จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2563

จดหมาย

0 ย้อนอดีต (1)

ท่านเปาบุ้นจิ้น นอกจากเคยไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ ขายผง (ซักฟอก) มาแล้ว

ยังเคยไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ ขู่ชาวบ้านร้านช่องให้ไปเลือกตั้งด้วย

ส่วนจั่นเจา ขุนพลคู่ใจ

หันไปเปิดร้าน ซัก อบ รีด ซะแหล่ว (ฮ่า)

โลเกชั่น : ป้ายโฆษณาเลือกตั้ง ที่หน้าศาลากลางเมืองแพร่ ปี 2538

และป้ายร้าน ซัก อบ รีด จั่นเจา ที่ปากซอยบ้านป่าเหว เมืองลำพูน

ตากล้อง : อีตา “ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)

 

ถ้าเป็นป้ายปี 2563

ต้องเป็นรูปเปาบุ้นจิ้น

ขู่ผู้มีอำนาจ ให้จัดเลือกตั้งท้องถิ่นเสียที

จั่นเจาจะได้เลิกจ๊อบ “ซัก อบ รีด”

ไปลุยปราบพวกซื้อเสียง

รอเลือกตั้งกันเงก

จนกระบี่ขึ้นสนิมแล้ว-(ไม่ฮา)

 

0 ย้อนอดีต (2)

เมื่อเร็วๆ นี้มีการอำลาของโรงภาพยนตร์สกาลา ที่สยามสแควร์

สยามสแควร์ “เป็นศูนย์การค้าเปิดโล่งแนวราบในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 63 ไร่ ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนพญาไท และถนนพระรามที่ 1 อยู่ในความดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” <1>

“ในช่วงปี พ.ศ.2505 ที่ดินย่านนั้นเป็นสวนผัก เป็นชุมชนแออัด คงคล้ายชุมชนแออัดคลองเตย …จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ (ไม่ทราบว่าวางเพลิงหรือไหม้เอง) ชาวบ้านจึงต้องออกจากพื้นที่ และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเจ้าของที่ดิน ก็มาช่วยกันคุมพื้นที่ไม่ให้ชาวบ้านกลับเข้ามา และในขณะนั้นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร มีแผนพัฒนาที่ดินบริเวณสยามสแควร์ให้เป็นแหล่งค้าขายเพื่อป้องกันการบุกรุกที่ดินของชุมชนแออัดที่อยู่อาศัยแต่เดิม” <2>

“ในปี พ.ศ.2507 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้มอบหมายให้บริษัท เซาท์อีสท์เอเซียก่อสร้าง (ซีคอน) พัฒนาที่ดินขนาด 63 ไร่ ขึ้นเป็นศูนย์การค้าแนวราบ พื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ สูง 3-4 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้า ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย โดยมีรองศาสตราจารย์เลิศ อุรัสยนันท์ เป็นสถาปนิก และศาสตราจารย์รชฏ กาญจนวณิชย์ เป็นวิศวกร บริษัทก่อสร้างเสร็จปี พ.ศ.2507 จำนวน 550 ห้อง มีโรงภาพยนตร์ โรงโบว์ลิ่ง มีไอซ์สเก็ตติ้ง เป็นศูนย์การค้าแนวราบที่ใหญ่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น และเพิ่มเป็น 610 ห้องในเวลาต่อมา ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สิทธิซีคอนเก็บผลประโยชน์จากผู้เช่าห้องแถว 10 ปี จากนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้เก็บผลประโยชน์ต่อ” <3>

“เดิมสยามสแควร์จะใช้ชื่อว่า ปทุมวันสแควร์ มี พล.อ.ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น สยามสแควร์ และในขณะนั้นฝั่งตรงข้ามกำลังสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเนนตัล (ปัจจุบันมีการทุบและก่อสร้างใหม่เป็นสยามพารากอน) และศูนย์การค้าที่สร้างใหม่ในบริเวณนั้น ก็ได้รับการตั้งชื่อให้สอดคล้องกัน คือ สยามเซ็นเตอร์ สำหรับโรงภาพยนตร์สกาลานั้น สถานที่ดังกล่าวเดิมจะทำเป็นไอซ์สเก็ตติ้ง แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นโรงภาพยนตร์แทน โดยมีกลุ่มเอเพ็กซ์ของพิสิษฐ์ ตันสัจจา เข้ามารับผิดชอบ ส่วนโรงโบว์ลิ่งได้กลุ่มเจริญรัชตะภาคย์ เครือโรงแรมเพรสิเด้นท์มาดำเนินการ ต่อมาในปี พ.ศ.2527 ได้มีการรื้อโรงโบว์ลิ่งออก สร้างเป็นโรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์” <4>

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า หลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 5 จำนวน 1,172 ไร่ <5> คงใช้ไม่หมด และมีพื้นที่ชายขอบ (แถวสยามสแควร์) ปล่อยร้างไว้จนกลายเป็นชุมชนแออัด

แต่โดยที่จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้เป็นอธิการบดีเป็นเวลานาน (7 กันยายน 2506 – 26 มีนาคม 2512) <6> จึงได้ “เซ็งลี้” ที่ดินแปลงนี้มาจัดหาผลประโยชน์

แต่ในสมัยนั้นเป็นยุครัฐประหาร จึงไม่อาจตรวจสอบได้ว่ามีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด แต่ก็ทำให้เกิดเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง

นี่แหละสยามสแควร์

ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

www.area.co.th

 

อ้างอิง

<1> Wikipedia. สยามสแควร์. https://bit.ly/31WbKeA

<2> ตามข้อ <1>

<3> ตามข้อ <1>

<4> ตามข้อ <1>

<5> ลงทุนแมน. ทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://www.longtunman.com/10549

<6> รายชื่ออธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://bit.ly/3gKpIEB

 

รู้ไว้ใช่ว่า

จากการอำลาสกาลา

ทำให้เราได้รื้อฟื้นความจำ

เกี่ยวกับสยามสแควร์

และ แหะ-แหะ

ยังพัวพัน นัวเนียอยู่กับ “รัฐประหาร”

อย่างที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ชี้ชวนให้เห็น