เริ่มต้นวันนี้ดีกว่าไม่เริ่ม คุยเรื่อง เงินๆ ทองๆ กับ “มันนี่ โค้ช”

เริ่มต้นวันนี้ดีกว่าไม่เริ่ม คุยเรื่องเงินทองกับ “มันนี่ โค้ช”

ระยะหลังๆ เรื่องการเงิน การออม และหนี้สิน เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงถี่ๆ และเป็นการพูดที่ผู้รู้ทั้งหลายวิตกกังวล

จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “หนุ่ม มันนี่ โค้ช” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ทั้งนี้ จักรพงษ์ในวัย 45 ปี บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากจะทำงานที่ใช้ความรู้ตรงสาย เขายังทำอีกหลายอย่าง ทั้งสำนักพิมพ์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ รวมถึงการเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน ซึ่งอย่างหลังนี้ทำมานานถึง 14 ปี และตลอดช่วงเวลาดังว่า เรื่องที่เขาถูกถามมากที่สุดคือเรื่อง “หนี้” นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องการลงทุน

“สัดส่วนก็ 70/30 หนี้คือ 70 ก็เป็นลักษณะการใช้ชีวิตในเมืองไทยตอนนี้ ที่เป็นหนี้กัน”

ให้รายละเอียดเพิ่มด้วยว่า หนี้เหล่านั้น มีทั้งหนี้ดี เช่น หนี้จากการซื้อบ้าน ส่วนอีกประเภท คือหนี้จากการบริโภค การรูดบัตรเครดิต กดเงินสด และสินเชื่อต่างๆ นานา

แต่กระนั้น “พูดถึงคนเป็นหนี้ เราว่าเขา 100% ว่าใช้จ่ายเกินตัวไม่ได้ครับ คนใช้จ่ายเกินตัวมีจริง แต่คนอีกส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้ เนื่องจากแบกภาระคนในครอบครัวไว้เยอะ”

ซึ่งเท่าที่เขาพบเจอ สัดส่วนน่าจะพอกันด้วยซ้ำ แตกต่างก็แต่ส่วนใหญ่พวกใช้จ่ายเกินตัวจะเป็นกลุ่มผู้เรียนจบใหม่ที่มักมีความสุขกับการบริหารเงินที่หาได้ด้วยตัวเอง

“แต่ถ้าเป็น 20 ปลายๆ หรือ 30 จะเป็นหนี้แบกภาระครอบครัวใหม่ของตัวเองที่แต่งงาน แล้วยังมีครอบครัวข้างหลัง มีพี่น้อง ที่ต้องการความช่วยเหลือ”

สําหรับคำแนะนำที่เขาให้เหล่าคนเป็นหนี้ ไม่ว่าประเภทไหนคือ “อันดับ 1 คือใจสู้ จากนั้นเอาความรู้ทางการเงินไปแก้”

“ที่ผ่านมาพวกเราไม่ได้ถูกสอนให้รู้เรื่องการเงิน ถูกสอนอย่างเดียว ให้ตั้งใจเรียน เดี๋ยวจะมีงานดีๆ ทำ ถูกสอนให้หารายได้เป็น แต่เดือนหนึ่งเราได้รายได้ครั้งเดียว วันเงินเดือนออก แต่ต้องบริหารเงินนั้นอีก 30 วัน แล้วทุกๆ ชั่วโมงมีการตัดสินใจตลอด เดี๋ยวจะกินอะไร ซื้อไอ้นี่ดีไหม เปิดโทรศัพท์ไปเจอสินค้าน่าสนใจอีก การตัดสินใจเรื่องการจับจ่าย การออม การลงทุน คืออีก 3 อย่างที่มันหายไป”

ในฐานะคนที่ครอบครัวเคยเป็นหนี้ 18 ล้านบาทจากธุรกิจล้มละลาย จึง “ต้องมองในแง่ดีก่อนว่า เขาอาจมีปมอะไรบางอย่าง ที่ต้องปรับ ต้องแก้”

