JBL 4309 ลำโพงมอนิเตอร์เพื่อการฟังเพลง

คงเป็นความฝังใจส่วนตัวมานานช้าของผม ที่ทุกครั้งเมื่อได้เห็นลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ ของเจบีแอลเปลือยแผงหน้า แล้วเห็นชุดตัวขับเสียงประกอบฮอร์นและเลนส์เสียง พร้อมท่ออากาศ ติดตั้งบนพื้นตู้สีน้ำเงิน โดยมีกรอบผนังตู้ประกบด้วยไม้วอลนัทสีน้ำตาลทีไร เป็นอดไม่ได้ที่จะต้องนึกเห็นภาพของ 4350 ขึ้นมา

เช่นกันกับหนนี้ที่เห็นลำโพงรุ่นปัจจุบันอยู่เบื้องหน้า แบบที่ไม่เคยสลัดภาพจำนั้นให้หลุดไปได้สักหน

เป็น JBL 4350 ที่แม้ผมจะเริ่มเดินบนถนนสายนี้มาสักปีสองปี แล้วเพิ่งจะได้เห็นและสัมผัสคุณภาพเสียงแบบชัดๆ ชนิดเต็มวัน ก็เมื่อคราวจัดงานเครื่องเสียงครั้งแรกที่โรงแรมอิมพีเรียล ถนนวิทยุ กว่าสี่สิบปีมาแล้ว

เป็นงานโชว์ที่ชื่อ Bangkok Hi-Fi Show ’81 ซึ่งนิตยสารที่ผมเป็นหัวหน้ากอง บ.ก. ได้จัดขึ้นและประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยมีผู้เข้าชมงานอย่างล้นหลาม ชนิดที่เมื่อจบงานแล้วได้พูดคุยกับคุณอดุลย์ ฮุนตระกูล จีเอ็มของโรงแรมเพื่อขอจองที่ไว้ก่อนสำหรับจัดงานปีต่อไป แล้วถูกปฎิเสธพร้อมเสียงหัวเราะกับเหตุผลที่ว่า – ผมขี้เกียจเปลี่ยนพรมทางเดินอีก

หลับตานึกภาพดูครับ ว่าต้องคนมากขนาดไหน ที่เดินไปเดินมาจนทำให้พรมล่อนหลุดเป็นขุยกระจุยกระจายไปทั่วทางเดินทั้งชั้นหนึ่งและชั้นสองของโรงแรม

และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่างานปีต่อมาเราได้หนีไปจัดกันที่โรงแรมอันไกลปืนเที่ยง (จากกลางกรุงในวลานั้น) มาก คือ รามาการ์เดนส์ โดยคุยกันว่าจะได้เป็นการคัดกรองคนมางานไปในตัว เพราะต้องรักในทางนี้กันจริงๆ ถึงยอมเดินทางไปงานที่จัดขึ้นห่างไกลขนาดนั้น

 

กลับมาที่ 4350 ภาพจำของผมกันต่อ งานโชว์เครื่องเสียงหนแรกที่ว่านั้น นอกจากมีบริษัทห้างร้านนำสินค้ามาโชว์ในห้องพักบริเวณจัดงานที่ชั้นสองแล้ว ชั้นเดียวกันนั้นมีห้องจัดเลี้ยงขนาดกลางชื่อ ‘ชมพูนุช’ อยู่ด้วย

แต่ละวันในช่วงงานห้องนี้จะถูกใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ให้คนมางานได้ชมกัน ซึ่งมีทั้งโชว์ซิสเต็ม เปิดเพลง บรรยายดนตรี สลับกันไปโดยที่ผมเป็นผู้รับผิดชอบห้องนี้ตลอดงาน

บรรดาเครื่องและลำโพงที่หมุนเวียนกันมาเปิดโชว์ในห้องนี้ เท่าที่พอจะจำได้ก็มีเครื่องเล่นแผ่นเสียง Linn LP12 ที่คุณ Ivor Teifenbrun บินตรงจากสกอตแลนด์มาแนะนำพูดคุยด้วยตัวเอง ลำโพงก็มีอย่าง Westlake the Reference, Earthquake หรือลำโพงเขย่าโลกของ Cerwin-Vega แล้วก็มี JBL 4350 นี่ละด้วย

