เมื่อ ‘วัลยา วิวัฒน์ศร’ เขียนถึง ‘พุทธศักราชอัสดงฯ’

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลซีไรต์ประกันคุณภาพ

มีการเสวนาหลายครั้งหลายหนและบทความตีพิมพ์จำนวนมากซึ่งว่าด้วยการนำเสนอครอบครัวชาวจีนครอบครัวหนึ่งที่มาตั้งรกรากในไทย ชะตาชีวิตของครอบครัวนี้ผิดแผกจากที่เคยนำเสนอมาก่อนในโลกวรรณกรรมไทย

และว่าด้วยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย จีนและโลก ซึ่งผู้ประพันธ์กล่าวถึงในฐานะฉากหลังของแต่ละเหตุการณ์ในนวนิยาย จนถึงกับมีผู้คิดว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์

ในทัศนะของผู้เขียนบทความ นวนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับตัวละคร มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาเท่านั้น

เรื่องหลักยังเป็นเรื่องของครอบครัวตระกูลตั้ง

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยังมีอีกบทบาทหนึ่งในแง่ของวรรณศิลป์ นั่นคือเป็นตัวบอกเวลาว่าเรื่องเกิดเมื่อใด

ผู้ประพันธ์ไม่ระบุ พ.ศ.ใดๆ ในนวนิยาย นับเป็นการนำเสนอมิติเวลาอีกรูปแบบหนึ่ง

ผู้อ่านคะเนได้ว่าเรื่องเกิดขึ้นเมื่อใด ย้อนอดีตยาวนานแค่ไหน หรือร่วมสมัยกับตัวละคร แม้ผู้อ่านจะไม่ทราบ พ.ศ.ชัดเจนจากนวนิยาย

ผู้ประพันธ์กระตุ้นให้ผู้อ่านคิดตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรื่อง ชื่อบทแต่ละบท ล้วนแต่ซ่อนนัยความหมายซึ่งครอบคลุมเนื้อหาของนวนิยายทั้งเรื่องและของบทแต่ละบท

เมื่อซ่อนนัยความหมายความสนุกจึงบังเกิดแก่ผู้อ่านที่จะค้นหาไปตามลายแทงขุมทรัพย์แห่งปัญญาและจินตนาการ

ไม่ว่าจะเป็นบทที่แม่ปล่อยลูกอ่อนไปตามกระแสน้ำ ผู้ประพันธ์ให้ชื่อบทว่า พุทธศักราชอัสดง

หรือบทที่ตัวละครชาย-หญิงซึ่งผู้ประพันธ์สร้างสรรค์มาให้ผู้อ่านสงสารและเห็นใจทั้งในชะตาชีวิตและทั้งการที่ทั้งสองถูกพรากรัก ตัวละครหญิงตัดสินใจไปหาเมื่อได้รู้ว่าเขาหลีกลี้ไปหลบอยู่ที่ใด ผู้ประพันธ์บรรยายบทรักและความรู้สึกของทั้งสองอย่างหวานละมุนอุ่นอิ่มชวนให้เอมใจ แต่ตั้งชื่อบทร้อนเดือดเหือดหายว่า ตะวันพันดวง

รวมทั้งชื่อบทอื่นๆ ทุกบททั้ง 34 บทที่ประกอบขึ้นเป็นนวนิยายชื่อยาวเรื่องนี้

ประเด็นที่ผู้เขียนบทความรู้สึกทึ่งผู้ประพันธ์มากที่สุดคือศิลปะการสร้างตัวละครที่ชื่อหนูดาว

หนูดาวเป็นใครหนอ

ผู้ประพันธ์เปิดเรื่องพุทธศักราชอัสดงฯ โดยให้ผู้เล่าเรื่องบรรยายความรู้สึกของหนูดาวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวขณะรถไฟแล่นผ่านบ้าน หนูดาว “อายุสิบสองแล้วและไม่เคยจากบ้านไปไหน” (หน้า 12)

หนูดาวเป็นตัวเดินเรื่อง เล่าเรื่องที่เขารับฟังจากยายศรี ลูกแท้คนที่สองของตาทวดตงกับยายทวดเสงี่ยม

ผู้ประพันธ์เรียกตัวละครชาวจีนรุ่นแรกของครอบครัวที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทยว่าตาทวด ก็เพราะนับรุ่นย้อนขึ้นไปจากหนูดาว เขาเป็นตาทวดของหนูดาว เสงี่ยมภรรยาของเขาจึงเป็นยายทวด

ผู้ประพันธ์ใจเย็นอย่างยิ่งในการบรรจงปล่อยข้อมูลเกี่ยวกับตัวละครหนูดาวทีละน้อย

“ตอนที่ยายศรียังอยู่ ดาวน่าจะอายุสี่ห้าขวบ…ไม่ก็โตกว่านั้นนิดหน่อย” (หน้า 14)

