อภัยสาลี : ตำรับยาดีของโรงพยาบาลรัฐ รักษาโรคปอดอักเสบเรื้อรัง

ในช่วง 4-5 ปีมานี้ กระทรวงสาธารณสุขของทุกรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนให้โรงพยาบาลของรัฐจ่ายยาแผนไทยแก่คนไข้ไม่น้อยกว่า 70 ตำรับ ครอบคลุมโรคพื้นฐานไม่น้อยกว่า 20 กลุ่มอาการ

ตำรับเภสัชโรงพยาบาลทุกตำรับเชื่อถือได้ เพราะผ่านการคัดกรองอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรมแผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย

มียาดีตำรับหนึ่งซึ่งเหมาะกับการรักษาโรคในฤดูกาลฝนปนหนาวเวลานี้ ที่มีความเย็นชื้นสูงอันเป็นสมุฏฐานให้เกิดกลุ่มอาการลมกำเริบระคนกับเสมหะ

 

ถ้าเป็นไปตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ภาวะอากาศเย็นชื้นเช่นนี้จะยังคงแผ่คลุมประเทศไทยไปอย่างน้อยอีกสองเดือนเต็มๆ

ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังกลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการไอมีเสมหะ โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวม ปอดอักเสบ โรคถุงลมปอดโป่งพอง

ซึ่งถ้ารักษาไม่หายขาดตั้งแต่ต้นมือก็จะลุกลามกลายเป็นโรคทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง เช่น โรคไอเรื้อรังไปจนถึงขั้นเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มีหลายปัจจัย เช่น เกิดจากควันบุหรี่ มลพิษในอากาศ หรือกรรมพันธุ์

แต่สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือความเย็นชื้นของภูมิอากาศที่เอื้อต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทั้งที่เป็นเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ทั่วไปในอากาศ

โดยมีอาการเริ่มตั้งแต่การไอมาก มีเสมหะ หายใจลำบาก หอบเหนื่อยง่าย ต้องออกแรงหายใจมากขึ้นจนกลายเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในที่สุด (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือโรค (COPD)

กล่าวคือ เป็นกลุ่มโรคที่ก่อให้เกิดการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของหลอดลมหรือเนื้อปอดจนทำให้หลอดลมตีบแคบลง และอุดกั้นทางเดินหายใจมีผลทำให้สมรรถภาพของปอดลดลง เกิดอาการไอถี่ขึ้นมีเสมหะที่มีลักษณะเหนียวข้นขึ้นและหายใจเหนื่อยหอบ

ถ้าหากไม่รีบป้องกันรักษาให้ทันท่วงทีอาจกลายเป็นอาการเฉียบพลันเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

 

ในภาคเหนือที่มีภูมิอากาศเย็นชื้น ชาวบ้านมักเจ็บป่วยด้วยโรคปอดอักเสบกันมาก ที่โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงรายมีกรณีตัวอย่างที่ผู้อำนวยการซึ่งเป็นแพทย์แผนใหม่ได้คิดค้นนวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังด้วยการใช้ “ตำรับยาไทยอภัยสาลี” เสริมยาแผนปัจจุบัน ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจจนมีผลงานวิจัยทางวิชาการเป็นที่ยอมรับ

แต่ก่อนโรงพยาบาลรัฐมักนิยมใช้ยาสมุนไพรตัวเดียวจ่ายคนไข้เพราะผลิตง่ายต้นทุนต่ำ แต่ตามหลักเภสัชกรรมไทยนั้นยาตำรับที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายตัวย่อมมีประสิทธิผลในการรักษามากกว่า และปลอดภัยกว่ายาตัวเดียว เช่น ตำรับยาอภัยสาลี ประกอบด้วยตัวยาสมุนไพรถึง 19 ชนิด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มได้อย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ

– กลุ่มยารสร้อนช่วยกระจายเลือดลม ขับลม บำรุงโลหิต ได้แก่ สหัสคุณเทศ พริกไทยล่อน (พริกไทยขาว) รากเจตมูลเพลิงแดง ลูกกระวาน ดอกกานพลู ลูกพิลังกาสัง ลูกจันทร์ ดอกจันทน์

– กลุ่มยาระบายเสมหะ ได้แก่ หัวบุกรอ เนื้อลูกสมอไทย เนื้อลูกสมอเทศ เทียนแดง เทียนตาตั๊กแตน เทียนขาว

– กลุ่มยาบำรุงปอด แก้ไอ แก้หืดหอบ แก้ไข้ ได้แก่ แก่นจันทน์เทศ โกฐเขมา โกฐสอ และเหง้าว่านน้ำ

ตัวยาเด่นในกลุ่มยารสร้อน คือ สหัสคุณเทศ ซึ่งชื่อก็บอกแล้วว่ามีสรรพคุณนับพันประการ (สหัส แปลว่า หนึ่งพัน) โบราณว่ากลิ่นหอมรสร้อนของเปลือกต้นและใบของสหัสคุณ ช่วยแก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย แก้โลหิตในลำคอให้กระจาย และผลรสเปรี้ยวร้อนของสหัสคุณเทศยังเป็นยาระบายโลหิตเน่าเสีย

สำหรับกลุ่มยาระบายเสมหะมีสมุนไพรเด่น คือ หัวบุกรอ มีฤทธิ์กัดเสมหะอย่างแรง แก้เลือดจับเป็นก้อน

ส่วนสมุนไพรเด่นในกลุ่มยาบำรุงปอด แก้หืดหอบ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไอ และระงับไข้ คือ กลิ่นหอมรสสุขุมของแก่นจันทน์เทศช่วยบำรุงปอดแก้ไข้ โกฐเขมามีฤทธิ์ระงับอาการหืดหอบได้เหมือนยาแผนปัจจุบันอีเฟรดดริน โกฐสอแก้หลอดลมอักเสบ หืดไอ ส่วนเหง้าว่านน้ำเสริมฤทธิ์รักษาปอดและแก้หลอดลมอักเสบ

สมุนไพรตัวนี้เป็นยากลางบ้านใช้ฝนกับสุราทาหน้าอกเด็ก แก้หวัดไอ บำรุงปอดเด็กให้แข็งแรงและยังช่วยบำรุงหัวใจ

ถ้าใช้ทาท้องจะช่วยแก้ลมท้องอืดแน่นจุกเสียดได้อย่างปลอดภัยสำหรับเด็ก

สูตรตำรับยาอภัยสาลีนับเป็นสูตรสมุนไพรอัจฉริยะอีกตำรับหนึ่งของภูมิปัญญาการแพทย์แผนโบราณที่นำมารับใช้แก้ปัญหาสุขภาพผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเป็นที่ยอมรับของแพทย์แผนใหม่ด้วย ขนาดและการใช้เพียงครั้งละ 1.5-2 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนอาหาร

เวลานี้ก็ใกล้ปลายฝนต้นหนาวและก้าวเข้าสู่เหมันตฤดู ซึ่งจะหนาวเย็นกว่าทุกปี ต้องรักษาร่างกายให้อบอุ่นไว้ให้พันภัยจากโรคหนาวเย็น

ยาอภัยสาลีของโรงพยาบาลรัฐเป็นยาทางเลือกตัวหนึ่งซึ่งจะช่วยคุ้มครองสุขภาพของท่านให้ผ่านพ้นช่วงอากาศหนาวเย็นได้อย่างสุขสบาย