เรามีขีดความสามารถและพร้อมรองรับ ‘ทัวร์จีน’ จริงหรือ ?

ท่องเที่ยวสโลว์ไลฟ์ มหากาพย์ทัวร์จีนเที่ยวไทย (จบ)

ย้อนอ่าน (ตอนต้น)

กรณีเรือนำเที่ยว “ฟีนิกซ์” ประสบภัยกลางทะเลภูเก็ต ซึ่งหากจะหาเจ้าภาพควบคุมดูแล คงไม่พ้นกรมเจ้าท่า ผู้กำกับการเดินเรือในน่านน้ำไทยและพาณิชย์นาวี

แต่เมื่อฟีนิกซ์เป็นเรือท่องเที่ยว ก็ต้องชี้เป้าไปที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย ในฐานะผู้จัดระเบียบธุรกิจบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กับขยันชวนคนจีนและคนจากทั่วโลกมาเที่ยวไทย

หลังเรือฟีนิกซ์จมขณะการช่วยเหลือได้ถูกระดมสรรพกำลังกันอย่างเร่งรีบ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็เปิดเวทีแถลงข่าวทันที เพื่อบอกแนวทางการเยียวยาผู้ประสบภัยและเสียชีวิตถึงค่าประกันชีวิตที่ไทยมอบปลอบขวัญให้ เมื่อมาเที่ยวไทยแล้วบาดเจ็บและตาย!

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ปฏิบัติเหมือนทุกครั้งที่เกิดเหตุร้าย คือนำดอกไม้ไปเยี่ยมให้กำลังใจขณะพักรักษาตัว และอำนวยความสะดวกยามเดินทางกลับประเทศ

ส่วนผู้เสียชีวิตก็จะใช้สำนักงานในต่างประเทศต้นทางผู้เสียชีวิตประสานญาติที่จะเดินทางมารับร่างผู้เคราะห์ร้ายกลับไป

นี่คือการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ หลังชวนนักท่องเที่ยวจีนมาทัวร์อะเมซิ่งทะเลไทย!

ส่วนปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตรงต้นน้ำ ถามว่าได้มีการเตรียมป้องกันไว้ก่อนหน้ามากน้อยแค่ไหน?…อันนี้ตอบได้เลย ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้!

ตรงนี้ให้เปิดบันทึกการก่อตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาตั้งแต่ปี 2545 มีกรมการท่องเที่ยวเป็นหน่วยงานพัฒนาท่องเที่ยว โดยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทำงานด้านตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แล้วให้โอนงานพัฒนาทั้งหมดกับกรมการท่องเที่ยวรับไม้ต่อ

งานพัฒนาดังกล่าว ว่ากันตั้งแต่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและศักยภาพให้ ททท. พร้อมขาย แหล่งไหนเสื่อมโทรมก็ฟื้นฟูให้กลับมาใช้ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้จะต้องพัฒนาบุคลากรบริการด้านท่องเที่ยวทุกระดับ ซึ่งทั่วประเทศมีอยู่ราว 4 ล้านคน ทำงานอยู่ในโรงแรม บริษัทนำเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้า รถนำเที่ยว เรือนำเที่ยว ฯลฯ

นี่เป็นเนื้องานการพัฒนาที่ดูรัดกุมในการคิดจัดระเบียบท่องเที่ยวให้เติบโตทันกับจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้นปีละ 7-11% เป็นอย่างน้อย

แต่ในทางปฏิบัติดูช่างเลื่อนลอย ด้วยการพัฒนางานที่ว่านี้ก็ล้วนมีเจ้าภาพเป็นเสาหลักรับหน้าเสื่ออยู่แล้วทั้งนั้น เรือนำเที่ยวมีกรมเจ้าท่าดูแล รถนำเที่ยว รถตู้ รถบัส กระทั่งแท็กซี่ มีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมควบคุม

ความปลอดภัยนักท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นแม่งาน แต่ก็มีตำรวจท่องเที่ยวคอยอำนวยความสะดวก และกำลังเป็นมือปราบ 10 ทิศ ที่มีผลงานล้นจอทุกช่วงชั่วโมงข่าว!

