จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 22-28 กันยายน 2566

 

• อ่อน-แข็ง

เห็นการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย

นึกถึง 66/23 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เพราะการปรองดองเท่านั้นไทยจึงจะไปรอด

เราจะไม่มีเมื่อวานนี้

เราจะมีเพียงวันนี้เป็นที่ตั้ง

เราจะมีวันพรุ่งนี้เป็นพลัง

อนาคตจะทำให้ประเทศไทยไปรอด

คนเราอย่าทำตัวเป็นเหล็ก

เพราะเหล็กแข็งแต่ตัดขาด

ควรจะทำตัวเป็นน้ำ

เพราะน้ำถึงจะอ่อนแต่ตัดไม่ขาด

เพื่อไทยทำถูกทางแล้ว

เห็นนายเศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่แล้วคิดถึงผู้ว่าฯ กทม.

พรรคก้าวไกลแข็งเกินไป ต้องรู้จักอ่อนลงบ้าง

มีคนเก่งเยอะแต่ชั่วโมงบินยังน้อย

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

หากอ่อนแล้ว ไม่กระทบ “จุดยืน”

หลายคนคงเห็นพ้องกับ “ตะวันรอน”

แต่ยอมอ่อน เพียงเพื่อจะเป็นข้ออ้างได้ครองอำนาจนั้น

อันนี้มีคำถาม

และทำให้เพื่อไทยมีการบ้าน

ต้องพิสูจน์ตนอีกมาก-มาก

 

 

• “หม่าล่า” – เผ็ดร้อน

กระแสความนิยม “หม่าล่า” เครื่องเทศรสเผ็ดชาจากจีน

ทำให้แบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านสุกี้ ขนมขบเคี้ยว พิซซ่า ในไทย

หยิบ “หม่าล่า” มาสร้างสรรค์เป็นเมนูเสิร์ฟให้กับกลุ่มลูกค้ากันอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เป็นเมนูยอดนิยมของเหล่าหม่าล่าเลิฟเวอร์

จากการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ที่มีการพูดถึง “หม่าล่า” ระหว่าง 31 สิงหาคม-11 กันยายน 2566

พบว่า สังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียมีการพูดถึงหม่าล่ามากถึง 3,697 ข้อความ

และมี Engagement ทั้งหมดจำนวน 315,561 ครั้ง

แบ่งเป็น

Twitter มีการพูดถึง 2,691 ข้อความ มีจำนวน Engagement 4,875 ครั้ง

Facebook มีการพูดถึง 455 ข้อความ มีจำนวน Engagement 175,225 ครั้ง

Instagram มีการพูดถึง 281 ข้อความ มีจำนวน Engagement 95,804 ครั้ง

YouTube มีการพูดถึง 270 ข้อความ มีจำนวน Engagement 39,657 ครั้ง

ทำไมเมนู “หม่าล่า” ถึงเป็นที่นิยม?

หม่าล่าฟีเวอร์ในไทยเริ่มในช่วงปี 2018

โดยเมนูที่ได้รับความนิยมแรกๆ จะเป็น “หม่าล่าปิ้งย่างเสียบไม้”

ตามมาด้วยร้านหม่าล่าหม้อไฟจากประเทศจีนที่เข้ามาเปิดสาขาที่ประเทศไทย

ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

ทำให้ตลาดร้านอาหารในประเทศไทยมีเมนูที่นำหม่าล่าเข้ามาเป็นส่วนประกอบ

และมีร้านหม่าล่าหม้อไฟใหม่ๆ เข้ามาลงเล่นในตลาดอีกด้วย

ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่หม่าล่าสายพาน

มีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย โดยร้านคิดราคาเป็นไม้ ไม้ละ 5 บาท ไปจนถึง 50 บาท

จนหลายคนยอมต่อคิวรอเป็นชั่วโมงเพื่อให้ได้เข้าไปกิน

จากการรวบรวมข้อมูลในหัวข้อ “หม่าล่า” บนแพลตฟอร์ม DXT360

พบว่า บนโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่จะพูดถึง “ชาบูหม่าล่า” มากที่สุด 46%

รองลงมาเป็น “สุกี้หม่าล่า” 37%

และ “ปิ้งย่างหม่าล่า” 17%

ร้านหม่าล่าจะล้นตลาดหรือไม่?

 

จากช่วงระยะเวลาในการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา 12 วัน (31 สิงหาคม-11 กันยายน) บน Facebook YouTube Instagram และ Twitter

พบว่า มีการพูดถึงร้านหม่าล่าเปิดใหม่ เฉพาะแค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 11 ร้าน ซึ่งตกเฉลี่ยเกือบวันละ 1 ร้าน

โดยนอกจากหม่าล่าสายพานที่มาแรงแล้ว

ในปัจจุบันหลายร้านก็เริ่มเปิดให้บริการรับประทานหม่าล่าแบบบุฟเฟ่ต์

มีราคาตั้งแต่ถูกยันแพง

จากการรวบรวมร้านหม่าล่าบุฟเฟ่ต์มาทั้งหมดมากกว่า 24 ร้าน

เมื่อวิเคราะห์ราคาบุฟเฟ่ต์จะเริ่มต้นตั้งแต่ 159 บาท ถึง 599 บาท

โดยจะมีค่าเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 289 บาท

คงต้องดูกันต่อไปว่ากระแสการบริโภคหม่าล่าจะยังเป็นที่นิยมถูกปากผู้บริโภคชาวไทยไปอีกนานแค่ไหน?

เสียงของผู้บริโภค (Social Listening)

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest)

นอกจาก ซด “โจ๊ก” อย่างระมัดระวัง

อย่างที่ “ไมตรี รัตนา” ว่ามาแล้ว

หม่าล่า อันเผ็ดร้อน

ที่เกี่ยวเนื่องกับ “กระแสจีน”

ก็ควรระมัดระวังเช่นกัน

โดยเฉพาะฟรีวีซ่า ที่อาจนำรายได้มาให้เราจำนวนมาก

แต่ต้องระวังจีนเทา-จีนดำ

ที่อาจเผ็ด ร้อน ลวกปากคนไทยด้วย •