อย่างไรก็ดี ทางแก้นั้น ให้บอกตรงนี้คงยาก เพราะแต่ละรายย่อมมีปัจจัยที่แตกต่าง

ส่วนตัวเขา ช่วงวิกฤตในปี พ.ศ.2540 เขาเพิ่งเรียนจบ และมีความมั่นใจว่าเด็กวิศวะเก่งคณิตศาสตร์ การเงินก็เป็นคณิตศาสตร์ จึงโดดเข้าแก้ปัญหา

แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าหลัง 7 ปีแห่งความพยายาม แต่ไม่รู้เรื่องการเงินจริง ทำให้จำนวนหนี้เพิ่มพูนอีกนับล้าน

จนเมื่อธนาคารเรียกปรับโครงสร้างหนี้บ้านนั่นแหละที่ความรู้ทางการเงินของเขาเริ่มต้นขึ้น

จากความสงสัยในสิ่งที่ธนาคารปฏิบัติ ซึ่งไม่ผิด แต่ก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ลูกหนี้อย่างเขา

จากนั้นก็ค่อยๆ หาความรู้ จนสามารถเคลียร์หนี้ที่มีในเวลา 5 ปีหลังจากนั้น แถมยังมีเงินเหลืออีกเป็นล้าน

“สิ่งที่ผมพยายามทำตอนนี้คือ ให้เรื่องการเงินเป็นความรู้พื้นฐานที่ติดตัวเด็กออกมาตั้งแต่เรียน จบออกมาก็บริหารได้”

“เราหารายได้เป็นทุกคน แต่ความรู้ทางการเงินมี 4 ด้าน หารายได้ บริหารการใช้จ่าย ออม และลงทุน ซึ่ง 2 อย่างหลังจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าบริหารการใช้จ่ายไม่เป็น ขณะเดียวกันยุคนี้ไม่ลงทุนก็ไม่ได้ เพราะฝากเงินได้ร้อยละ 50 สตางค์ การลงทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

เมื่อขอคำแนะนำเรื่องทำอย่างไรชีวิตนี้ถึงจะไม่มีปัญหาทางการเงิน เขาจัด SCB Presents Money Coach On Stage 5 “ได้เวลาอยู่ดีกินดี … ซะที!” ซึ่งเป็นทอล์กโชว์ด้านการเงินครั้งที่ 5 ของตัว ในวันที่ 3 และ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่โรงละครเอ็มเธียเตอร์ ก็ว่า ให้ตอบแบบฟันธงคงยาก เพราะแต่ละคนย่อมมีรายละเอียดแตกต่าง แต่เอาเป็นว่า โดยหลักการคือ กรณีของคนที่เริ่มต้นทำงานใหม่ ไม่มีหนี้ ถ้าให้ดีคือเก็บ 10% ของรายได้เพื่อออมและลงทุน จะเป็นในรูปของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. หุ้น LTF RMF ทองคำ ฯลฯ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งต้องย้ำว่าแต่ละอย่างที่จะลงทุนนั้น ผู้ลงทุนต้องหาความรู้ให้ถ้วนถี่ก่อน ผลจะได้ออกมาตามคาดหวัง

“แต่ถ้าทุกเดือนมีเงินเก็บไปในช่องพวกนี้ เดือนละนิดๆ ระยะยาวๆ มันก็น่าจะดี”

แน่นอนว่า ถ้ามีภาระไม่สามารถเก็บ 10% ได้ ก็ให้ปรับลดตามกำลัง อย่างไรก็ดี “เท่าที่ผมเจอคือคนที่เก็บ 20% จะประสบความสำเร็จได้เร็ว”

ขณะเดียวกันให้พยายามทำเป็นอัตโนมัติ

“เพราะมนุษย์ชอบเชื่อว่าเราคุมตัวเองได้ เอาเงินมา 100 นึง เดี๋ยวฉันจะเหลือ 10 บาทแล้วออม นั่นเป็นความหลงตัวเองอย่างหนึ่ง ผมเองก็เป็น กูรูการเงินหลายคนก็เป็น เขาจึงใช้วิธีได้เงินมาก็ตัดอัตโนมัติเลย ทีนี้การตัดครั้งแรก อย่าเพิ่งตัดเป็นเงินลงทุน ตัดเป็นเงินสำรองขนาดสัก 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน เผื่อฉุกเฉินไม่ต้องยืมใคร จากนั้นพอตะกร้านี้เต็ม ก็เริ่มโฟกัสกับการเก็บเงินเกษียณ”

