‘อังคาร จันทาทิพย์’ กวีซีไรต์ 2 สมัย “การทำงานของผมจะเริ่มต้นใหม่เสมอ”

อังคาร จันทาทิพย์ วัย 46 ปี ชาวขอนแก่น นับเป็นกวีคนแรกของไทยที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ถึง 2 สมัย

ครั้งแรกในปี 2556 จากงานรวมกวีนิพนธ์ “หัวใจห้องที่ห้า”

และในปี 2562 ผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ระหว่างทางกลับบ้าน”

ซึ่งคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ให้ความเห็นว่าเป็นการนำเสนอมิติใหม่ของความหมายคำว่า “บ้าน” และ “การเดินทางกลับบ้าน” ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม ในระดับที่เป็นปัจเจกบุคคล และในระดับสากล

หนุ่มใหญ่รายนี้สนใจและเขียนบทกวีมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัญจาศึกษา ใน จ.ขอนแก่น

และช่วงเรียนเอกภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เป็นสมาชิกกลุ่มกวีหนุ่มหน้ารามฯ ซึ่งเป็นเบ้าหลอมที่ทำให้วิธีคิดวิธีเขียนบทกวีเข้มข้นขึ้น

จบจากรามคำแหงก็ทำงานด้านสื่อมาตลอด

ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร mars อันเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์

อังคารพูดถึงประเด็นการคว้ารางวัลกวีซีไรต์ 2 สมัย มีผลกดดันต่องานเขียนในอนาคตหรือไม่ว่า “ไม่ได้กดดันอะไร ผมไม่ได้มองเรื่องรางวัลก่อนในการเขียนงาน ปกติผมหมกมุ่นอยู่กับการเขียนบทกวีก่อน ผมทำงานตามความเชื่อว่าบทกวีที่ดีควรเป็นอย่างไร ควรจะสื่อสารประเด็นที่เราอยากจะพูดได้เต็มที่หรือเปล่า มีประเด็นความคิดที่หลากหลาย มีมุมมองที่กว้างไกลหรือไม่ มีความลุ่มลึกทางอารมณ์ในการสื่อถึงคนอ่านหรือเปล่า”

“ส่วนเรื่องรางวัลเป็นแค่ผลตอบแทนการทำงานหนัก หากเราไม่จริงจังกับการทำงาน มันก็ยากที่จะได้รับผลตอบแทนรางวัลนั้นมา”

“ผมมองว่าในงานเขียนผลงานชิ้นหนึ่ง เมื่อเขียนจบแล้วก็หมดหน้าที่ของเรา หน้าที่การประเมินเป็นของคนอ่านและคณะกรรมการ ถ้าจะมีหน้าที่ของเราต่อคือต้องย้อนกลับมามองงานว่ามีข้อเด่นข้อดีอย่างไรบ้าง หากยังมีข้อด้อยอยู่ก็นำไปปรับปรุงแก้ไข แต่ถ้ามีข้อเด่นอยู่บ้างก็สามารถหยิบไปต่อยอดได้ในงานถัดไป”

: การทำงานด้านสื่อส่งผลต่องานกวีมากน้อยแค่ไหน

ผมว่าเป็นจุดได้เปรียบพอสมควร คือการอยู่ในองค์กรสื่อ การทำนิตยสาร ทำให้ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น ได้รับรู้ข่าวสารรวดเร็ว เปิดโลกกว้างขึ้น

โดยหลังจากเสพข่าวสารก็ต้องไปคิดต่อว่ามันซ่อนเร้นเนื้อในอะไรไว้บ้าง ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับคนเขียนหนังสือ เราจะมองประเด็นความเป็นไปของโลกได้กว้างขึ้น ละเอียดขึ้น หน้าที่ของเราคือ นำไปวิเคราะห์ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นวัตถุดิบที่นำมาเป็นแนวทางการเขียนบทกวี

เขาเล่าถึงชิ้นงาน “ระหว่างทางกลับบ้าน” ว่าเริ่มจากเรื่องเล่าของครอบครัวตัวเองก่อน ภายใต้ความสูญเสีย ความโศกเศร้าและความทุกข์ที่คนในครอบครัวเสียชีวิต

