วิช่วลคัลเจอร์ เสนอ คุรุสภา : ตัวพิมพ์ยุคสงครามเย็น (1)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ พ.ศ.2489-2501 ไทยก้าวเข้าสู่ “ยุคพัฒนา”

อันหมายถึงยุคแห่งความเจริญทางเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม

การเมืองมีความซับซ้อนยุ่งเหยิง เช่น เกิดกรณีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8

มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยและก่อรัฐประหารกันหลายครั้ง

ยุคนี้จบลงด้วยการครองอำนาจของจอมพลสฤษดิ์-ถนอม ซึ่งดำเนินต่อมาอีกกว่าสิบปี

แต่เป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู คล้ายคำขวัญของรัฐบาลที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข”

และ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” นั่นคือ เมืองใหญ่เจริญเติบโต การค้ารุ่งเรือง

รัฐบาลได้เชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ของประเทศเข้าด้วยกันด้วยถนนและทางหลวง

และตั้งรัฐวิสาหกิจหรือกิจการสาธารณะที่รัฐเข้าทําเอง รวมทั้งการสร้างสถานที่ราชการ

เขื่อนและโรงไฟฟ้าอีกมากมาย

แม้จะถูกครอบงำด้วย “ทุนนิยมราชการ” เสรีนิยมหรือ “ทุนนิยมธนาคาร” ก็ได้เกิดขึ้นด้วย มีการตั้งธนาคารเอกชนหลายแห่งและกระตุ้นให้ธุรกิจใหม่ๆ ให้เติบโตขึ้น

ในยุคนี้ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของเอกชนเจริญขึ้น โรงพิมพ์ใหม่ๆ ซึ่งในขณะนั้นยังใช้ตัวตะกั่วและบล็อกโลหะเกิดขึ้นมากมาย ทั่วประเทศมีจำนวนนับพัน และที่อยู่ต่างจังหวัดก็มีกว่าร้อย

อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมราชการยังเป็นผู้นำและขยายตัวขึ้นมาก ตัวอย่างคือ องค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งตั้งโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ขึ้นมาที่ถนนลาดพร้าว

คุรุสภาจะทำหน้าที่เหมือน “โรงพิมพ์แห่งชาติ” เพราะพิมพ์แบบเรียนสำหรับโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาและกระจายออกไปทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ

ที่สำคัญคือนั่นเป็นยุคเริ่มต้นของสงครามเย็น

หรือช่วงเดียวกับที่ความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาหลั่งไหลเข้ามาสู่ไทยมากมาย

ทั้งในรูปของเงินทุน เทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ

ทั้งนี้ก็เพราะสงครามกำลังก่อตัวขึ้นในเวียดนาม และรัฐบาลกำลังร่วมมือกับสหรัฐในการต่อสู้กับค่ายคอมมิวนิสต์มากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวพิมพ์ใหม่ปรากฏใน L708 แผนที่มาตรฐานชุดแรกของไทย

ซึ่งเกิดจากการร่วมมือของกองทัพไทยกับ U.S. Army Map Service ของสหรัฐ และเริ่มทำราวปี พ.ศ.2501 มีลักษณะเป็นแผนที่ภูมิประเทศ (Topographic Map)

ซึ่งบอกระดับความสูงต่ำของพื้นดินและหมุดหมายทางธรรมชาติ ทำด้วยการถ่ายภาพทางอากาศ

นั่นเป็นช่วงเดียวกับที่สหรัฐทําแผนที่ในลาว เวียดนาม และกัมพูชา

ซึ่งตามมาด้วย L7011 และ L7012

แผนที่ชุดนี้มีความละเอียดสูง มี 1,161 ระวาง และใช้มาตราส่วน 1:50,000

ซึ่งทำให้บางทีก็เรียกว่าชุด “หนึ่งต่อห้าหมื่น” นอกจากเหมาะกับการทหารแล้ว ยังเอาไปใช้ในกิจการต่างๆ เช่น การพัฒนาท้องถิ่น ทำที่ดิน ทำป่าไม้ ทำเหมืองแร่ และอุทกศาสตร์