เก็บตั้งแต่เริ่มทำงานนี่ละ

“เป็นความเข้าใจที่ต้องแก้ทั้งประเทศนะ คนส่วนใหญ่คิดว่าไปวางแผนใกล้ๆ เกษียณ ผมพูดเลยว่าไม่ทัน ถ้าจะใช้เงินหลังเกษียณหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน ถ้ามีอายุต่อไปอีก 20 ปี คือสองล้านสี่ เท่ากับต้องเก็บออมเยอะขึ้น และต้องไปลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อผลตอบแทนมากขึ้น”

เขายังบอกด้วยว่า ทุกวันนี้เขาได้ให้ความรู้การเงินผ่านทั้งการจัดคอร์สอบรมแบบต้องจ่ายสตางค์ กับการอาสาไปแก้หนี้ในนามมูลนิธิคนไทยฉลาดการเงิน โดยวิธีหลังนี้จะมีการประสานกับหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ โดยพาทีมไปรวมทั้งสิ้น 6 ครั้งในระยะเวลา 6 เดือน ขณะเดียวกันก็ยังให้คำแนะนำผ่านคนที่อีเมลมาถาม เท่าที่เวลาจะอำนวย

โดยในส่วนของ “การช่วย” นั้น เขาว่า “ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเรามีปัญหามาก่อนหรือเปล่า พอตัวเองพ้นผ่านก็รู้สึกว่าความรู้แบบนี้น่าจะพอมีประโยชน์กับคนอื่นบ้าง”

ถามไปว่า ด้วยคำแนะนำจากเขา ทุกคนที่เข้ามาสามารถแก้หนี้ได้ไหม กลายเป็นรายได้เลยหรือเปล่า?

“ถ้าเจอผมแล้วรอดทุกคน ผมคงไม่ต้องทำอะไรแล้ว” คือคำตอบที่มาพร้อมเสียงหัวเราะ

ก่อนแจงตามตรงว่า “ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเขานะ ผมให้ได้แค่คำปรึกษา หนี้ก้อนใหญ่ไม่ได้แก้ได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่เราทำได้คือปรับทัศนคติ”

“คนที่ไม่รอดที่ผมเจอ คือติดโน่น นี่ นั่น เหนื่อยอยู่แล้วจะให้ไปทำอะไรเพิ่ม แต่คนที่บอกอะไรไปก็ทำ แล้วต่อยอดได้เอง รอดหมด ด้วยใจสู้ แล้วบวกความรู้ทางการเงิน”

ถามไปอีกด้วยความอยากรู้ว่า แล้วตัวเขามีหนี้ไหม

“มีฮะ” เขาตอบพลางยิ้ม

“แต่เป็นหนี้การลงทุน ผมเป็นมันนี่ โค้ช แต่ไม่สอนให้ตัดบัตรเครดิต ไม่สอนให้กลัวการเป็นหนี้ จะสอนให้ควบคุมตัวเอง สอนให้มีความรู้ในระดับที่จะตัดสินใจและวางแผนกับการเงินของเขาได้”

“ซึ่งการวางแผนการเงินที่ถูกต้องที่สุดคือ 1.กำหนดแผนชีวิตที่ต้องการ ไม่ใช่เอาเงินตั้งต้นนะฮะ เอารูปแบบชีวิตตั้ง บางคนเกษียณแล้วอาจอยู่ในกรุงต่อ บางคนอาจกลับภูมิลำเนาเดิม บางคนการมีบ้านใหญ่ๆ รถดีๆ เป็นความสุข บางคนไม่ต้องการ สองคือตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับแผน”

“บางคนบอกจะมีร้อยล้าน พันล้าน บางคนบอกไม่ถึง 10 ล้านก็มีความสุข อยู่ที่แต่ละคนจริงๆ”

เริ่มต้นวันนี้ ดีกว่าไม่เริ่ม คือสิ่งที่เขาฝากไว้เป็นอย่างสุดท้าย