ในขณะเดียวกันหนูดาวจะพูดถึงแม่ “ข้าวของโดยเฉพาะชิ้นเล็กๆ จะพากันเคลื่อนขยับจากที่ของมันไปทีละน้อย ทำให้แม่ต้องคอยหยุดจัดกลับเข้าที่เวลาเดินผ่าน” (หน้า 11)

ภาพที่ผุดขึ้นในใจของหนูดาวบ่อยๆ คือ “รูปรางใบหน้าของแม่” (หน้า 14) ขณะมองดูตัวเขา ขณะเกิด ขณะที่แม่ถามว่า “จำแม่ได้มั้ย” (หน้า 15)

ดาวเห็นเพียง “รูปรางใบหน้าของแม่” ซึ่งก็หมายความว่าดาวไม่เคยเห็นหน้าแม่ชัด เพราะเขาเพิ่งเกิด นัยน์ตายังเห็นไม่ชัดใช่ไหม หรือเพราะสาเหตุอื่น

สำหรับผู้อ่าน นี่คือวิธีของผู้ประพันธ์ที่จะยังไม่เฉลยว่าแม่ของหนูดาวคือใคร

ดาวอยู่ในอ้อมกอดแม่ (หน้า 33) แก่งแย่งกับแมวกุหลาบดำว่าใครเป็นจุดสนใจของแม่ ว่าแม่จะรักใครมากกว่ากัน (หน้า 38-41)

อย่างไรก็ตาม ในท้ายบทที่ 3 นี้ ผู้ประพันธ์บรรยายผ่านผู้เล่าเรื่องว่ายามที่แมวกุหลาบดำมีท่าทางเหมือน “มองย้อนกลับไปในห้วงอดีตไกลแสนไกล และเป็นในเวลาแบบนั้นที่ดาวรู้สึกถึงบางอย่าง อะไรสักอย่างแสนอ่อนโยนโรยรินในอากาศ ตรงกลาง… ระหว่างเขากับแมวกุหลาบดำ” (หน้า 43)

อะไรที่ว่านั้นผู้อ่านจะค่อยๆ ซึมซับเมื่ออ่านต่อๆ ไปว่า คือความรักของแม่ที่มีต่อหนูดาวและแมวกุหลาบดำ

ผู้อ่านอ่านมาจนจบบทที่ 3 แล้วก็ยังไม่รู้ว่าแม่ของดาวเป็นใคร

เรื่องราวของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนดำเนินไป เมื่อถึงบทที่ 14 ดาวมีบทบาทของตนเอง เขาเข้าไปในห้องที่เขาเรียกว่าห้องสายฝน เพราะได้ยินเสียงฝนชัดเจนที่สุดในห้องนี้ เขาเห็นเด็กหญิงวัยรุ่นในกระจก ดาวไม่รู้สึกว่าเธอเป็นผี ที่เขาจำได้ชัดเจนคือแววตาเดียวดายของเธอ

เมื่อถึงบทที่ 19 ยายศรีบอกดาวว่า “ลุงกับแม่ของดาวเป็นเด็กเลี้ยงง่ายที่สุดในโลก น่ารัก ไม่งอแงเลย” (หน้า 219)

รถไฟแล่นผ่าน บ้านสะเทือน ยายศรีหายไปจากหนูดาว ผู้เล่าเรื่องบรรยายว่า

“และเหมือนทุกครั้งหลังจากคิดถึงยายศรี เขาจะรู้สึกเหมือนมีหลุมเวิ้งว้างผุดขึ้น ราวกับเนื้อตัวเป็นกล่องรูปเด็กอายุสิบสองซึ่งไม่มีอะไรอยู่ข้างในนอกจากความว่างเปล่า” (หน้า 219)

ผู้ประพันธ์กำลังบอกใบ้ผู้อ่านใช่หรือไม่ว่าหนูดาวไม่มีตัวตน ว่าหนูดาวเป็นความว่างเปล่า

ความเปรียบหนูดาวกับกล่องว่างเปล่ากลับมาอีกครั้งในบทที่ 23

ยายศรีหายไปอีกครั้ง “เหลือแต่ความว่างเปล่า ทิ้งดาวให้กลับไปเป็นกล่องเวิ้งว้างรูปเด็กที่มีเศษเสี้ยวทรงจำกระท่อนกระแท่นแตกหักลอยละล่องคว้างอยู่ข้างใน” (หน้า 264)