ส่วนหลังฉากก็มีบริบทต่างๆ ทางสังคม ซึ่งเป็นสังคมชนบท จากนั้นขยายประเด็นออกไปสู่พื้นที่อื่น ชุมชนอื่น

อย่างเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่สงบ และผู้คนต่างวัฒนธรรมอื่นๆ รวมถึงผู้คนที่อยู่ในต่างประเทศ หรือในพื้นที่อื่นๆ ของโลก ซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นร่วมสมัยของคนในโลกออนไลน์ หรือโลกโซเชียล โดยเนื้อหาของตัวงานบทกวีเล่มหนึ่ง ต้องมีประเด็นหลากหลาย เล่าเรื่องราวของคนที่หลากหลาย กว้างไกล

มีมุมมองที่ค่อนข้างต้องลงลึก

: วางแผนเขียนผลงานชิ้นใหม่ไว้อย่างไร

จริงๆ ผมทำงานค่อนข้างช้า และอยากทำงานให้ช้ากว่านี้ด้วยซ้ำ อยากมองผู้คน มองสิ่งรอบข้าง มองสังคม มองประเด็นต่างๆ ให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้ การเขียนผลงานเล่มหนึ่งใช้เวลา 4-5 ปี สาเหตุที่ช้าเพราะอยากให้มันตกผลึก

ผมทำงานเล่มใหม่มาได้ 2-3 ปี ยังไม่เสร็จ อาจมีประเด็นที่เหลื่อมตอนอยู่ระหว่างเรื่องหัวใจห้องที่ห้า และเรื่องระหว่างทางกลับบ้าน

ผมรู้สึกว่าเหตุการณ์บางอย่างยังเกิดขึ้นซ้ำอยู่ จำเป็นต้องหยิบขึ้นมาเขียนอีกครั้ง แต่ต้องเป็นมุมมองที่ใหม่หรือกลวิธีการนำเสนอที่ใหม่กว่าเดิม

ผมเคยพูดว่าถ้าเกิดการทำซ้ำแล้วไม่เกิดมิติใหม่ ผมถือว่าเป็นความล้มเหลว การทำซ้ำต้องเกิดมิติใหม่ๆ ในตัวของบทกวีด้วย

ถัดจากนี้ไปผมคิดถึงสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าจะนำมาเขียนเป็นบทกวีได้ จะนำเรื่องราวมุมมองทางวิทยาศาสตร์มาลองผสมกับชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คน เช่น อาจเขียนถึงเซอร์ไอแซ็ก นิวตัน หรืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งชีวิตของพวกเขาน่าสนใจ

อาจหยิบประวัติมาผสมกับสูตรทางคณิตศาสตร์ หรือแนวคิดที่เป็นที่รู้จักของโลก แล้วเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตผู้คนหรือเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร เป็นเรื่องที่ผมสนใจ

แต่มันเป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความพยายามมาก

ผมพูดเสมอว่าการทำงานของผมจะเริ่มต้นใหม่เสมอ

: จำเป็นไหมที่กวีต้องมีความรู้หรือมีข้อมูลด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

อย่างน้อยต้องมีความรู้บ้าง ไม่ต้องแตกฉานสันทัดเหมือนนักวิชาการ

สมมุติปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับสังคม ชีวิตมนุษย์ กับประเทศนี้ หากไม่รู้เลยว่ามันประกอบด้วยโครงสร้างด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง เมื่อนำมาเขียนเป็นบทกวีก็จะไม่ดี เพราะมีแต่อารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ ไม่ได้เปิดมุมมองที่คนอ่าน

ผมค่อนข้างจะให้ความสำคัญเรื่องการอ่าน ผมเองไม่ได้อ่านเฉพาะหนังสือวรรณกรรม กวี แต่อ่านตำราวิชาการด้วย