ห้องชมพูนุชใช้จัดงานแบบสัมนาด้านหน้ามีเวทีจัดแสดง พร้อมผู้บรรยาย แล้วเรียงเก้าอี้ให้นั่งฟังแบบในโรงหนัง เว้นทางเดินกลาง ได้กว่าสิบแถว แถวละสิบที่นั่ง ทั้งห้องจุผู้คนมากกว่าร้อย และจำได้ว่าล้นทุกกิจกรรมที่มีการเปิดโชว์ซิสเต็ม แม้จะมีคนแน่นห้องและมีส่วนในการซับเสียงอย่างมาก แต่ลำโพงทุกคู่ที่มาโชว์ในห้องนี้ก็เอาอยู่ครับ รวมทั้ง 4350 ที่ได้ชื่อว่าเป็นขวัญใจมหาชนผู้เข้าชมงานหนนั้นด้วย

และเป็นลำโพงคู่หนึ่งที่ตรึงใจผมนับแต่นั้นมาจนทุกวันนี้

แรกที่เห็น JBL 4309 ให้รู้สึกแปลกตาอยู่ไม่น้อย ด้วยแม้จะรู้ตัวเลขของมิติตู้ทางด้านกายภาพอยู่ในที ก็ยังรู้สึกว่าไม่คุ้นกับความกะทัดรัดในความเป็นสตูดิโอ มอนิเตอร์ อย่างที่เห็นอยู่สักกี่มากน้อย ขณะที่อีกด้านของบางความรู้สึกกลับบอกตัวเองว่า – อืมม, น่ารักดีแฮะ

และที่ให้ความรู้สึกดีไม่เปลี่ยนแปลงก็คือความประณีต พิถีพิถัน ของงานฝีมือที่กอปรกันขึ้นมาเป็นลำโพงคู่นี้นั่นเอง เพราะยังคงเนี้ยบ เฉียบ คงเส้นคงวาดีแบบวางใจได้สไตล์เจบีแอลเหมือนเดิม

จุดประสงค์ของการออกแบบลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ ทั้งหลายนั้น เพื่อให้ผู้ทำงานในสตูดิโอหรือห้องบันทึกเสียงได้สัมผัสกับ ‘เสียงจริง’ ที่แต่ละชิ้นเครื่องดนตรีสื่อออกมา เพราะฉะนั้น มันจะต้องเป็นลำโพงที่ไม่มีบุคลิกเสียงเป็นของตัวอง ต้องให้เสียงแบบที่เรียกกันว่า Flat อย่างถึงที่สุด คือไร้การแต้มแต่งหรือปรุงเสียงให้มีบุคลิกเฉพาะตัวแบบลำโพงฟังเพลงในท้องตลาด จึงแม้ว่าลำโพงมอนิเตอร์ส่วนใหญ่จะให้น้ำเสียงออกมาถูกต้อง สมจริง และเที่ยงตรง แต่มักจะขาดเสน่ห์ในยามที่เอามาฟังเพลงเพื่อความสุนทรีย์ที่เป็นความต้องการของนักฟังส่วนใหญ่

ขณะเดียวกันความสมจริงที่ราบเรียบแบบแห้งแล้งของเสียงสไตล์ลำโพงมอนิเตอร์ กลับถูกจริตของนักเล่นบางกลุ่มเช่นกัน ที่มักหาบางแอมปลิไฟเออร์มาเสริมเสน่ห์เสียงให้กับพวกมัน

และแอมป์ส่วนใหญ่ของนักเล่นกลุ่มนี้มักจะเป็นแอมป์หลอด (Vacuum หรือ Tube Amplifier) ครับ

JBL 4309 ยังคงสไตล์เสียงแบบอะนาล็อกให้สัมผัสได้ แต่เป็นอะนาล็อกในกระแสดิจิทัลแบบร่วมสมัย ที่มีความว่องไว ให้การตอบสนองอย่างรวดเร็ว และกระฉับกระเฉงอยู่ในที เป็นน้ำเสียงที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกตื่นเต้น น่าติดตาม