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอันนี้น่ามอง ด้วยหลายแห่งอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย อุทยานฯ/เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ดูแล โบราณสถานเป็นสมบัติกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ สุขภาพนักท่องเที่ยวกระทรวงสาธารณสุขเป็นหมอรักษา แรงงานบริการนักท่องเที่ยวกระทรวงแรงงานควบคุม ส่วนมาตรฐานราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนดป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ

กรมการท่องเที่ยวมีกฎหมายฉบับเดียวเท่านั้นที่ทำได้ คือจัดระเบียบธุรกิจนำเที่ยวกับมัคคุเทศก์ ภายใต้ “พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์” ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2535 นอกนั้นอย่างที่บอกล้วนอยู่นอกกรอบทั้งเพ!

การคิดจะพัฒนางานท่องเที่ยว จึงดูจะคลุมเครือซับซ้อน เพราะมีทางเดียวที่จะทำได้คืออาศัยประสานความร่วมมือกับองค์กรนั้นๆ สำคัญว่าหน่วยงานนั้นๆ จะถือเป็นธุระด้วยหรือไม่?

ตรงนี้รัฐบาลถึงต้องหันมาทบทวนบทบาท หากเห็นความสำคัญงานท่องเที่ยว ที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท ไทยเที่ยวไทยอีกกว่า 1 ล้านล้านบาท ว่าสมควรหรือยังที่จะต้องเอาจริงเอาจัง ยกระดับการบูรณาการงานพัฒนาท่องเที่ยวร่วมกัน ให้เป็นวาระแห่งชาติโดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ!

อย่าลืมว่าการปล่อยให้กรมการท่องเที่ยวแบกปัญหาการจัดระเบียบรองรับกระแสนักท่องเที่ยวในทุกๆ ด้านนั้น มันเสมือนเตี้ยอุ้มค่อม อย่างเช่นปัญหาเรือฟีนิกซ์ล่ม หรือไฟเคยคลอกรถนำเที่ยว บอกได้เลย…มิชชั่นอิมพอสสิเบิล สำหรับกรมการท่องเที่ยวจะทำได้อย่างทศกัณฐ์!

มาถึงประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม ก็คือการปั๊มตลาดจีนเพื่อเพิ่มจำนวนตัวเลข โดยไม่คำนึงถึงปัญหาการกระจุกตัวที่ตามมา เช่น ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันก็ดี ที่เกาะล้านฝั่งตรงข้ามพัทยาก็ตาม และอีกหลายๆ แห่ง ทั้งสมุย เชียงใหม่ เชียงราย

ลองดูแนวทางการดำเนินงานด้านตลาดท่องเที่ยวจีนที่ ททท. กำลังทำกันอยู่ โดยใช้สำนักงานสาขา 5 แห่งในจีนคือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เฉิงตู และคุนหมิง เป็นหน้าด่านบุกตลาด ภายใต้แผนไม่เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว แต่จะเพิ่มรายได้จากค่าใช้จ่ายกับขยายวันพัก ด้วยการเจาะตลาดกลุ่มคุณภาพ มีศักยภาพในการจับจ่ายไปถึงกลุ่มไฮเอนด์…

นี่คือวิธีคิดที่นัยว่าสวยหรู ตามกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ดำเนินงาน!

แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่พ้นการซื้อสื่อโฆษณาสินค้าท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกไทย โดยไม่ทิ้งคำยืนยันถึงความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินระหว่างเที่ยวเมืองไทย

โดยขาดข้อมูลพื้นฐานความน่าเชื่อมั่น ตามแนวถนัดของนักการตลาดมืออาชีพ

นอกจากนี้ร่วมงานส่งเสริมการขายท่องเที่ยวในจีน ทำ Direct Sale เสนอขายสินค้าท่องเที่ยวแปลกใหม่ให้เอเย่นต์ทัวร์จีน ทั้งรายเล็ก-ใหญ่ที่ขายทัวร์มาไทย