ถ้าผมสนใจเรื่องไหนอยู่จะค้นหาอ่านจนรู้ ถึงแม้ไม่แตกฉานก็ตาม

ในส่วนตัวคนเขียนบทกวีทุกๆ คน เป็นครูผมได้หมดเลย โดยมองในแง่ว่าสามารถนำมาเป็นตัวอย่างได้

เช่น เขานำเสนอประเด็นได้เฉียบคม ภาษาสวยงามลงตัว เสียงไพเราะ ขณะเดียวกันบทกวีที่อ่านแล้วไม่ชอบแนวนี้ก็จะตั้งคำถามว่า ไม่ชอบเพราะอะไร มันสื่อสารกันได้ไม่ลงตัว อารมณ์มันแห้งแล้ง หรือดูฟูมฟายเยอะเกินไปหรือเปล่า หรือเขียนประเด็นซ้ำๆ นี่ก็เป็นครูให้ได้เรียนรู้

: งานบทกวีควรเสนอทางออกไว้ด้วยหรือเปล่า

ผมว่าแล้วแต่นักเขียนแต่ละคน

แม้นักเขียนชั้นนำของโลกหรือยักษ์ใหญ่วรรณกรรมของโลก บางคนก็ไม่ได้เสนอทางออกให้กับปัญหาในตัวบทวรรณกรรมของเขา

ผมว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่เราเปิดพื้นที่ให้ไปคิดต่อ

เราอาจเป็นนักเล่าเรื่อง ซึ่งไม่ควรสรุปให้คนอ่านใช้วิจารณญาณในการตัดสินเอง

อย่างไรก็ตาม ในตัวบทวรรณกรรมและบทกวีนักเขียนซุกซ่อนทางออกไว้อยู่แล้ว เพียงแค่ไม่บอกตรงๆ แล้วให้คนอ่านคิดเอง อาจตรงหรือไม่ตรงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะได้ทางออกใหม่ เป็นทางออกที่สองด้วยซ้ำ

ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

: มีคำแนะนำอย่างไรสำหรับผู้สนใจเขียนงานคุณภาพเพื่อก้าวไปสู่เส้นทางกวีซีไรต์

ผมว่าในเรื่องการเขียน การอ่าน เป็นพื้นฐานชีวิตของมนุษย์อยู่แล้ว คงพูดได้แค่ว่าคุณชอบอ่านหนังสือแบบไหน อยากเขียนงานตามที่คุณชอบ ถ้าไม่อ่านก็ไม่รู้จะเขียนอย่างไร ผมเองให้ความสำคัญในแง่ของการอ่าน ซึ่งเป็นการเปิดช่อง เปิดสายตา เปิดโสตประสาทของคนเรา แล้วจะเห็นว่ากวีแต่ละคนมีวิธีการเขียนงานกันอย่างไร

คนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจงานด้านการเขียน ต้องอ่านหนังสือมากๆ อ่านให้แตก อ่านกลอนเปล่าในยุคสมัยก่อนๆ ไล่มาเรื่อยๆ จนถึงกวีที่เก่งเรื่องกลอนเปล่า ต้องไปไล่ดูว่ามีเรื่องที่เขาเขียนอย่างไร เขาอ่านหนังสืออะไร ประเด็นที่เขานำเสนอเป็นประเด็นอะไร แต่ละเล่มของเขามีความแตกต่างกันอย่างไร

นอกจากนี้ ต้องอ่านงานวรรณคดีและอ่านบทกวีร่วมสมัยในแต่ละยุคแต่ละสมัยด้วย

ก่อนจบบทสนทนา “อังคาร” พูดถึงผลดีของการได้รับรางวัลกวีซีไรต์ว่า ทำให้คนรู้จักมากขึ้น และทำให้หนังสือขายได้เพิ่มมากขึ้น เป็นผลตอบแทน และไม่ต้องทำให้กังวลเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้หายใจได้คล่องขึ้นในเรื่องของความเป็นอยู่

เมื่อความเป็นอยู่ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายมาก จะมีเวลาในการคิดงานมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีของการได้รางวัล

เพราะถ้าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจบีบรัด อาจต้องทำงานเร็วขึ้น ขาดความรอบคอบและงานก็น่าจะไม่ดี