เป็นน้ำเสียงที่ตรงไปตรงมาปราศจากความซับซ้อน มีความคมชัดและให้ความเที่ยงตรงสูงสไตล์ลำโพงมอนิเตอร์ชั้นดี

รวมทั้งมีไดนามิกที่น่าทึ่งมาก เบสส์เปี่ยมไปด้วยพลังอย่างน่าแปลกใจเมื่อเทียบกับขนาดตู้ (รวมทั้งเทียบกับราคาด้วยก็ได้) ทั้งยังเป็นเบสที่แน่น กระชับ และสะอาดปราศจากอาการบิดเบือน แม้จะต้องรับมือกับแรงกระแทกกระทั้นจากแรงขับสูงๆ ก็ไม่ปรากฏอาการเครียดให้รับรู้ได้แต่อย่างใด นับเป็นเบสที่สมบูรณ์อันน่าฟังยิ่งนัก

ขณะที่รายละเอียดของเสียงต่างๆ ที่ให้ออกมานั้น ก็นับได้ว่าเป็นอีกความน่าประทับใจหนึ่งของลำโพงคู่นี้ ซึ่งในมุมกลับกันก็คือหากมีความบกพร่องใดๆ เกิดขึ้นในขั้นตอนบันทึกเสียง มันก็ไม่รีรอที่จะเปิดเผยออกมาให้รับรู้ได้อย่างหมดจดเช่นเดียวกัน

เป็นลำโพงประเภทที่สมัยยุคดิจิทัลมาถึงใหม่ๆ ช่วงต้นทศวรรษที่ 80s เรียกกันว่า ‘ลำโพงขี้ฟ้อง’ นั่นแหละครับ

 

อีกความโดดเด่นของลำโพงคู่นี้ก็คือการให้บรรยากาศเสียงที่สมจริง น่าฟังมาก อย่างในแทร็ก Vaquero ซึ่งบันทึกในโบสถ์หินโบราณ เพดานสูง เสียงที่ออกมามีความก้องให้กังวานสะท้อนมากกว่าปกติ รับรู้ได้ถึงความสูงและบรรยากาศเสียงที่โอบล้อมใกล้ตัว รวมทั้งสัมผัสได้ถึงเสียงฝนที่ตกอยู่ปรอยๆ เลยออกไปไกลจากบรรยากาศเสียงที่โอบอยู่ มีความเป็นธรรมชาติที่น่าฟังยิ่งนัก

หรืออย่างในแทร็ก The Talk of the Town ที่ให้บรรยากาศเสียงในแจ๊ซคลับ ออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก รวมทั้งเสียงของเครื่องดนตรีอะคูสติกที่มีความเป็นธรรมชาติอย่างน่าฟัง เสียงเทอเนอร์ แซ็กซ์ มีความสมจริงมาก เนื้อเสียงอวบใหญ่ มีไดนามิก น้ำเสียงมีมวลอากาศ

ฟังแล้วรับรู้ได้ถึงเสียงที่เปิดกว้าง ให้รายละเอียดของตัวโน้ตในความเหมือนที่แตกต่างออกมาได้อย่างน่าฟัง อย่างเสียงของระนาดฝรั่ง (Xylophone) กับเสียงของเปียโน แยกแยะออกมาได้ดี ชัดเจน ไม่ทับซ้อน

หรืออย่างในแทร็ก Sanctus ที่บันทึกเสียงในโบสถ์ขนาดใหญ่ ที่เหมาะกับการบรรเลงและการขับร้องแบบประสานเสียง (Choir) ให้เสียงร้องและบรรยากาศเสียงในโบสถ์ออกมาได้ชัดเจนมาก มีกังวานสะท้อนของเสียงที่ยาวนานกว่าปกติ ทั้งยังให้เวทีเสียงที่มีความสมจริงสูง

ทั้งสามแทร็กที่ว่านั้นมาจากหนึ่งในอัลบั้ม ‘แผ่นเดียวเอาอยู่’ ของผมเวลาออกไปฟังนอกบ้าน เป็นชุด Test CD 5 : Dept of Image-Timbre-Dynamic ของ Opus 3 ครับ

ลองไปหาฟังกันดูครับ •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]