ทำ Hard Sale ขายตรงสู่ผู้บริโภคแบบ Consumer Fair โชว์ศิลปวัฒนธรรมรำไทย มวยไทย โขน แนะนำอาหารไทยที่คนจีนโปรดไปให้ชิม กับนวดแผนไทยให้คนจีนทดลองนวด

เชิญเอเย่นต์ทัวร์จีนมาทดสอบสินค้าท่องเที่ยวไทย เชิญสื่อจีนระดับแนวหน้ามาเที่ยวไทยเพื่อกลับไปเผยแพร่

เปิดตลาดนัดท่องเที่ยว (Travel Mart) เชิญผู้ประกอบการสายการบิน เอเย่นต์ทัวร์ โรงแรม ธุรกิจรถและเรือเช่า สถานบันเทิง สวนสนุก จากเมืองไทย ไปเจรจาขายธุรกิจในฐานะ “ผู้ขาย (Sellers)” ให้กับ “ผู้ซื้อ (Buyers)” คือเอเย่นต์ทัวร์ที่นัยว่าขาใหญ่ของจีนมาร่วมงาน

ทั้งหมดเป็นการทำตลาดโดย ททท. เป็นแม่งาน ด้านเอกชนที่หากินอยู่กับตลาดจีน นอกจากไปร่วมงานกับรัฐแล้ว ยังจะต้องไปร่วมงานขายกับภาคองค์กรเอกชนไทย เพื่อทรงตลาดกับหาตลาดใหม่ๆ มาเติมธุรกิจ

“การคิดไปเจาะตลาดกลุ่มคุณภาพไฮเอนด์ของจีนซึ่งมีอยู่มากไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเอเย่นต์ไทย เพราะกลุ่มนี้มักรักษาคู่ค้าคนสำคัญ โดยไม่เปิดโอกาสให้ใครเข้าไปขายได้ง่ายๆ และเอเย่นต์รายใหญ่เหล่านี้บอกได้เลยว่าไม่นิยมไปร่วมงานตลาดนัดท่องเที่ยวที่จัดกันในจีน” เซลส์ไดเร็กเตอร์ไทยรายหนึ่งเผย

“ไฮเอนด์จีนนิยมเที่ยวยุโรปกับอเมริกา เคยมีมาเที่ยวไทยสองถึงสามกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน มาโดยเครื่องบินส่วนตัวลงอู่ตะเภา กำชับเอเย่นต์ไทยเลยว่า รถที่ใช้บริการทะเบียนทุกคันต้องตอง 8 เลขมงคลจีนเท่านั้น ห้องพักเอ็กซ์คลูซีฟ อาหารต้องอร่อย บริการต้องเยี่ยม…จ่ายไม่อั้น!”

นี่คือไฮเอนด์จีนตัวจริง ที่ไทยยังเจาะมาไม่ได้ตามคำกล่าวอ้างบ่อยครั้ง ทำให้พอสรุปสุด ท้ายมหากาพย์บทนี้ได้ว่า การทำตลาดจีนให้มีแต่เพิ่มกับเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนหรือรายได้นั้นดีแน่นอน เมื่อเราหวังจะโกยเงินหยวนเข้าประเทศจากประชากรจีนล้นโลก 1,400 ล้านคน

แต่ต้องถามตัวเองให้ได้ว่า ขีดความสามารถในการรองรับคลื่นคนเหล่านี้ เรามีอยู่พร้อมหรือยัง?

ตั้งแต่การพัฒนาป้องกันปัญหาเช่นที่เกิดขึ้นกับเรือฟีนิกซ์ที่ภูเก็ต

รวมถึงการเร่งพัฒนาตลาดจีนแบบเหวี่ยงแหเอาจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นตัวตั้ง ที่ทำให้เห็นว่าการทำงานช่างไร้การสอดรับกันระหว่างกรมการท่องเที่ยวและ ททท. ซึ่งเป็นหน่วยงานอยู่ในสังกัดกระทรวงเดียวกัน

คือท่องเที่ยวและกีฬา!