จดหมาย

• ผลพวงจาก “คนรุ่นเก่า”

คนรุ่นเก่าบางคนเขากล่าวว่า เขาได้ทำคุณกับชาติมามากเหลือเกิน เหลือกิน

เขาว่าพวกเด็กอย่างคุณที่เพิ่งจะ 18 เพิ่งจะ 20 จะไปรู้อะไร

คนรุ่นใหม่ก็รับฟังเขาไว้เถิด แล้วในส่วนที่เลว ก็อย่าไปทำเลวแบบเขาก็แล้วกัน

ส่วนไหนที่ดีของเขา ก็เลือกเอามาศึกษาปรับใช้นะ คงจะมีอยู่บ้างหรอกน่า

คนรุ่นใหม่จะต้องเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น และดีขึ้นต่อไปนะ น้องรัก

ฟังเป็น เห็นประโยชน์

เสกสรร แสงจันทร์รุ่ง

 

จะมองเป็นการปลอบใจ “คนรุ่นใหม่”

ก็คงมองได้

แต่สิ่งที่ “คนรุ่นเก่า” ทั้งในวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และองค์กรอิสระ

กระทำให้เห็นในการจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้

จะมีส่วนดีให้เลือกเอามาศึกษา หรือปรับใช้ ได้บ้างหรือไม่

เป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ๆ ที่ค้างคาใจคนรุ่นใหม่

และไม่รู้ว่า คนรุ่นใหม่จะรับได้ขนาดไหนกับสิ่งที่เกิดขึ้น

…มันจะนำพาไปสู่อะไร

ต้องช่วยกัน “ค.ควาย” เอ้ย “ค.คิด”–คิด คิด คิด

• ผลพวงแห่งความความขัดแย้ง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ

เรื่อง “ความขัดแย้งกรณีการเลือกนายกรัฐมนตรี”

กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,809 คน สำรวจระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2566

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบผลสำรวจครั้งนี้ว่า

ประชาชนมองว่ากรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคม ร้อยละ 71.73 โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งนี้คือการมุ่งแต่อำนาจจนเกินขอบเขต แย่งชิงผลประโยชน์ ร้อยละ 74.21

แนวทางการยุติความขัดแย้ง คือ ควรเคารพเสียงจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 77.39

บทเรียนจากความขัดแย้งครั้งนี้คือ ทุกคนมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันได้ แต่ควรเคารพซึ่งกันและกัน ร้อยละ 64.13

ทั้งนี้เห็นว่าการเมืองไทยหลังจากนี้ก็คงจะแย่ลง ร้อยละ 40.63

จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายกับปัญหาทางการเมือง ระบบของกฎหมายที่นำมา

ซึ่งปัญหาในการเลือกนายกรัฐมนตรี แม้จะเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว แต่กลับยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เนื่องจากการมุ่งแต่อำนาจและผลประโยชน์ การปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว. และการไม่ยอมรับเสียงของประชาชน

จึงอยากให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าวบนฐานคิดคือประโยชน์ของประชาชน

มากกว่าของตนเอง

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชลี รัตนะ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ให้ความเห็นต่อผลการสำรวจนี้ว่า

การเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการให้ความเห็นชอบต่อผู้ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีและกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อรวมสมาชิกสองสภาในการลงคะแนนรับรองผู้ที่ถูกเสนอชื่อแล้ว จะต้องได้เสียงเกินครึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา

จากประเด็นดังกล่าว ผลโพลจึงชี้ให้เห็นว่าทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคมถึง 71.73%

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงมีความหวังว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

เพียงแต่ทุกฝ่ายเคารพเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

ยอมถอยคนละก้าวร่วมกันหาแนวทางอย่างสันติ

นอกจากนี้ ผลโพลยังสะท้อนว่าประชาชนได้เรียนรู้และยอมรับว่า ทุกคนมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ เพราะเราทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน แม้จะรู้สึกว่าประชาธิปไตยของไทย ยังคงมีปัญหา แต่สังคมไทยยังอยู่ด้วยความหวัง

กลุ่มตัวอย่างจึงมองว่าการเมืองไทยจะดีขึ้นแม้มีเพียง 25.65% แต่นี่คือเชื้อไฟที่ไม่เคยดับมอด

เป็นแสงสว่างที่คนในชาติต้องช่วยกันรับไม้และส่งต่อแสงสว่างให้ลุกโชนยิ่งขึ้นสืบไป

สวนดุสิตโพล

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

นี่ก็อาจเป็นความพยายาม “มองโลกดี” จากโพล

คือ ยังมีกลุ่มตัวอย่าง 25.65% เห็นว่า การเมืองไทยจะดีขึ้น

อันสืบเนื่องจากการตั้ง “นายกฯ” คราวนี้

แต่ก็ต้องตระหนักเช่นกันว่า

กลุ่มตัวอย่างถึง 71.73% มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคม

และ 40.63% เห็นว่าการเมืองไทยหลังจากนี้ก็คงจะแย่ลง

แย่มาหลายปีและยังจะแย่ลงอีก

แม้จะพยายามมองในแง่ดีแค่ไหน

ก็วิตกถึงภาวะ “ดีแตก” ไม่ไหว •