ในบทที่ 23 นี้ ดาวมีบทบาทของตนเองอีกครั้ง เขาเข้าไปในห้องสายฝน เดินผ่านกระจกเข้าไปในอีกห้องหนึ่ง เด็กหญิงวัยรุ่นคนเดิมเดินผ่านเขาไปล้มตัวลงนอนบนเตียง “นอนตะแคงคู้หนุนแขนในท่าเดียวกับที่แม่เขาชอบทำ” (หน้า 261)

ในบทที่ 28 ดาวหลงพลัดเข้าไปในทรงจำ และได้เห็นเด็กหญิงคนดังกล่าวอีกครั้งในห้องสายฝน

ดาวเป็นใคร แม่ของดาวคือใคร

จนกระทั่งถึงท้ายบทสุดท้ายของเรื่อง ผู้ประพันธ์จึงเฉลยความเป็นมาของดาว

“เหตุใดเขาจึงเป็นแค่กล่องรูปเด็กที่ไม่มีอะไรใส่เก็บข้างใน…นอกจากความว่างเปล่า เพราะเขาว่างเปล่า เพราะเขาไม่ได้เป็นใคร หรืออะไรทั้งสิ้น” (หน้า 419)

“เขาจำไม่ได้ว่าเด็กผู้หญิงคนนั้นเป็นแม่…” (หน้า 419)

“เขาอาจเป็นเด็กยังไม่ได้เกิดมาและไม่มีวันจะได้เกิด…ที่มีอยู่แต่ในความคิดคำนึงอ้างว้างของเด็กผู้หญิงซึ่งไม่มีโอกาสได้เติบโตขึ้นเป็นแม่ พอๆ กับที่อาจเป็นแค่หนึ่งในเรื่องเล่ามหัศจรรย์ของผู้หญิงใจดี…ที่ไม่มีโอกาสมีชีวิตอยู่จนผมทั้งหัวขาวโพลนกับเนื้อตัวย่นลายเหมือนกลีบพุดตาน…” (หน้า 420)

“เด็กผู้หญิงซึ่งไม่มีโอกาสได้เติบโตขึ้นเป็นแม่” เพราะเธอถูกฆ่าเสียก่อน เธอซึ่งมีดวงตาอ้างว้างเดียวดายเช่นเดียวกับบิดาแท้ของเธอ

ผู้เขียนบทความทึ่งผู้ประพันธ์ที่สร้างตัวละครจากอนาคต (ถ้าเขาได้เกิด) มาเป็นตัวเดินเรื่อง จารึกความผูกพันระหว่างเขากับแม่ซึ่งไม่เคยพบหน้ากัน ระหว่างเขากับยายผู้มียิ้มพระจันทร์และจูบผีเสื้อ เสียชีวิตไปเมื่ออายุยังไม่ถึง 50 และผู้ประพันธ์ไม่ลืมที่จะเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของเธอให้สมกับที่กลายเป็นยายของดาว

ผู้ประพันธ์สะบัดปลายปากกา (หรือพรมนิ้วลงบนคีย์บอร์ด?) เขียนโศกนาฏกรรมของครอบครัวนี้ด้วยถ้อยคำทรงพลังล่องละลิ่วพลิ้วไหวไม่สุดสิ้น ชวนถวิลถึงคำฉันท์ที่ว่า “ช่อฟ้าก็เฟื้อยกลจะฟัด ดลฟากทิฆัมพร” เป็นภาษาซึ่งช่วยบรรเทาความรู้สึกหดหู่ของผู้อ่านเมื่อต้องรับรู้ชะตาชีวิตอันโหดร้ายของตัวละครแต่ละตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตายของตัวละครซึ่งน่าสงสารเพราะถูกพรากรักและมิควรจะต้องตายนั้น ผู้ประพันธ์เขียนได้งดงามนัก (หน้า 352-353)

ตาทวดตงและยายทวดเสงี่ยมมิได้เป็นทวดเพราะหนูดาวไม่ได้เกิดมา ตาทวดตงไม่เคยรู้ว่ามีลูกชายชื่อฮงซึ่งตั้งชื่อลูกตามพ่อของตนว่าตง สืบสาแหรกวงศ์ตระกูลอยู่ที่เมืองจีน

เหมือนกับที่จงสว่างลูกบุญธรรมของตาทวดตงไม่เคยรู้ว่าตนมีลูกสาวซึ่งมี “ดวงตาอ้างว้างประดุจบิดาผู้ซึ่งไม่เคยรู้ว่าเธอมีตัวตนอยู่ในโลก” (หน้า 400)

และอีกสารพัดชะตากรรมของคนในครอบครัวตระกูลตั้งและคนอื่นๆ ในนวนิยายเรื่องนี้

วีรพร นิติประภา คุณใจร้ายจริงๆ