มีหลายภาษา ตัวพิมพ์ชุดนี้เป็นภาษาไทย ถูกใช้เรียงเป็นชื่อจังหวัด อำเภอ และหมู่บ้าน

รวมทั้งภูเขา แม่น้ำ ลำธาร ลักษณะเด่นคือเป็นตัวมีหัว มีเส้นที่หนาสม่ำเสมอกัน

เส้นนอนด้านบนโค้งมน แต่ด้านล่างตรง

แต่ในการทําครั้งนั้นไม่ปรากฏข้อมูลว่าใครเป็นผู้ออกแบบ

ในยุคที่การทำแผนที่ไม่ใช่กิจการของเอกชน

แต่เป็นเรื่องของทหารและหมายถึงความมั่นคงของชาติ

แผ่นกระดาษที่มีเพียงสี ลายเส้นและตัวอักษร มีฐานะเป็นเอกสารลับและไม่อนุญาตให้ใครนำไปใช้ได้ง่ายๆ

นอกจากนั้น ยังพิมพ์ด้วยระบบออฟเซ็ตและตัวพิมพ์ทำขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ ไม่มีทางหลุดไปสู่โรงพิมพ์เอกชนอย่างเด็ดขาด

ตัวพิมพ์ของ L708 จึงมีสังกัดราชการอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะสงวนไว้ใช้เฉพาะในการทำแผนที่ทหารแล้ว ตัวพิมพ์นี้ถูกใช้ในสิ่งพิมพ์อื่นด้วย ที่เห็นกันในวงกว้างคือแบบเรียนที่พิมพ์โดยโรงพิมพ์คุรุสภา

กำธร สถิรกุล ผู้อำนวยการโรงพิมพ์ในขณะนั้น ไม่ได้เรียกตัวนี้ว่าคุรุสภา แต่ใน “ลายสือไทย 700 ปี” (ฉบับปรับปรุง) บอกว่า ได้รับการคุ้มครอง เพราะเกิดจากการร่วมมือของรัฐบาลไทยกับบริษัท Shaken ของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นเข้ามาช่วยพัฒนาการพิมพ์ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ท่านไม่ได้ระบุว่าที่ไหนใช้ก่อน แต่บอกว่า กรมแผนที่ทหารบกและโรงพิมพ์คุรุสภาได้สั่งเครื่องแบบนี้เข้ามาใช้ตั้งแต่เริ่มแรก

ตัวพิมพ์ซึ่งต่อจากนี้จะเรียกว่า “คุรุสภา” เป็นแบบเย็น (cold type) เพราะไม่ได้เกิดจากการหล่อโลหะ แต่เกิดจากระบบเรียงพิมพ์ด้วยแสง (Photo-Composing Machine) ซึ่งเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพ โดยมีแม่แบบเป็นตัวอักษรบนแผ่นกระจกเนกาตีฟ ใช้ถ่ายภาพตัวอักษรทีละตัวลงบนฟิล์มหรือกระดาษไวแสง

แล้วจึงนำไปล้างและทำเป็นแม่พิมพ์ออฟเซ็ต แต่เดิมใช้เรียงหัวเรื่อง ไม่ใช่เนื้อหา

ต่อมาได้มีการปรับปรุงให้เรียงหนังสือทั้งเล่มได้ และใช้ในแบบเรียน

ผลงานของโรงพิมพ์คุรุสภาที่ใช้ตัวนี้ ทั้งที่เป็นตำราใหม่และเก่า มีมากมาย ชุดที่โด่งดังได้แก่ “แบบเรียนเร็วใหม่ ชั้นประถมศึกษา” หรือที่รู้จักกันในนาม “ใหม่ รักหมู่” และ “แบบหัดอ่านหนังสือไทย เล่มต้น ชั้นประถมศึกษา” หรือที่รู้จักกันในนาม “พ่อหลี พี่หนูหล่อ” ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ชุดหลังเป็นผลงานของ อำมาตย์โท พระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) ป.ม.

ซึ่งถูกนำกลับมาใช้เมื่อปีที่แล้วเพราะเชื่อว่าสอนภาษาไทยได้ดีกว่าชุดอื่นๆ