบุคคลที่ต่างกัน ความดีในทรรศนะของหล่อนกับความดีในทรรศนะของคุณพ่อคุณแม่ก็มีความแตกต่างและไม่ลงรอยกัน”

และนี่คงเป็นแรงกระตุ้นให้รัชนีตัดสินใจออกจากบ้านในตอนจบของเรื่อง

ความเป็นปีศาจสัญลักษณ์ของสายปรากฏชัดในฉากที่อลังการที่สุดของเรื่องในสองบทสุดท้าย เจ้าคุณบิดาของรัชนีจัดงานเลี้ยงเชิญลูกหลานญาติพี่น้องและให้รัชนีบอกสายให้มาร่วมงาน

ผู้ประพันธ์บรรยายว่าแขกสูงวัยรวมทั้งเจ้าภาพนุ่งผ้าม่วง แขกรุ่นหนุ่มสวมชุดราตรีสโมสร (ซึ่งโดยปกติมักจะเป็นสีเข้มหรือสีดำ – ผู้เขียนบทความ) สายแต่งสากลสีขาวธรรมดา ผู้ประพันธ์มิได้กล่าวถึงเครื่องแต่งกายฝ่ายหญิงนอกจากรัชนีว่าเธอสวมชุดสีส้ม แต่พูดถึงเครื่องประดับสูงค่าของสตรีสูงวัยขณะขยับนิ้วมือ

ขอให้นึกภาพโต๊ะอาหารขนาดยาวสำหรับแขก 16 คน เจ้าภาพนั่งกลางตามความยาวของโต๊ะ สายนั่งอยู่ปลายสุดด้านซ้ายท้ายโต๊ะ ซึ่งเป็นที่นั่งของผู้ที่มีความสำคัญน้อยที่สุด

เมื่อการกินอาหารสิ้นสุดถึงเวลาผลไม้ เจ้าคุณผู้เป็นเจ้าภาพก็เริ่มบริภาษแขกซึ่งตนเองเชิญมา

เมื่อเจ้าภาพกล่าวคำประณามหยามเหยียดจบโดยมีญาติๆ และลูกเขยเป็นลูกขุนพลอยพยัก สายซึ่งนั่งอยู่ก็ลุกขึ้นยืนตอบโต้ ทุกๆ คนที่โต๊ะอาหารอยู่ในท่านั่ง เมื่อสายยืนขึ้นเขาก็อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าขณะป้องกันศักดิ์ศรีของตนเอง

และเครื่องแต่งกายของเขานั้นสีขาวอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ ผู้อ่านจึงเห็นภาพหงส์ในฝูงกา มากกว่ากาในฝูงหงส์ดังที่เจ้าภาพบริภาษไว้

“ผมมีความภูมิใจสูงสุดวันนี้เองที่เกิดมาเป็นลูกชาวนา”

“(…) ท่านเข้าใจผิดที่คิดว่าผมจะลอกคราบตัวเองขึ้นเป็นผู้ดี เพราะนับเป็นการถอยหลังกลับ เวลาได้ล่วงไปมากแล้ว ระหว่างโลกของท่านกับโลกของผมมันก็ห่างกันมากมายออกไปทุกที ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนนี้วันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิส หรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก…โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”

สายเดินออกจากสถานที่แห่ง “โลกเก่า” โดยไม่ลืมมารยาทสุภาพบุรุษ “เขาก้มศีรษะลงเล็กน้อยเมื่อพูดจบ”

เมื่อเดินกลับถึงที่พัก สายได้พบรัชนีคอยอยู่ เธอตัดสินใจ “ที่จะออกมาสู่โลกและชีวิตใหม่” เธอจะไปอยู่อีสานกับกิ่งเทียนซึ่งจะไปสอนหนังสือที่นั่น

สายเป็นประดุจสายใย สายสัมพันธ์ที่จะสืบทอดสีมาอันเป็นเขตเป็นแดน เป็นเครื่องหมายบอกเขตโบสถ์สำหรับทำสังฆกรรม จึงอาจกล่าวได้ว่าชื่อและนามสกุลของเขาระบุความเป็นสายใยแห่งความเที่ยงธรรม

รัชนีเป็นแสงเดือนที่จะส่องไปเคียงข้าง แสงละมุนละไมงามตา

หนุ่ม-สาวปัญญาชนทั้งสี่ได้เลือกทางเดินชีวิตของตน ทางเดินที่ควรค่าแก่ความเป็นปัญญาชน เป็นประหนึ่งตัวแทนของคนรุ่นใหม่ (ในสมัยของพวกเขา) ที่จะหาหนทางแห่งความก้าวหน้าอันเที่ยงตรงและเป็นธรรมต่อเพื่อนร่วมสังคมร่วมชาติ ให้การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่ผ่านมายี่สิบปีได้พัฒนาต่อไป

ขอกราบคารวะ เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้ประพันธ์ จากใจผู้เขียนบทความ